ดวงจีโอเดติก ดาวพลูโต และวงรอบเสียกรุง 2310
โดย Pallas
http://www.horauranian.com
http://pallasblogger.blogspot.com
30 สิงหาคม 2554
บทนำ
โหราศาสตร์บ้านเมือง (Mundane Astrology) เป็นโหราศาสตร์ที่มามีแต่โบราณ นักประวัติศาสตร์โหราศาสตร์หลายท่านเชื่อกันว่า เกิดขึ้นก่อนการพยากรณ์ดวงบุคคลด้วยซ้ำไป เพราะโหราศาสตร์เริ่มต้นขึ้นเพื่อให้คำปรึกษากับกษัตริย์ในการบริหารปกครองบ้านเมือง และได้มีการคิดค้นเทคนิคในการพยากรณ์อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การใช้ดวงเมือง คือใช้วันเวลาที่ก่อตั้งเมืองหลวงของอาณาจักรนั้นขึ้นมา แล้วพยากรณ์เสมือนดวงชะตาบุคคล เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ใช้แพร่หลายในโหราศาสตร์ไทย สำหรับดวงเมืองของไทยนั้น โหรมักใช้ดวงเมืองบางกอก คือ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลารุ่งแล้วเก้าบาท (6:55 น.) หรือเทคนิคการใช้ดวงชะตาปรากฏการณ์สำคัญต่างๆ เช่น ดวงสุริยุปราคา ดวงจันทรุปราคา ดวงอมาวสี (New Moon) ดวงปูรณมี (Full Moon) ดวงอาทิตย์ยกเข้าจุดทวารซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนฤดูกาล เป็นต้น
ในบทความนี้ ผมขอนำเสนอเทคนิคการพยากรณ์ในโหราศาสตร์บ้านเมืองอีกแขนงหนึ่งที่ได้พัฒนามาตั้งแต่ยุคโบราณ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงการโหราศาสตร์เมืองไทย คือ การกำหนดราศี หรือเรือนชะตาแบบคงที่สำหรับแต่ละท้องถิ่นหรือตามพิกัดภูมิศาสตร์ เรียกกันว่า ดวงจีโอเดติก (Geodetic Chart) หมายความว่า ในแต่ละเมืองหรือแต่ละรัฐ จะมีดวงชะตาคงที่ซึ่งสามารถนำมาพยากรณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองได้โดยไม่จำเป็นต้องทราบวันเวลาที่ก่อตั้งอาณาจักรนั้นขึ้นมา ตัดปัญหาวันเวลาก่อตั้งอาณาจักรที่ไม่ชัดเจนไปได้เลย ขอเพียงเมืองๆนั้นเป็นเมืองหลวงของประเทศนั้น ก็สามารถใช้พยากรณ์ความเป็นไปของประเทศนั้นได้เลย
เทคนิคนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยมีหลักฐานค้นพบครั้งแรกคือดวงชะตาโลกที่ปรากฏบนจารึกอัสซีเรีย ต่อมา มาร์คัส มานิเลียส (Marcus Manilius) โหราจารย์แห่งอาณาจักรโรมันในคริสตศตวรรษที่ 1 ได้พัฒนาต่อโดยแบ่งโลกออกเป็น 3 ทวีป คือ ทวีปลิเบีย (ชื่อเก่าของอาฟริกา) ดินแดนเก่าของชาวคาร์เธจ (Carthage) ผู้พ่ายแพ้ เป็นดินแดนที่สัตว์โลกหากินอยู่กับความตาย เขาจึงจัดให้อยู่ราศีพิจิก, ทวีปเอเชีย ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ จัดให้อยู่ราศีพฤษภ และทวีปยุโรป เต็มไปด้วยวีรบุรุษและศิลปิน ดินแดนแห่งความมั่งคั่งและอำนาจ โดยแบ่งทวีปนี้เป็นส่วนๆ เยอรมัน โกล์ และสเปน อยู่ราศีมกร โรมอยู่ราศีตุล กรีกอยู่ราศีกันย์ ฯลฯ
หลังจากมานิเลียสแห่งโรมันไม่นานนัก ในยุคคริสตศตวรรษที่ 2 คลอดิอุส ทอเลมี (Claudius Ptolemy) ชาวกรีกที่อยู่ในอียิปต์ ขณะนั้นอยู่ภายใต้อาณาจักรโรมัน ก็ได้พัฒนาแนวคิดการกำหนดราศีคงที่ตามพิกัดภูมิศาสตร์ให้ก้าวไปอีกขั้น โดยบันทึกในตำรา เตตราบิโบลส (Tetrabiblos) ว่า เขาแบ่งโลกออกเป็น 4 ส่วน (Quadrants) ให้สอดคล้องกับธาตุทั้งสี่ ให้ธาตุไฟอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ครองทวีปยุโรป, ธาตุดินอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ครองทวีปเอเชียใต้, ธาตุลมอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ครองทวีปเอเชียเหนือ และธาตุน้ำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ครองทวีปลิเบีย จากนั้นเขายังได้แบ่งแต่ละทวีปออกเป็น 3 ส่วนหรือ 3 ราศีในแต่ละธาตุ เช่น ยุโรป ธาตุไฟ แบ่งให้ อังกฤษ โกล์ เยอรมัน เป็นราศีเมษ, อิตาลี เป็นราศีสิงห์ และสเปนเป็นราศีธนู เป็นต้น
การกำหนดราศีให้แก่ประเทศต่างๆตามพิกัดภูมิศาสตร์ยังคงมีการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ แต่หลักใหญ่ก็ยังคงยึดแนวทางของทอเลมีอยู่นั่นเอง อย่างในตำรา Raphaels Mundane Astrology ที่แต่งขึ้นต้นศตวรรษที่ 20 ก็ยังกำหนดให้ อังกฤษ-ราศีเมษ อิตาลี-ราศีสิงห์ สเปน-ราศีธนู เช่นเดียวกับทอเลมี เพียงแต่มีการลงรายละเอียดประเทศใหม่ๆมากขึ้นเท่านั้นเอง
