ReadyPlanet.com
dot


แม้จะช้าไปนิดแต่ขออาลัยต่อการจากไปของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะฯ


จริงๆผมทราบข่าวการมรณภาพของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา แต่ค่อนข้างยุ่งๆกับเรื่องงานจนไม่ได้โพสต์กระทู้จนกระทั่งวันนี้

ตั้งแต่ต้นปี 2554 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้สูญเสียพระเถระสำคัญไปแล้วถึง 3 องค์ นับตั้งแต่ พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว ที่มรณภาพเมื่อ 30 ม.ค. ตามมาด้วยการมรณภาพด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ของ พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามเมื่อ 19 ก.พ. และล่าสุดการมรณภาพของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) เมื่อ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา

ผมเองสมัยบวชเรียนอยู่วัดบวรนิเวศ เคยมีโอกาสได้พบสมเด็จพระมหาธีราจารย์อยู่หลายครั้ง เพราะท่านได้มาร่วมงานพิธีสำคัญต่างๆของวัดบวรฯอยู่บ่อยๆ รวมถึงเวลามีพิธีพุทธาภิเษก ท่านเจ้าประคุณมักจะได้รับเชิญมาเป็นผู้จุดเทียนพิธีอยู่เสมอ ประทับใจในบุคลิกของท่านที่ดูทะมัดทะแมง ตรงไปตรงมา และพอจะพูดได้ว่าค่อนข้างดุทีเดียว

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะฯ นั้นท่านเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสรองจากสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จเกี่ยวเท่านั้น จึงถือว่าการสูญเสียครั้งนี้เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของคณะสงฆ์ไทยเลยทีเดียว

สำหรับประวัติโดยย่อของท่าน มีดังนี้

Somdej Phramahateerajan 

๏ อัตโนประวัติ

พระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) กรรมการมหาเถรสมาคม, เจ้าคณะใหญ่หนกลาง และเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ แม้จะดูเป็นพระมหาเถระที่เคร่งขรึม พูดจาตรงไปตรงมา แต่ด้วยวัตรปฏิบัติอันงดงามของท่าน มิเคยสักครั้งที่จะทำให้ศรัทธาสาธุชนถดถอยลง ยิ่งเมื่อได้สนทนาใกล้ชิดแล้ว จะได้รับรู้และสัมผัสถึงความเมตตา ต่างประทับใจในวัตรปฏิบัติแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ทุกคนที่ได้เคารพกราบไหว้

พระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ มีนามเดิมว่า นิยม จันทนินทร เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2466 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 3 ปีกุน ณ บ้านท่าหิน ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา โยมบิดาชื่อ นายโหร่ง จันทนินทร โยมมารดาชื่อ นางฮิ่ม จันทนินทร


๏ การศึกษาเบื้องต้น

เมื่ออายุได้ 7 ขวบ เรียนหนังสือวัด ประถม ก กา และมูลบทบรรพกิจ ในสำนักเจ้าอธิการอุ่น วัดหันตรา ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จนจบชั้นประถมปีที่ 4

อายุ 13 ปี โยมบิดาได้นำไปฝากเรียนนักธรรมบาลี ณ สำนักเรียนวัดตองปุ ต.บ้านเกาะ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

ต่อมา อายุได้ 14 ปี โยมบิดาได้นำไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดกระสังข์ ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2479 โดยมีพระเทพวงศาจารย์ (ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูโบราณคณิสสร) วัดตองปุ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์

ครั้นอายุครบ 22 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดพระญาติการาม ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2487 โดยมีพระเทพวงศาจารย์ (ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระโบราณคณิสสร) วัดพนัญเชิง ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสาธุกิจการี (ขม) วัดประดู่ทรงธรรม ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูอุทัยคณารักษ์ (ใหญ่ ติณณสุวัณโณ) วัดสะแก ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ฐานิสฺสโร” มีความหมายว่า “ผู้มีฐานะอันยิ่งใหญ่”

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระมหาเถระที่ใฝ่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอย่างยิ่งยวด เมื่อปี พ.ศ.2486 สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก ในสำนักเรียนวัดราชบุรณะ และปี พ.ศ.2498 จบเปรียญธรรม 9 ประโยค ในสำนักเรียนวัดสระเกศฯ ถือเป็นสหายธรรมศิษย์รุ่นพี่รุ่นน้องกับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศฯ กรุงเทพฯ และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.2490 เป็นกรรมการตรวจข้อสอบนักธรรม-บาลีสนามหลวง

