ReadyPlanet.com
dot


โปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะ 2 รูป


ท่ามกลางข่าวที่ไม่ค่อยดีมากมายในช่วงที่ผ่านมา วันนี้มีข่าวดีในวงการพระศาสนา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนา เลื่อน และแต่งตั้งสมณศักดิ์พระเถรานุเถระประจำปี 2552 จำนวน 86 รูป ที่สำคัญคือการสถาปนาสมเด็จพระราชคณะ ฝ่ายธรรมยุต 2 รูป คือ

1. พระพรหมมุนี (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารและผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองธรรมสนามหลวง และผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระวันรัต

2. พระสาสนโสภณ (อัมพร อัมพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์

ทั้งนี้ พระสงฆ์ทั้ง 86 รูป จะเข้ารับพระราชทานสถาปนาเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2552

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะเพิ่ม สืบเนื่องจากสำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการบริหารคณะสงฆ์ธรรมยุต ว่า ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ฝ่ายธรรมยุต ซึ่งว่าง 2 ตำแหน่ง แต่คณะสงฆ์ธรรมยุตเสนอ พระสาสนโสภณ(อัมพร อมฺพโร ป.ธ.6) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ขึ้นมาเพียงรูปเดียว และได้รับการสถาปนาเป็น "สมเด็จพระมหามุนีวงศ์" ไปแล้ว ดังนั้นตำแหน่งที่ว่าง 1 ตำแหน่ง สมควรมีการเสนอเพิ่มเพื่อให้เต็มจำนวนสมเด็จพระราชาคณะ

http://www.gongtham.net/web/news.php

http://www.komchadluek.net/detail/20091125/38737/%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AF%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%93%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C86%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%882%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B.html

http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXlOREkxTVRFMU1nPT0=



ผู้ตั้งกระทู้ Pallas (pallas-at-horauranian-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-25 14:11:47 IP : 61.90.143.87


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2009987)

ข่าวดีสำหรับคนไทยก็คือ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้ทรงใช้พระราชวินิจฉัยในการแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะอีก ๑ องค์ เพิ่มเติมจากที่คณะสงฆ์ธรรมยุต เสนอมา หมายความว่า พระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง สามารถทรงงานได้แล้ว

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน  

ผู้แสดงความคิดเห็น Pallas (pallas-at-horauranian-dot-com)วันที่ตอบ 2009-11-25 14:18:09 IP : 61.90.143.87


ความคิดเห็นที่ 2 (2010241)

ในฐานะเด็กวัดอารามบอยวัดราชบพิธ ก็ต้องยินดีเป็นธรรมดาน่ะคับ

ว่าในช่วงอายุผม  ทันเห็นทันเฝ้าแหน สมเด็จพระราชาคณะหลายองค์ในวัดราชบพิธ

ผมทันสมเด็จพระสังฆราช  วาสน  ตั้งแต่ท่านยังเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ทันและสนิทกับ สมเด็จพุทธปาพจนบดี ตั้งแต่ท่านยังเป็น เจ้าคุณพระพุทธพจนวราภรณ์ ทองเจือ

และสมเด็จองค์ปัจจุบันนี้  ก็เคยเห็นท่านตั้งแต่ท่านยังเป็นเจ้าคุณชั้นเทพ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ภารต...เอ๊ะ..หรือว่าเราแก่แล้ว? วันที่ตอบ 2009-11-26 08:51:40 IP : 118.172.56.185


ความคิดเห็นที่ 3 (2010319)
"ทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน" จากกระทู้นี้ทำให้เรารู้ว่า แม้จะพึ่งหายจากอาการประชวรพระองค์ยังให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธเพียงไร พวกเราก็อย่าลืมให้ความสำคัญและทำนุบำรุงศาสนาพุทธด้วยนะครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น Phoenix วันที่ตอบ 2009-11-26 10:40:45 IP : 64.255.180.129


ความคิดเห็นที่ 4 (2010373)

ขออนุญาตลงประวัติ ว่าที่สมเด็จพระวันรัต องค์ใหม่ โดยผมนำเนื้อหาจาก คอลัมน์ มงคลข่าวสด หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551 ในวาระครบ 7 รอบของท่านเจ้าคุณ

"..อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2479 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ณ บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด

โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายจันทร์และนางเหล็ย พราหมณ์พิทักษ์