ดวงจีโอเดติก (Geodetic Chart)
แม้ว่าแนวคิดกำหนดราศีตามภูมิศาสตร์ที่มีรากฐานจากทอเลมียังมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อมาถึงโหราศาสตร์ยุคใหม่ ก็ได้มีการพัฒนาแนวคิดอีกแนวหนึ่งสำหรับการกำหนดอิทธิพลของจักรราศีบนพิกัดภูมิศาสตร์โดยใช้ลองจิจูด (Longitude) และแลตติจูด (Latitude) เรียกกันว่า Geodetic ซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกในตำราของเซฟาเรียล (Sepharial)1 ที่ชื่อว่า The Theory Of Geodetic Equivalents In Relation To Mundane Astrology: Including Many Remarkable Proofs And Striking Prophecies เมื่อ ค.ศ. 1924 โดยเซฟาเรียลเขียนไว้ว่า เขาได้รับแนวคิดนี้มาจากคนอื่นแต่ไม่ได้บอกว่าใครเป็นคนบอกเขา ดวงจีโอเดติกในตำราของเซฟาเรียลนั้น เป็นการจัดให้พื้นที่แต่ละแห่งบนโลกลงตามราศีต่างๆ โดยกำหนดให้เส้นเมอริเดียนกรีนิชคือตำแหน่ง 0 องศาราศีเมษ และลัคนา 0 องศาราศีกรกฎตัดกับเส้นเมอริเดียนกรีนิชที่เส้นศูนย์สูตร จากนั้นแบ่งท้องถิ่นต่างๆบนโลกตามราศีโดยใช้ลองจิจูด (Longitude)
ระหว่างที่สำนักโหราศาสตร์ฝั่งอังกฤษได้พัฒนาแนวคิดนี้อยู่นั้น สำนักโหราศาสตร์ฝั่งเยอรมันก็ได้มีการจัดแบ่งในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยนักโหราศาสตร์ที่ชื่อว่า อัลเฟรด เอ็ม. กริมม์ (Alfred M. Grimm) ซึ่งใช้เส้นเมอริเดียนกรีนิชเช่นเดียวกับเซฟาเรียล แต่แบ่งท้องถิ่นต่างๆด้วยไรต์แอสเซนชัน (Right Ascension: RA)2 ทั้งสองระบบนี้มีความแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ไม่เกิน 2 องศา บางพื้นที่อาจใกล้เคียงกันมาก นอกจากสองระบบนี้แล้ว ยังมีระบบที่พัฒนาโดยนักโหราศาสตร์อเมริกันคือ แอล. เอ็ดเวิร์ด จอห์นโดร (L. Edward Johndro)3 ซึ่งได้ปรับจุดตั้งต้นของลัคนา เมอริเดียนท้องถิ่นที่อ้างอิงกับเส้น 0 องศากรีนิช ด้วยค่าอายนางศ์ (Precession) ค่าของจอห์นโดรนี้มีความแตกต่างกับค่าจากวิธีของ Sepharial และ Grimm ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ในบทความของชาร์ลส์ เจนส์ (Charles Janes) นักโหราศาสตร์ชื่อดังในสหรัฐอเมริกาเคยเขียนว่า หลังจากจอห์นโดรทดลองใช้วิธีต่างๆแล้วเขากลับไปเลือกใช้วิธีของ Sepharial เนื่องจากให้ผลลัพธ์แม่นยำกว่า
สำหรับโหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์กหรือเรียกกันในบ้านเราว่า โหราศาสตร์ยูเรเนียน นั้น มีการใช้เทคนิคลัคนาท้องถิ่น (Local Ascendant: LA) และเมอริเดียนท้องถิ่น (Local Meridian: LM) ซึ่งก็คือระบบดวงจีโอเดติกนั่นเอง โดยตำรา Orts-Meridiane Und Orts-Aszendenten Für Wichtige Weltstädte แปลว่า เมอริเดียนท้องถิ่นและลัคนาท้องถิ่นสำหรับเมืองสำคัญในโลก ที่เขียนโดย Ruth Brummund นั้นใช้ระบบของกริมม์ในการคำนวณ และเทคนิคการใช้ LM LA นั้นยังปรากฏในตำรา Handbook of Techniques for the Hamburg School (Uranian Astrology) ที่เขียนร่วมกันโดย Ruth Brummund และ Udo Rudolph อีกด้วย
[ระหว่างบรรยายในงานวันโหรจรัญ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน 2554 อ.พุธลัคน์ได้ทักท้วงเนื้อหาส่วนนี้ โดยอธิบายว่า มีบทความจากสำนักฮัมบูร์ก ชื่อ "Zur Kritik an den unveränderlichen so genannten Orts-Meridianen (OM) und Orts-Aszendenten (OA)" โดย Michael Feist วิจารณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้ LM และ LA และไม่ถือว่าเป็นวิชาของสำนักฮัมบูร์ก โดยหลังจากวันงาน อ.พุธลัคน์ได้กรุณาส่งบทความดังกล่าวซึ่งเป็นภาษาเยอรมันมาให้ผม จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ ทั้งนี้ อ.พุธลัคน์แจ้งว่าบทความดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์ Witte-Verlag (Michael Feist) จึงไว้ใช้อ้างอิงเท่านั้น]
