ReadyPlanet.com
dot
dot dot
dot
เกี่ยวกับเรา Horauranian.com
dot
bulletรำลึกถึง อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์
bulletเจตนารมณ์
bulletติดต่อเรา
bulletโหราพยากรณ์
dot
บทความ
dot
bulletเกร็ดโหรน่ารู้
bulletเจาะลึกโหรา
bulletโหราศาสตร์บ้านเมือง
bulletBlog อ.วิโรจน์
bulletแนะนำตำรา
bulletไพ่ยิปซี จักรราศี (Celestial Tarot)
bulletกระดานถามตอบ
bulletคลังบทความดวงเมืองเศรษฐกิจ 2550-2552
bulletคลังกระทู้โหราศาสตร์ที่น่าสนใจ
dot
บทความน่าสนใจ
dot
bulletประเทศไทยหลังคดียึดทรัพย์ 2553
bulletReturn of Great Depression?
bulletChange! ผู้นำยุคใหม่ของโลก
bulletเรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน
bulletโหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
bulletเลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง
bullet6 ขั้นตอนเพื่อการดูหมออย่างคุ้มค่า
bulletชนะใจคนรัก 12 ราศี
dot
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
dot
bulletเพจ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletCelestial Strategist Blog
bulletBlog โหราเศรษฐกิจ
bulletเว็บไซต์ที่น่าสนใจ




โหราศาสตร์กับเงินตราสกุลหลักของโลก article

โดย Pallas
http://www.horauranian.com
http://pallasblogger.blogspot.com
สิงหาคม 2553

          กลายเป็นธรรมเนียมสำหรับผมไปแล้วที่จะถือโอกาสในวันโหรจรัญของทุกปี เพื่อเขียนบทความนำเสนอเรื่องราวทางโหราศาสตร์ที่ผมสนใจศึกษาอยู่มาแบ่งปันกับผู้สนใจ เพื่อบูชาปรมาจารย์โหรยูเรเนียนของเมืองไทย อ.จรัญ พิกุล ปีที่แล้ว (2552) ผมนำเสนอเรื่อง “การกลับมาของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่?” เพื่ออธิบายความเหมือนและความต่างของเหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ของโลกในทศวรรษที่ ’30 แห่งศตวรรษที่ 20 กับวิกฤติเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญนับแต่ปี 2008 ที่ผ่านมา หรือบางท่านเรียกกันว่า วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในตอนท้ายบทความปีที่แล้ว ผมได้เขียนไว้ว่า

          “..อย่าเพิ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวแล้ว เพราะวิกฤติในปี 2010 ยังคงรออยู่ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่จบ เรารู้เพียงว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลดบทบาทการเป็นผู้นำหลักเพียงประเทศเดียวของโลกไปแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะมาแทนสหรัฐฯ จีนดูเหมือนมีสถานะที่ดูดี จากขนาดตลาดที่ใหญ่และเศรษฐกิจที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาภายในของจีนยังมีอีกมาก เงินดอลลาร์สหรัฐฯดูเหมือนจะไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือว่าจะเป็นเงินตราหลักของโลกในเหมือนอดีต แต่เงินหยวนของจีนก็ไม่เข้มแข็งและโปร่งใสเพียงพอที่จะมาแทน เรายังคงต้องเฝ้ามองกันต่อไป..”

          มาถึงปีนี้ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวมดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ยังมองเห็นร่องรอยของความเปราะบางของการฟื้นตัวอยู่มาก ปลายปีที่แล้ว ดูไบก็ประสบปัญหาวิกฤติหนี้สินทั้งที่ก่อนหน้านั้นทุกคนก็คิดเอาว่า ภูมิภาคตะวันออกกลางที่ร่ำรวยมหาศาลจากทรัพยากรน้ำมัน ไม่น่าจะเกิดปัญหาเศรษฐกิจได้ แต่ก็ยังเกิดวิกฤติหนี้จนได้ มาต้นปีนี้ สหภาพยุโรปก็เจอวิกฤติหนี้สินของประเทศกรีซ โปรตุเกส อิตาลี และสเปน รวมเรียกกันว่าประเทศกลุ่ม PIGS (ย่อมาจาก Portugal, Italy, Greece และ Spain) ทำเอาค่าเงินยูโรร่วงลงไปอย่างน่าตกใจ จนทำให้บรรดาประเทศต่างๆในกลุ่มยูโรต้องรีบออกมาตรการพยุงกันใหญ่ ทั้งๆที่มองให้ละเอียดแล้ว แต่ละมาตรการเป็นการเพิ่มหนี้สินเข้าไปอีกทั้งสิ้น