ในช่วงวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด

จากนั้น ได้เข้าพิธีบรรพชา เมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2491 ณ วัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด โดยมี พระวินัยบัณฑิต เป็นพระอุปัชฌาย์

กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2499 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตโต) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตตโร) วัดคิรีวิหาร จ.ตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธัมมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังอุปสมบท ท่านได้มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง ด้วยความขยันและตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ท่านจึงสอบได้นักธรรมชั้นเอก สอบได้ประโยคเปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร

พระพรหมมุนี ได้สร้างผลงานอันทรงคุณูปการในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านสาธารณูปการ ดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างเสนาสนะวัดบวรนิเวศวิหาร ให้งดงามมั่นคงถาวร จัดหาทุนทรัพย์ถวายวัดคิรีวิหาร จัดตั้งมูลนิธิ และก่อสร้างปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ จัดหาทุนช่วยสร้างอุโบสถ กุฏิฐานุดร และศาลาอมรมงคล วัดวรดิตถาราม จ.ตราด และพระอุโบสถวัดตรีทศเทพวรวิหาร เป็นต้น

ด้านสาธารณสงเคราะห์ จัดตั้งทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ วัดตรีทศเทพฯ จัดหาทุนสมทบสร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาล และตึกภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดหาทุนสมทบสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สิงห์บุรี สร้างตึกโรงพยาบาลตราด รับอุปถัมภ์นักเรียนโรงเรียนวัดคิรีวิหาร และโรงเรียนมัธยมคีรีเวศน์รัตนูปถัมภ์ จ.ตราด แจกทุนการศึกษานักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ เป็นต้น

งานพิเศษ พ.ศ.2541 ตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค 3 (ธรรมยุต) ในจังหวัดสิงห์บุรี, อุทัยธานี, ลพบุรี และตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค 7 (ธรรมยุต) ในจังหวัดเชียงใหม่

ด้านการศึกษาสงฆ์ ท่านดำรงตำแหน่งเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักธรรม ธรรมศึกษา ชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก อีกทั้ง จัดให้มีการสอบไล่วัดผลประจำปีตามหลักสูตรนักธรรมกับธรรมศึกษา ที่มีการเปิดสอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พระพรหมมุนี กล่าวว่า อาตมาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พระภิกษุ-สามเณรที่เรียนบาลี และนักธรรม ควรจะต้องเรียนในวิชาสามัญเพิ่มเติมบ้าง เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ.2548 ที่กำหนดให้การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี ที่ได้จัดให้แก่พระภิกษุและสามเณร ได้ศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ เพราะเมื่อพระภิกษุ สามเณรสึกออกไป จะได้มีวุฒิการศึกษาติดตัวออกไปประกอบอาชีพได้ด้วย

... วิชาสามัญที่พระภิกษุ-สามเณร จะต้องมีเรียนเสริม คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคม รวมทั้ง ควรมีการแนะแนวให้แก่พระภิกษุ-สามเณรที่สนใจ พร้อมทั้งจัดหาสถานที่ที่จะให้พระภิกษุได้ไปเรียนตามรายวิชาดังกล่าวต่อไป๏ฟฝ

สำหรับตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์ ประกอบด้วย กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.), เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต), เป็นพระอุปัชฌาย์, กรรมการสนามหลวง แผนกบาลี, แม่กองธรรมสนามหลวง, กรรมการฝ่ายศาสนศึกษา ของมหาเถรสมาคม, ผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 60 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ, ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม และอื่นๆ อีกมากมาย

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรโมลี พ.ศ.2531 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสุมนต์มุนี

พ.ศ.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพกวี พ.ศ.2541 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมกวี

พ.ศ.2543 ได้รับพระราชทานสถาปนา สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมมุนี

ตลอดระยะเวลากว่า 52 พรรษา ในการครองสมณเพศ มีผลงานและคุณสมบัติต่างๆ จนเป็นที่ยกย่องเชิดชูมากมาย ทั้งในด้านการบริหารและด้านวิชาการ

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร งดงามด้วยการครองตน เปี่ยมไปด้วยเมตตาเป็นที่ยอมรับและเลื่อมใสศรัทธาแก่คนทั่วไป

ทุกวันนี้ เจ้าประคุณพระพรหมมุนี ยังมีภารกิจหน้าที่มากมายแทบล้นมือ ต้องจำวัดดึกเป็นประจำ แต่ยังมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง สามารถปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้โดยมิมีบกพร่อง เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบไป.."