พ.ศ.2500-2502 เป็นครูสอนนักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดสามพระยา

พ.ศ.2508 เป็นเจ้าคณะภาค 13, เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม และพระอุปัชฌาย์วิสามัญ

พ.ศ.2509 เป็นเจ้าสำนักเรียนพระปริยัติธรรมวัดชนะสงคราม

พ.ศ.2529 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

พ.ศ.2534 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้

พ.ศ.2539 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง


๏ ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2505 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติโสภณ

พ.ศ.2507 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชโมลี

พ.ศ.2511 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโสภณ

พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปิฎก

พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองหิรัญบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระธรรมวโรดม

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2535 เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์ พรหมวิหารวราธิมุต วิสุทธศีลาจารนิวิฐ พิพิธกิจจานุกิจโกศล วิมลหิตานุหิตดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี” อันมีความหมายเป็นมงคลนามว่า “ครูผู้เป็นมหาปราชญ์”

๏ วัดชนะสงคราม

สาธุชนที่เคยมีโอกาสไปที่วัดชนะสงคราม จะพบเห็นสภาพภายในวัด แลดูสะอาดตา จัดวางสิ่งต่างๆ ได้เป็นระเบียบ ไม่มีของวางระเกะระกะ

วัดชนะสงครามที่งดงามแก่สายตาคนทั่วไปในเวลานี้ ล้วนเกิดจากวิริยะอุตสาหะ และมันสมองของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นที่ตั้ง พระภิกษุ-สามเณร ทุกรูปปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น วางตนสำรวมอินทรีย์งดงามสมเป็นศาสนทายาท

รอบพระอุโบสถ มีการจัดตั้งศาลาทำเป็นห้องเรียนศึกษานักธรรม-บาลีอย่างเป็นระบบ จึงมิน่าแปลกใจว่าสำนักเรียนของสมเด็จวัดชนะฯ มีชื่อเสียงโด่งดัง ในปีหนึ่งๆ มีพระภิกษุ-สามเณรสอบได้จำนวนมาก


๏ การเผยแผ่หลักธรรมคำสอน

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดชนะสงคราม จะแสดงพระธรรมเทศนาในโบสถ์ทุกวันพระ เวลา 09.30 น. เป็นประจำมิเคยขาด โดยในวันพระจะไม่รับกิจนิมนต์ข้างนอก ยกเว้นงานพระราชพิธีเพียงอย่างเดียว

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่เคยปิดกั้นสำหรับญาติโยมที่ขอเข้าพบ ท่านไม่เคยถือตัว ใครมาก่อนพบก่อน ใครมาทีหลัง ต้องนั่งรอพบทีหลัง

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สนทนาธรรมกับญาติโยมทุกคนอย่างไม่ถือยศถือองค์ วางตัวปกติ สำรวม สง่างาม เป็นบุญตาและบุญใจของผู้พบเห็น ใครมากราบไหว้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ทั้งนั้น ท่านไม่ห้าม ท่านวางตัวอย่างเท่าเทียมกันหมดทุกชนชั้นวรรณะ ข้อธรรมคำสอนของท่านถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เตือนสติผู้อ่านได้ยั้งคิดทุกยาม อาทิ “รู้ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ สุจริต คบมิตรดี เลี้ยงชีวีพอประมาณ” เป็นต้น

นอกจากนี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้ลิขิตหนังสือ “ตำนานพระปริตร” ซึ่งเป็นหนังสือที่มีสาระเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาโดยตรง อรรถาธิบายแก่นธรรมแห่งพุทธองค์สู่พุทธศาสนิกชน รวมทั้งพระภิกษุ-สามเณรทั่วไป อาทิ ในบทนมัสการ ท่านลิขิตข้อความสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “ก่อนจะเริ่มกิจกรรมทางพระศาสนาจะต้องตั้งนโม 3 จบ ไม่ว่าจะเป็นการใดๆ ทั้งนั้น แม้ที่สุดถวายสังฆทานก็ต้องเริ่มด้วยนโม 3 จบก่อน”

๏ การปกครองคณะสงฆ์

ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ท่านถือหลักให้ผู้อยู่ในปกครองทุกคนสำนึกในหน้าที่ ประพฤติดีถูกต้อง ยกย่องสรรเสริญ ประพฤติผิดต้องลงโทษตามแต่กรณี ไม่มีละเว้น