หากเราคำนวณดวงชะตาประเทศไทยโดยใช้กรุงเทพมหานครเป็นตำแหน่งอ้างอิง และใช้วิธีของ Grimm (คำนวณโดยโปรแกรม Solar Fire) เราจะได้ ลัคนาท้องถิ่นที่ตำแหน่ง 10 องศาราศีตุล และเมอริเดียนท้องถิ่นที่ตำแหน่ง 9 องศาราศีกรกฎ
การใช้ดวงจีโอเดติกในการพยากรณ์
จากตำรา Handbook of Techniques for the Hamburg School รวมถึงวงการโหราศาสตร์ยูเรเนียนในบ้านเรา มักใช้ LM และ LA ด้วยการลงจุดดังกล่าวในดวงชะตา แล้วหาความสัมพันธ์เชิงมุมออกมาเป็นสมการดาวแล้วนำมาพยากรณ์ สำหรับในบ้านเรานิยมใช้ในการพยากรณ์การแข่งขันกีฬาว่านักกีฬาจากประเทศไหนจะเป็นฝ่ายชนะ โดยการใส่ LM LA ของแต่ละประเทศลงในดวงชะตาการแข่งขัน หาก LM LA ของประเทศใดมีสมการดาวที่ได้เปรียบกว่า ก็จะพยากรณ์ว่าจะเป็นฝ่ายชนะ
ในทางโหราศาสตร์บุคคล ตำราสำนักฮัมบูร์กใช้พยากรณ์ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชะตากับสถานที่นั้นว่าเป็นอย่างไร โดยการกำหนด LM และ LA ลงในดวงชะตาของคนๆนั้น แล้วดูความสัมพันธ์กัน เช่น ในดวงชะตาของอดีตประธานาธิบดีเรแกน แห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า LM ที่วอชิงตันดีซี = Ar/Kr = Pl/Cu = Ma/Ne ในดวงของเรแกน บอกถึงการมีอำนาจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม แต่ถูกชักใยจากคนอื่นหรือมักทำอะไรที่คลุมเครือ ส่วน LA ที่วอชิงตันดีซี = Me = Ze = Ar = Ju = No = Mo บ่งบอก ณ วอชิงตันดีซี เรแกนจะสามารถสื่อสารประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนได้ดี นำไปสู่ความสำเร็จ
สำหรับการนำดวงจีโอเดติกมาใช้กับโหราศาสตร์บ้านเมืองนั้น เราก็สามารถพยากรณ์เหตุการณ์สำคัญๆเมื่อดาวใหญ่โคจรมาทำมุมสัมพันธ์กับ LM และ LA ได้ เช่น เมื่อตอนที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของเยอรมนีในปี 1934 ดาวฮาเดสโคจรมาทับ LM กรุงเบอร์ลินพอดี และพอดาวพลูโตโคจรทับ LA ก็อยู่ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เยอรมันเริ่มเพลี่ยงพล้ำและพ่ายแพ้ไป ในที่สุดเมื่อดาวเนปจูนจรมาเล็ง LM ในปี 1949 กรุงเบอร์ลินก็ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 เมือง
ทั้งนี้ จะเห็นว่า การใช้แนวคิดกำหนดลัคนาและเมอริเดียนท้องถิ่นตามพิกัดภูมิศาสตร์แบบนี้เป็นการใช้แค่ 2 จุดเท่านั้น แต่ตามทฤษฎีดวงจีโอเดติกนั้น คือการกำหนดเรือนชะตาทั้ง 12 เรือน โดยคำนวณเส้นแบ่งเรือนตามระบบเรือนชะตาที่เลือกใช้ เช่น Placidus, Koch เป็นต้น ซึ่งผมมีความเห็นว่า การนำดวงจีโอเดติกมาใช้ทั้งดวงชะตา จะช่วยให้เราสามารถพยากรณ์ได้รายละเอียดมากขึ้น เพราะมีเรื่องราวจากเรือนชะตาทั้ง 12 เรือนมาประกอบการพยากรณ์อีกด้วย
สำหรับบทความนี้ ผมได้ศึกษาวงรอบดาวพลูโตที่ส่งผลต่อเหตุการณ์บ้านเมืองของไทย โดยใช้พิกัดภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ และเพื่อให้การศึกษาครอบคลุมวงรอบดาวพลูโตให้รอบด้าน จึงได้ศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนหลังไป 1 รอบซึ่งกินระยะเวลาราว 250 ปี ครอบคลุมอาณาจักรอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ จึงได้คำนวณตำแหน่ง LM และ LA ของทั้งอยุธยา ธนบุรี และกรุงเทพ ก็พบว่า ตำแหน่งไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคืออยู่ในระยะวังกะ 1 องศาจากกรุงเทพฯ
วงรอบดาวพลูโต
ผมเคยเขียนบทความเรื่อง พลูโตในยุคสมัยต่างๆ ลงในเอกสารงานวันโหรจรัญเมื่อ 14 กันยายน 2551 ในบทความดังกล่าว มีเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อครั้งดาวพลูโตโคจรเข้าราศีต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้าราศีมกรเช่นในขณะนี้ เหตุที่ผมสนใจดาวพลูโตเป็นพิเศษก็เพราะว่าเป็นดาวที่โคจรช้า กว่าจะครบจักรราศีก็ใช้เวลาราว 248 ปี จึงสามารถใช้พยากรณ์เรื่องราวในแต่ละยุคได้ อีกทั้งความหมายของดาวพลูโตคือการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลง เมื่อดาวพลูโตเข้ามาในราศีอะไรจึงทำให้เกิดการปฏิรูปในความหมายของราศีนั้นๆ ตั้งแต่ดาวพลูโตเข้ามาในราศีมกรเมื่อปี 2551 โลกของเรารวมถึงประเทศไทยก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ในระดับที่พูดได้ว่าสั่นสะเทือนโครงสร้างสังคมเลยทีเดียว ประจวบเหมาะกับการที่ดาวพลูโตจะโคจรมาเล็งกับเมอริเดียนท้องถิ่น (LM) ของไทยใน พ.ศ. 2555 ผมจึงสนใจอย่างยิ่งว่าปรากฏการณ์นี้จะส่งผลอะไรกับประเทศไทย