เมื่อปีที่แล้ว คราวพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 15 พ.ย. 2551 พระพรหมมุนี ได้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง คาดว่าหลายท่านที่ชมการถ่ายทอดพระราชพิธีดังกล่าว คงจำท่านได้

ปัจจุบัน ท่านยังรักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต ด้วยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น Pallas (pallas-at-horauranian-dot-com)วันที่ตอบ 2009-11-26 12:10:22 IP : 61.90.143.87


ความคิดเห็นที่ 5 (2010378)

ประวัติว่าที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ค้นมาจาก http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=18520&sid=769811c455c8283f7323937d06ff2ded
อัตโนประวัติ

เมื่อครั้งที่ “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)” เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ละสังขารอย่างสงบเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ยังความเศร้าโศกสลดอาลัยแก่คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไปเป็นยิ่งนัก ครั้งนั้น “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร)” เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่มีลำดับอาวุโสสูงสุดในวัด ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส

ต่อมา ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมาด้วยความเรียบร้อย และมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการ สมควรได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) มีนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ หมู่บ้าน ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี โยมบิดา-มารดาชื่อ นายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย ปัจจุบันสิริอายุได้ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑ (เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔-๑๕ (ธรรมยุต) และกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)

ในช่วงวัยเยาว์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ ๔ ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔
การบรรพชาและการอุปสมบท

ต่อมาเข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ได้ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมด้วยความมุ่งมั่น พ.ศ. ๒๔๘๓ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ. ๒๔๘๔ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ. ๒๔๘๖ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๘๘ สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค

กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดย “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)” เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถร)
ครั้นต่อมา สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ โดยมี ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ และ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ภายหลังอุปสมบท ท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ พ.ศ. ๒๔๙๑ สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค และ พ.ศ. ๒๔๙๓ สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค

ต่อมา ท่านได้สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เป็นนักศึกษารุ่นที่ ๕ จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีพระขันติมาโล ชาวอังกฤษ เป็นสหธรรมิก พร้อมไวยาวัจกร ตามคำนิมนต์ของประธานพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้ ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น

งานด้านการศึกษา

- เป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุ-สามเณร

- เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี

- เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นต้น


๏ งานด้านสาธารณูปการ

- เป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต พระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และฉลองมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย

- เป็นประธานสร้างวัดแหล่งทองแดงพรหมสราราม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เป็นต้น


๏ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

- เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๒ ผู้นำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไปเผยแผ่ในประเทศออสเตรเลีย

- เป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
๏ งานด้านการศึกษาสงเคราะห์

- ได้มอบทุนสงเคราะห์แก่ผู้เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

- เป็นรองประธานกองทุนวัดช่วยวัดของมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ความช่วยเหลือเมื่อมีอุบัติภัย วาตภัย อุทกภัย หรือภัยแล้ง นำเงินบริจาคเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัยนั้นๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


๏ งานปกครองคณะสงฆ์

- ดำรงตำแหน่งมากมาย อาทิ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔-๑๕ (ธรรมยุต), กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.), กรรมการคณะธรรมยุต, พระอุปัชฌาย์ และกรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น


๏ ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี

พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี

พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์

พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์

พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ฝ่ายธรรมยุต ที่ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี”

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เอาใจใส่ในกิจการงานของพระอารามหลวงด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่รับภารธุระอยู่ ทุกประการล้วนต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ พร้อมทั้งความตั้งใจจริงอย่างดียิ่ง ได้ทำหน้าที่ในฐานะแห่งนักปกครองที่เอาใจใส่ดูแลความเป็นไปของวัดและคนในวัดอย่างดียิ่ง รวมทั้งท่านยังได้สร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์อย่างมากมาย

ผู้แสดงความคิดเห็น Pallas (pallas-at-horauranian-dot-com)วันที่ตอบ 2009-11-26 12:19:14 IP : 61.90.143.87


ความคิดเห็นที่ 6 (2010496)