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้กล่าวปรารภเป็นข้อคิดเตือนใจสาธุชนว่า “หลวงพ่อเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าถ้าเราทำอะไรอย่างบริสุทธิ์ใจแล้วก็จะเจริญงอกงาม แต่ถ้าไม่บริสุทธิ์ใจ ต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรในผลสุดท้าย เราต้องเชื่อในคำสอนของพระพุทธองค์เป็นสำคัญ”

ข้อธรรมคำสอนของท่านถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เตือนสติให้ผู้ฟังผู้อ่านได้ระลึกถึงเตือนสติทุกยาม

แม้ทุกวันนี้ ด้วยภาระหน้าที่อธิบดีสงฆ์วัดชนะสงคราม, เจ้าคณะใหญ่หนกลาง และกรรมการมหาเถรสมาคม ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ทุ่มเทอุทิศงานสนองพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ไทยอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย ยังคงทำงานหนัก จำวัดดึก เพื่อตรวจตรางานทุกชิ้นอย่างละเอียดรอบคอบ ตรวจทุกตัวอักษร ดังคำปรารภที่ว่า “เราเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ไม่ได้สบายอย่างที่คิด ต้องทำงานหนักหลายสิบเท่า ผิดเป็นไม่ได้ เป็นพระผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลงานคณะสงฆ์ เขามอบหมายหน้าที่ให้ก็ต้องทำ ต้องทำให้ดี คนอื่นจะว่ากล่าวติเตียนเราไม่ได้”

สมกับเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของวัดชนะสงครามและพุทธบริษัททั้งหลาย

(ข้อมูลจาก http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=10703 )

สำหรับการมรณภาพของท่านนั้น ขอนำข่าวจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก มาลงบางส่วนดังนี้ครับ
"..เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2554   จากกรณีที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์  เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามและกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ได้มรณภาพนั้น  ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศช่วงบ่ายจากวัดชนะสงคราม ในเวลาประมาณ 13.00 น. พระสงฆ์ในเขตปกครองหนกลาง 350 รูปรวมตัวที่วัดสามพระยาและเดินเท้ามายังวัดชนะสงคราม เพื่อสักการะศพ อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายมีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาสักการะศพจำนวนมาก

 นายอิสระ พจนี อายุ 55 ปี ในฐานะหลานสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ได้มาร่วมกันทำบุญตามที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เพราะลูกศิษย์ได้โทรศัพท์ไปแจ้งญาติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ยังเรียกญาติไปสอนอีก ให้ยึดพรหมวิหาร 4 ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาก่อนมรณภาพมีสติตลอด และเวลา 24.00 น. วันที่ 10 มีนาคม เข้าจำวัด ระหว่างนี้พยาบาลเริ่มสังเกตว่าชีพจรเริ่มอ่อนลง จนกระทั่งเวลา 01.05 ชีพจรก็หยุดเต้น

 นายอิสระ กล่าวอีกว่า สมเด็จพระมหาธีราจารย์  เป็นคนที่เจ้าระเบียบและสนับสนุนพระลูกวัดที่ขยันทำงานไม่ขี้เกียจ  เมื่อมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม เมื่อปีพ.ศ. 2509 ได้พัฒนาปรับปรุงวัดจนเจริญก้าวหน้าทั้งทางธรรมและการศึกษาสงฆ์ รวมทั้งเป็นคนที่มีความกตัญญูมาก ทั้งนี้สำหรับทรัพย์สมบัติของท่านที่มีอยู่ หากไม่ได้เขียนพินัยกรรมไว้ จะตกเป็นของวัดทางญาติก็ไม่ได้ติดใจ

 “มีเรื่องแปลกประหลาดว่า ท่านเขียนข้อความไว้ในกระดาษด้วยลายมือว่า เกิด พ.ศ. 2466 และเว้นวรรคไว้ ตามด้วยปี 2554 ขึ้น 7 ค่ำวันที่ 11 พร้อมลงลายเซ็นไว้ กระดาษนี้เก็บไว้ใต้หมอน เมื่อก่อนมรณภาพลูกศิษย์เล่าให้ฟังว่า เราหมดหน้าที่แล้ว” นายอิสระ กล่าว"



ผู้ตั้งกระทู้ Pallas (pallas-at-horauranian-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-03-18 15:43:52 IP : 61.90.143.87


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.