ก่อนที่จะพยากรณ์อนาคต ผมจึงเริ่มต้นด้วยการย้อนไปศึกษาอดีต เมื่อครั้งที่ดาวพลูโตโคจรมาเล็งเมอริเดียนท้องถิ่น (LM) โดยเริ่มต้นจากเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 2310 ตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จากนั้นศึกษาเหตุการณ์สำคัญเมื่อดาวพลูโตโคจรผ่านเส้นแบ่งเรือนเกณฑ์ (เรือนที่ 1, 4, 7, 10) เพื่อดูว่าอิทธิพลดาวพลูโตต่อดวงจีโอเดติกของไทยนั้นแสดงผลชัดเจนแค่ไหน อย่างไร จากนั้นจึงมาวิเคราะห์เหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในรอบปัจจุบัน
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 (ดาวพลูโตเข้าเรือนที่ 4)
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เริ่มต้นตั้งแต่ การแก่งแย่งอำนาจกันภายหลังที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตลงเมื่อ พ.ศ. 2301 (ขณะนั้นดาวฮาเดสเพิ่งโคจรทับลัคนาท้องถิ่นไปได้ 2-3 ปี) โดยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรได้ขึ้นครองราชย์เพียงเดือนเศษ ก็ต้องสละราชสมบัติให้กับสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ไม่นานนัก พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ก็ได้ยกทัพเข้ามาตีอยุธยาในปี 2303 พระเจ้าเอกทัศจึงขอให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรที่ไปบวช สึกออกมาเป็นแม่ทัพใหญ่ต้านทัพพม่า ในที่สุด พระเจ้าอลองพญาทรงพระประชวรจึงต้องถอยทัพ ในช่วงนี้ ดาวโครโนสได้โคจรมาเล็ง LM อยุธยา จึงพ้นภัยครั้งนี้ไปได้
4 ปีต่อมา พ.ศ. 2307 พระเจ้ามังระ โอรสของพระเจ้าอลองพญา ก็ได้ยกทัพมาตีอยุธยาครั้งใหม่ โดยเริ่มจากการตีหัวเมืองทางเหนือก่อน แล้วค่อยส่งทัพจากทางใต้มาเสริม แล้วเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2309 โดยฝ่ายอยุธยาได้ตั้งรับโดยคาดหวังว่าเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก พม่าก็ต้องถอยทัพกลับไปเหมือนทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ฝ่ายพม่าเตรียมการมาอย่างดี ทำให้สามารถปิดล้อมนานถึง 14 เดือน จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน หรือวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310
เมื่อเราคำนวณดวงจีโอเดติกของอยุธยาในช่วงนั้น พบว่า เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในเดือนกุมภาพันธ์ 2309 ดาวพลูโตในราศีมกรก็โคจรมาที่ตำแหน่ง 9 องศาราศีมกร เล็งกับ LM อยุธยาพอดี จากนั้นก็โคจรไปทำมุมฉากสนิทกับ LA ที่ตำแหน่ง 10 องศา และในวันที่กรุงแตก ดาวพลูโตก็ยังอยู่ในระยะวังกะราว 1 องศาครึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ ดาวโพไซดอนกำลังทับ LM อยู่ด้วย อีกทั้งทำมุมฉากสนิทกับ LA ในวันกรุงแตก ทำให้การพ่ายแพ้ต่อพม่าครั้งนั้นถึงขั้นเปลี่ยนแปลงระดับจิตวิญญาณของอาณาจักร ส่งผลให้อาณาจักรอยุธยาล่มสลายอย่างสิ้นเชิง จนกระทั่งเมื่อดาวพฤหัสโคจรเข้ามาทับ LA ตอนปลายปี 2310 พระเจ้าตากสินก็ได้ยกทัพเข้ามาโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นและสามารถขับไล่ทหารพม่าออกจากอาณาจักรได้ในที่สุด
สนธิสัญญาและสงคราม (ดาวพลูโตเข้าเรือนที่ 7)