ในฐานะทิดวัดบวรฯ ผมก็ยินดีมากที่พระอาจารย์ที่กรุณาให้ผมบวชภายใต้คณะท่าน ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นสมเด็จพระราชาคณะ

หลายปีก่อน ผมตั้งใจจะไปถวายสังฆทานที่วัดบวรนิเวศ ตอนนั้นไม่รู้จักใครในวัดเลย เดินดุ่มๆเข้าไป เห็นตึกดารากร มองเข้าไปมีพระผู้ใหญ่นั่งอยู่ เลยเข้าไปกราบขอถวายสังฆทาน พอท่านรับสังฆทานเสร็จก็ชวนคุย และเมตตาบอกให้ผมมาบวชกับท่าน ทั้งๆที่ตอนนั้นผมยังไม่คิดจะบวชเลย วันนั้นท่านให้พระเครื่องมาองค์หนึ่ง ตลับพระเขียนว่า พระธรรมกวี (จุนท์ พฺรหมคุตฺโต) จึงทราบชื่อของท่าน อีกปีสองปีต่อมา ผมตั้งใจจะบวชตลอดพรรษา จึงคิดบวชที่วัดบวรฯ และมีรุ่นพี่แนะนำว่า คณะขาบบวรมีพระอาจารย์ท่านหนึ่งจบวิศวฯจุฬาฯ (ปัจจุบันคือ พระมหานายก) ถ้าเราไปบวชคณะนี้ น่าจะได้อะไรมากกว่าบวชที่อื่น เพราะพูดจาภาษาเดียวกัน จึงกลายเป็นเรื่องบังเอิญที่ลงตัว เพราะคณะขาบบวรนั้นอยู่ภายใต้ปกครองของท่านเจ้าคุณพรหมมุนี (ตอนนั้นท่านได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้งจากพระธรรมกวี เป็นพระพรหมมุนีแล้ว) ด้วย เป็นบุญของผมที่ได้บวชเรียนภายใต้การอบรมสั่งสอนจากท่านเจ้าคุณทั้งสองท่าน

ท่านเจ้าคุณเป็นคนจังหวัดตราด ท่านได้อุปถัมภ์วัดคีรีวิหารที่ท่านบรรพชามาโดยตลอด ที่นั่นท่านได้สร้างวิหารพระพุทธอุดมสมบูรณ์ เป็นวิหารแบบจีน ข้างในประดิษฐานพระพุทธรูปที่ตั้งชื่อว่า พระพุทธอุดมสมบูรณ์ หรือบางคนก็เรียกว่า พระปุ้มปุ้ย (ท่านที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องพระเครื่อง จะทราบว่า ท่านเจ้าคุณมักจะสร้างพระเครื่องในรูปแบบ พระพุทธอุดมสมบูรณ์ ครับ) ผมเคยติดตามท่านไปทอดกฐินครั้งหนึ่งและถ่ายรูปเก็บไว้ จึงขอนำมาลงไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ผู้แสดงความคิดเห็น Pallas (pallas-at-horauranian-dot-com)วันที่ตอบ 2009-11-26 16:35:04 IP : 61.90.143.87


ความคิดเห็นที่ 7 (4022932)
Kngelwdoe wants to be free, just like these articles!
ผู้แสดงความคิดเห็น pBBlKZFO (jo5wuynmeku-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2016-06-09 12:32:21 IP : 188.143.232.27


ความคิดเห็นที่ 8 (4024113)
It"s good to get a fresh way of lonokig at it.
ผู้แสดงความคิดเห็น yVIg045kUJ (miftmcyflv-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2016-06-09 16:56:29 IP : 188.143.234.155


ความคิดเห็นที่ 9 (4032408)
http://newyearsinnewhaven.com/deducting-medical-insurance-premiums-on-tax-return.html http://kidshealthyhearts.net/car-insurance-for-half-a-year.html
ผู้แสดงความคิดเห็น DCbIKevoV20 (2wxvpjsj-at-mail-dot-com)วันที่ตอบ 2016-06-20 10:17:39 IP : 188.143.232.27


ความคิดเห็นที่ 10 (4036360)
http://saltycontent.com/best-military-car-insurance.html http://thecjsworld.com/the-auto-insurance-burlington-nc.html
ผู้แสดงความคิดเห็น zrVERgTpaW (msq34t73-at-mail-dot-com)วันที่ตอบ 2016-06-25 06:24:36 IP : 188.143.232.27



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.