ดาวพลูโตได้โคจรจากเรือนที่ 4 จนกระทั่งมาเล็งลัคนาท้องถิ่น (LA) หรือเข้าเรือนที่ 7 ของดวงจีโอเดติก กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2374 หรือหลังจากการเสียกรุงฯครั้งที่ 2 ราวๆ 60 กว่าปี ในวิชาโหราศาสตร์บ้านเมือง เรือนที่ 7 หมายถึง การต่างประเทศ โดยตำราของ Carter ขยายความว่า เรือนนี้หมายถึงการทำสงคราม การเป็นปฏิปักษ์ รวมถึงการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ปรากฏว่า ประเทศไทยขณะนั้นอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคที่รัตนโกสินทร์ได้ผ่านพ้นช่วงก่อตั้งอาณาจักรในรัชกาลที่ ๑, การฟื้นฟูศิลปวิทยาการของประเทศในรัชกาลที่ ๒ มาถึงการขยายอำนาจทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านการเมืองระหว่างประเทศ ทางด้านเศรษฐกิจนั้น สยามในยุคพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯประสบความสำเร็จในการค้าขายต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง จนได้เปรียบดุลการค้าและมีเงินเรียลสเปน (Real) ที่เป็นเงินตราสกุลหลักของโลกในขณะนั้นสะสมไว้มาก เห็นได้จากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินเรียลสเปน ได้แข็งค่าจากยุคกรุงธนบุรีที่ 1 บาท เท่ากับ 53.3 เซ็นต์ มาเป็น 1 บาทเท่ากับ 61.5 เซ็นต์ หรือแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 15% เลยทีเดียว ส่วนทางด้านการเมืองระหว่างประเทศนั้น อาณาจักรสยามในรัชสมัยของพระองค์ก็ได้แผ่ขยายอำนาจออกไปกว้างขวางทุกทิศ จนทำให้เกิดการปะทะกับอาณาจักรเพื่อนบ้าน ก่อนที่มหาอำนาจตะวันตกจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือภูมิภาคนี้ในยุครัชกาลที่ ๔ และ ๕
ในรอบนี้ ก่อนที่ดาวพลูโตยกเข้าเรือนที่ 7 ในดวงจีโอเดติกนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเพิ่งทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับทางอังกฤษไปเมื่อ พ.ศ. 2369 เป็นการทำสนธิสัญญากับตะวันตกฉบับแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้เกิดการค้าขายอย่างเสรีมากยิ่งขึ้น โดยขณะนั้นเป็นช่วงที่ดาวเนปจูนกำลังเล็งเมอริเดียนท้องถิ่นอยู่ในเรือนที่ 4 และดาวเสาร์กุมเมอริเดียนท้องถิ่น ต่อมาเมื่อดาวพลูโตโคจรมาเล็งลัคนา ยกเข้าเรือนที่ 7 ราวๆ พ.ศ. 2374-2376 ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีความสนใจเข้ามาทำการค้าในสยาม หลังจากเห็นความสำเร็จของสนธิสัญญาเบอร์นีที่ทำกับอังกฤษ โดยประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ๊คสัน ได้ส่งนายเอ็ดมันด์ โรเบิร์ต เข้ามาเป็นทูตอเมริกันคนแรกในประเทศไทย ส่งผลให้สยามและสหรัฐอเมริกาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ. 2376 และได้ทำสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ. 1833 ซึ่งลงนามเมื่อ 20 มีนาคม พ.ศ. 2376 นี่ก็ถือได้ว่า เป็นอิทธิพลของดาวพลูโตในเรือนที่ 7 ซึ่งส่งผลต่อการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
ในช่วงเวลานั้น ภัยความมั่นคงทางทิศตะวันออกก็เริ่มแสดงผลมากขึ้น เมื่อเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์จากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ที่ฝักใฝ่ข้างญวนขึ้นใน พ.ศ. 2369 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการทำสนธิสัญญาเบอร์นี อันเป็นผลจากอิทธิพลของดาวเนปจูนเรือนที่ 4 และดาวเสาร์เรือนที่ 10 แม้ว่าสยามได้ปราบปรามกบฏดังกล่าวได้อย่างราบคาบ แต่ทางฝ่ายญวนก็ยังพยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาทางลาวและเขมรอย่างต่อเนื่อง ทำให้ใน พ.ศ. 2376 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงตัดสินใจให้ เจ้าพระยา บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพไปตีเขมรและหัวเมืองญวน จนเกิดสงครามใหญ่และยาวนานถึง 14 ปี (พ.ศ. 2376-2390) เรียกว่า อานามสยามยุทธ นี่ก็เป็นอิทธิพลของดาวพลูโตที่โคจรเข้าสู่เรือนที่ 7 และเมื่อติดตามการโคจรของดวงดาวก็พบว่า ดาวมฤตยูกำลังโคจรในเรือนที่ 5 เพื่อเข้าทำมุม 45 องศากับดาวพลูโต และดาวเสาร์กำลังเข้ามากุมลัคนาท้องถิ่น ในปี 2377 ซึ่งต่างก็เป็นดาวโคจรช้าที่มีอิทธิพลที่ทำให้เกิดสงครามได้ทั้งสิ้น
ต่อมาใน พ.ศ. 2386 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้โปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ยกทัพเรือไปตีเมืองโจดกของญวนเพื่อสนับสนุนทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา แต่ปรากฏว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะทหารไทยไม่ชำนาญภูมิประเทศและสมรรถนะทัพเรือด้อยกว่า ซึ่งก็ตรงกับเวลาที่ดาวฮาเดสโคจรมาเล็งเมอริเดียนท้องถิ่นในเรือนที่ 4 พอดี ทำให้ไทยและญวนได้เจรจาสงบศึกใน พ.ศ. 2490 เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงเห็นว่า มีแต่จะสิ้นเปลืองทรัพยากร เปรียบเหมือนว่ายน้ำท่ามกลางมหาสมุทรไม่เห็นเกาะเห็นฝั่ง
การเปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาล (ดาวพลูโตเข้าเรือนที่ 10)
หลังจากโคจรเข้าเรือนที่ 7 แล้ว ก็เป็นช่วงที่ดาวพลูโตโคจรช้า ต้องใช้เวลานานถึงราว 90 ปี ดาวพลูโตจึงโคจรเข้ามากุมเมอริเดียนท้องถิ่นในระหว่าง พ.ศ. 2464-2466 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็นพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในทางโหราศาสตร์ เมอริเดียนหมายถึงประมุขหรือผู้นำประเทศ ขณะนั้นยังเป็นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดาวพลูโตจึงส่งอิทธิพลต่อพระองค์โดยตรง อีกทั้ง ดาวเสาร์โคจรมากุมลัคนาท้องถิ่น (LA) ทำมุมฉากกับโครงสร้างดาวพลูโตกุม LM อีกด้วย ส่งผลให้ในช่วงนั้น ได้เกิดการสูญเสียต่อสมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนีที่อยู่ในข่ายสืบราชสันตติวงศ์ติดต่อกันหลายพระองค์ เริ่มจาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2463, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2466 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ทรงสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2467
อีกทั้งใน พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯได้ทรงตรากฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เมื่อ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ซึ่งก็คือการปฏิรูปเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ และเมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดา คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ไม่ใช่พระราชโอรส ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระราชชนนีองค์เล็ก จึงขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๗ เหตุการณ์ในช่วงนั้นถือได้ว่าดาวพลูโต ดาวแห่งการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง ได้ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อผู้นำประเทศ ซึ่งก็คือเรือนที่ 10 ในทางโหราศาสตร์นั่นเอง
ตุลามหาวิปโยค (ดาวพลูโตเข้าเรือนที่ 1)
ผ่านไปอีกราว 50 ปี ดาวพลูโตก็ได้โคจรเข้าเรือนที่ 1 มากุมลัคนาท้องถิ่น (LA) ระหว่าง พ.ศ. 2518-2519 แต่คราวนี้โครงสร้างที่สำคัญคือ ดาววัลคานุสก็โคจรมากุมเมอริเดียนท้องถิ่น (LM) ซึ่งหมายถึงการทำมุมฉากกับพลูโตและ LA อีกทั้งดาวฮาเดสก็โคจรอยู่ในเรือนที่ 8 ทำมุม 45 องศากับ LM ผลกระทบของเหตุการณ์จึงเกี่ยวข้องกับทั้งลัคนาที่หมายถึงประชาชนและสภาพบ้านเมืองทั่วไป และทั้งเมอริเดียนที่หมายถึงผู้นำประเทศซึ่งขณะนั้นอยู่ในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นรัฐบาลนั่นเอง
ในช่วงนั้น ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยขบวนการนักศึกษาปัญญาชน เริ่มต้นจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งสามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการที่มาจากการรัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจรลงได้ แต่บ้านเมืองยังคงเต็มไปด้วยความวุ่นวายแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วก็ตาม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่มีการต่อสู้ปะทะกันจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จนมีการรัฐประหารกลับเข้าสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้ง ภายหลังเหตุการณ์ ทำให้มีนักศึกษาและผู้ร่วมอุดมการณ์จำนวนมากได้เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถือว่าเป็นบาดแผลครั้งใหญ่ของการเมืองไทย
ดาวพลูโตซึ่งเป็นดาวแห่งการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง โคจรมากุมลัคนาท้องถิ่น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในขบวนการประชาชน แต่ครั้งนี้เกิดความรุนแรงอย่างมาก นั่นเป็นเพราะมีดาววัลคานุสที่หมายถึง การใช้กำลัง ได้เข้ามากุมเมอ ริเดียนท้องถิ่น รวมถึงดาวฮาเดสที่หมายถึงทุกขเวทนามาทำมุม 45 องศากับ LM อีกด้วย
จนกระทั่งเข้าปลายปี พ.ศ. 2521 ดาวพฤหัสโคจรเข้ากุม LM จึงได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2522 จากนั้น เรื่องราวก็เริ่มคลี่คลายเมื่อดาววัลคานุสโคจรพ้นระยะวังกะของเมอริเดียนท้องถิ่นและดาวอพอลลอนโคจรเข้ามากุมลัคนาท้องถิ่นประมาณ พ.ศ.2526
อะไรจะเกิดขึ้นในรอบนี้ (ดาวพลูโตเข้าเรือนที่ 4)
ดาวพลูโตจะโคจรเข้าเรือนที่ 4 เล็งเมอริเดียนท้องถิ่น (LM) ในช่วง พ.ศ. 2555-2557 ซึ่งห่างจากตอนที่กุมลัคนาท้องถิ่นอยู่ประมาณเกือบ 40 ปี เนื่องจากดาวพลูโตอยู่ในช่วงที่โคจรเร็ว หากเราพิจารณาจากปัจจัยทางโหราศาสตร์ พบว่า ได้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อดาวเซอุส ดาวแห่งการอำนวยการสร้างสรรค์ ได้เข้ามากุมลัคนาท้องถิ่นตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ซึ่งก็เกิดการรัฐประหารโดย คปค. ด้วยความหวังของคณะรัฐประหารว่าจะยุติความขัดแย้งในสังคมได้ แต่ดาวเซอุสบ่งบอกถึงการเริ่มต้นมากกว่าการสิ้นสุด รัฐประหารดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการเริ่มต้นของความขัดแย้งที่รอเวลาดาวพลูโต ดาวแห่งการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงจะมาถึง อีกทั้งดาวแอดเมตอส ดาวแห่งข้อจำกัดอันใหญ่หลวง ได้ทำมุม 45 องศากับเมอริเดียนท้องถิ่น อยู่ในเรือนที่ 8 ยิ่งย้ำว่าเรื่องราวยังไม่สิ้นสุด
เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปหลังรัฐประหารตอนปลายปี พ.ศ. 2550 ก็เป็นเวลาที่ดาวพฤหัสโคจรเข้ามาเรือนที่ 4 เล็งกับ LM ทำให้บ้านเมืองเหมือนจะผ่อนคลายลงไป แต่โครงสร้างดาวโคจรช้าอย่างดาวเซอุสและแอดเมตอสก็ยังอยู่ตำแหน่งเดิม วิกฤติบ้านเมืองก็ยังไม่จบ ขบวนการเสื้อสีต่างๆซึ่งเป็นการเมืองบนท้องถนนได้มีอิทธิพลเหนือกว่าการเมืองในรัฐสภา ต่อมาใน พ.ศ. 2552 ดาวเนปจูน ดาวแห่งความลึกลับไม่เปิดเผยก็โคจรมาทำมุม 135 องศากับทั้ง LA และ LM กุมกับดาวพฤหัสจร ส่งผลให้ขบวนการที่เคลื่อนไหวใต้ดินแผ่ขยายกว้างขวางออกไป มาถึง พ.ศ. 2553 โครงสร้างดาวเซอุส ดาวแอดเมตอส ได้โคจรห่างออกไป ทำให้โครงสร้างนั้นมีอิทธิพลลดลง แต่ดาวเสาร์ ดาวแห่งข้อจำกัด ก็โคจรเข้ามากุม LA ทำให้บ้านเมืองก็ยังคงอยู่ในภาวะอึดอัดหาทางออกไม่ได้
เมื่อถึง พ.ศ. 2555 ดาวพลูโตจะเริ่มโคจรเข้าเรือนที่ 4 มาเล็งเมอริเดียนท้องถิ่น ส่งผลให้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปของรัฐบาล แต่จะไม่เหมือนกับเมื่อครั้งรอบที่แล้วที่ถึงขั้นเสียกรุงศรีอยุธยา เพราะคราวนี้ดาวโพไซดอนไม่ได้อยู่ในโครงสร้าง จึงไม่ได้ส่งผลต่อจิตวิญญาณของรัฐเหมือนรอบที่แล้ว แต่ที่น่ากังวลคือ โครงสร้างทีสแควร์ (T-Square) ของดาว 3 ดวง ที่ทำมุมฉากซึ่งกันและกัน ระหว่างดาวพลูโต ในราศีมกร ดาวมฤตยูในราศีเมษ และดาวโครโนสในราศีกรกฎ โดยเฉพาะการทำมุมฉากของดาวมฤตยูและดาวพลูโตซึ่งจะเกิดขึ้นทั้งหมด 7 ครั้งตั้งแต่กลางปี 2555 ก่อนที่ดาวมฤตยูจะโคจรเข้าเรือนที่ 7 จนถึงปี 2558 เพราะเมื่อรวมความหมายของดาวทั้ง 2 ดวงเข้าด้วยกัน จะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปในลักษณะกระตุกหรือไม่ราบรื่น อีกทั้งดาวมฤตยูในราศีเมษก็ให้ลีลาที่ค่อนข้างรุนแรง จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองของเราในลีลาที่ไม่ราบรื่น ยิ่งเราศึกษาย้อนหลังไปในอดีต พบว่า การตั้งฉากกันของดาวมฤตยูและดาวพลูโตเมื่อครั้งก่อนนั้นเกิดในช่วง พ.ศ.2475-2476 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์และกบฏบวรเดช จึงน่าเป็นห่วงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลร้ายแรงต่อบ้านเมืองของเราแค่ไหน
สรุป
หลายคนเคยตั้งคำถามกับผมว่า เมื่อไรบ้านเมืองของเราจะข้ามพ้นวิกฤติการณ์ความแตกแยกนี้ไปได้เสียที หากเราใช้การโคจรของดาวพลูโตผ่านดวงจีโอเดติกประเทศไทยมาค้นหาคำตอบ ก็พบว่า คงต้องรอถึงปี พ.ศ. 2557 เลยทีเดียว เพื่อให้โครงสร้างการตั้งฉากของดาวมฤตยูและพลูโตคลายตัวออกจากแกน LA และ LM ของไทย อีกทั้งดาวพฤหัสก็จะโคจรเข้าเรือนที่ 10 ถึงเวลานั้นวิกฤติการณ์นี้ก็จะคลี่คลายลงไป พอจะเกิดความหวังได้ว่า การปิดท้ายโครงสร้างนี้ด้วยดาวพฤหัส ดาวแห่งความสำเร็จน่าจะทำให้วิกฤติการณ์ในบ้านเมืองของเราคลี่คลายไปในทางที่ดี
นับแต่ศึกษาวิชาโหราศาสตร์เป็นต้นมา ผมเชื่อเสมอว่า ชะตาชีวิตของมนุษย์ไม่ได้ถูกลิขิตไว้อย่างตายตัว หรือเป็นพรหมลิขิต (Fate) โหราศาสตร์นั้นเป็นเครื่องมือที่ใช้มองเห็นผลแห่งกรรมในอดีตที่กำหนดขอบเขตความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของเราในอนาคต สิ่งสำคัญไม่แพ้กว่ากรรมในอดีตนั่นคือ กรรมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เราตัดสินใจเลือกการกระทำของเราอันจะส่งผลให้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นไปได้ทั้งกรณีที่ดีที่สุด หรือเลวร้ายที่สุด ภายใต้กรอบแห่งกรรมในอดีต นักปราชญ์ตะวันตกมักเรียกการตัดสินใจเลือกนี้ว่า Freewill ซึ่งผมขอแปลว่า กรรมลิขิต เพื่อให้สอดคล้องกับคำสอนในพระพุทธศาสนา หลักการนี้สามารถนำมาใช้กับดวงชะตาบ้านเมืองเช่นกัน หากคนในบ้านเมืองของเราส่วนใหญ่หวังดีต่อบ้านเมือง ตัดสินใจเลือกกระทำในสิ่งที่จะทำให้บ้านเมืองของเราก้าวหน้าขึ้น พัฒนาขึ้น มีความสุขมากขึ้น ก็ย่อมทำให้วิกฤติการณ์ที่โหราศาสตร์บอกเราว่าจะเกิดขึ้น ย่อมบรรเทาเบาบางไปได้ แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม ผลที่เกิดขึ้นจริงอาจเลวร้ายยิ่งไปกว่าสิ่งที่ดวงชะตาบอกก็เป็นได้ นี่คือข้อคิดที่ผมอยากเสนอส่งท้ายบทความในวันโหรจรัญ 2554 ปีนี้
เชิงอรรถ
1. เซฟาเรียล เป็นนามแฝงของ ดร. วอลเตอร์ กอร์น โอลด์ (Dr. Walter Gorn Old) โหราจารย์ชื่อดังในยุคปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ในประเทศอังกฤษ
2. ไรต์แอสเซนชัน (Right Ascension: RA) เป็นการบอกตำแหน่งพิกัดบนทรงกลมท้องฟ้าในระบบพิกัดศูนย์สูตร โดย RA บอกตำแหน่งตามแนวที่ตั้งฉากกับเดคลิเนชัน (ไปตามเส้นศูนย์สูตรฟ้า) มีหน่วยวัดเป็น ชั่วโมง นาที วินาที บางครั้งเราเรียกกันว่ามุมชั่วโมง
3. ลอร์น เอ็ดเวิร์ด จอห์นโดร (Lorne Edward Johndro, 1882-1951) คือนักโหราศาสตร์ชาวแคนาดา ผู้ค้นพบจุด Vertex ร่วมกับ Charles Jayne ได้เขียนตำราโหราศาสตร์ไว้หลายเล่ม ว่ากันว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญโหราศาสตร์การเงินและตลาดหุ้นอย่างยิ่ง
เอกสารอ้างอิง
1. McRae, Chris; The Geodetic Equivalent Method of Prediction, The Astrology of the Macrocosm, New Directions in Mundane Astrology, (Llewellyn Publications, 1990)
2. Brummund, Ruth and Rodolph, Udo; Handbook of Techniques for the Hamburg School, Penelope Publications, 1992)
3. สุนทร ทัศนจันทร์; โหราศาสตร์ของโลกวันพรุ่งนี้, (สำนักพิมพ์มติชน, 2539)
4. จริยา นวลนิรันดร์; พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว : องค์จักรพรรดิราชผู้ปราศจากช้างเผือก, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, 2554)
5. สมาคมดาราศาสตร์ไทย; พจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์อังกฤษ-ไทย, (สมาคมดาราศาสตร์ไทย, 2548)
6. พลตรีประยูร พลอารีย์; คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ, (โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ, 2521)
7. http://www.uranian-institute.org
8. http://th.wikipedia.org