          จากวิกฤติหนี้สินรัฐบาลในยุโรป (2010 European Sovereign Debt Crisis) ทำให้ผมเพิ่มความสนใจในเรื่องค่าเงิน และเงินตราสกุลต่างๆมากขึ้น จากการค้นคว้าของผม ผมคิดว่าในบรรดาสิ่งประดิษฐ์ต่างๆที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์มานั้น เงินตรา (Currency) เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มหัศจรรย์ที่สุด เพราะแท้จริงแล้ว เงินตราไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นมา เพื่อใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการซึ่งกันและกัน แต่ได้วิวัฒนาการกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่า ชี้เป็นชี้ตายให้กับมนุษย์บนโลกได้ ดูอย่างวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ของบ้านเรา ค่าเงินบาทที่ร่วงลงอย่างหนักทำให้คนไทยต้องตกงานกันเป็นจำนวนมาก มนุษย์ทองคำหลายคนกลายเป็นยาจก เศรษฐีวันนั้นกลายเป็นเจ้าสัวเยสเตอร์เดย์ มีคนฆ่าตัวตายไปหลายคนจากวิกฤติดังกล่าว ประเทศไหนมีวิกฤติค่าเงิน เราสามารถคาดการณ์ได้เลยว่า อีกไม่นานก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือผู้นำประเทศ

          เมื่อเห็นความสำคัญดังกล่าว ผมจึงคิดที่จะนำโหราศาสตร์มาวิเคราะห์ดูว่า เราจะสามารถมองเห็นอะไรได้บ้างจากดวงชะตาของเงินตราสกุลต่างๆ ซึ่งผลการวิเคราะห์น่าจะทำให้มองเห็นอะไรดีๆหลายๆอย่าง จึงเป็นที่มาของบทความเนื่องในวันโหรจรัญในปีนี้ (พ.ศ. 2553)

          อีกทั้ง ผมได้ไปเปิดอ่านบทความเก่าๆที่เก็บสะสมไว้ พบว่า เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2542 อาจารย์วิโรจน์ กรดนิยมชัย อาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียนให้กับผม ได้เขียนบทความชื่อ “การปริวรรตเงินตรา” เพื่อระลึกการจากไปครบรอบ 6 ปีของอาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์ ในวันที่ 15 มีนาคม 2542 ขณะที่อาจารย์วิโรจน์เขียนนั้น ดาวพฤหัสโคจรอยู่ที่ประมาณ 0 เมษ กาลเวลาผ่านไปมาถึงวันนี้ ดาวพฤหัสก็โคจรครบรอบจักรราศีพอดี จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการบูชาครูด้วยการเขียนบทความในหัวข้อที่คล้ายๆกัน

          เมื่อตั้งใจแล้วว่าจะเขียนบทความเกี่ยวกับเงินตราสกุลหลักของโลก ผมจึงหาวิธีการคัดกรองว่าจะวิเคราะห์เงินตราสกุลใดบ้าง เพราะเงินตราสกุลต่างๆในโลกนี้มีอยู่มากมายเหลือเกิน ผมจึงไปหาข้อมูลว่า เงินตราที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น มีสัดส่วนอย่างไร ก็ได้ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ดังนี้

รูปที่ 1 : สัดส่วนเงินตราสกุลที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ปี 2009

          จากแผนภูมิดังกล่าวจะเห็นว่า เพียงแค่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) และเงินยูโร รวมกันก็เป็น 90% ของเงินตราที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศแล้ว ผมจึงตัดสินใจวิเคราะห์เงินตราทั้ง 2 สกุลนี้แน่นอน แต่เรามองข้ามขนาดประเทศจีนไปหรือเปล่า? ผมจึงไปค้นข้อมูลอีกชุดนั่นคือ ไปดูว่าประเทศใดมีขนาดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะประเทศนั้นย่อมส่งผลต่อตลาดเงินตราระหว่างประเทศแน่นอน ก็พบข้อมูลดังนี้

          จะเห็นว่า ขนาดทุนสำรองของประเทศจีนมีมูลค่าสูงถึง 25%ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกเลยทีเดียว  ส่วนประเทศไทยของเราก็มีขนาดทุนสำรองระหว่างประเทศติดอันดับต้นๆของโลกเหมือนกัน

          จากข้อมูลทั้งสองชุด ผมจึงสรุปว่า จะวิเคราะห์ดวงชะตาของเงินตรา 4 สกุล ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินยูโร เงินหยวนจีน และเงินบาทไทย เพราะว่าเงินตรา 3 สกุลแรกมีอิทธิพลสูงสุดในโลก และเงินบาทไทยเป็นเงินตราของประเทศเรา ส่งผลต่อชีวิตของเราๆท่านๆทุกเมื่อเชื่อวัน

เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

          เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1792 จากกฎหมายเหรียญกษาปณ์ ซึ่งประกาศให้เงินดอลลาร์เป็นหน่วยของเงินตราในประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ผมกลับคิดว่า หากเราจะวิเคราะห์ดวงชะตาของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เราควรวิเคราะห์จากดวงกำเนินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve Bank (Fed) มากกว่า เพราะว่า Fed เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการควบคุมปริมาณเงินของประเทศ รวมถึงเป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินของประเทศ จึงมีอิทธิพลสำคัญต่อความเป็นไปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯในปัจจุบัน

          Fed ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456) เวลา 18:02 น. เพราะเป็นเวลาที่ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ได้ลงนามใน Federal Reserve Act เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย วันเวลาดังกล่าวได้รับการบันทึกอย่างถูกต้องเพราะว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งในการถ่ายทอดวิทยุกระจายเสียงจากทำเนียบขาวเป็นครั้งแรก ในบันทึกระบุว่าประธานาธิบดีวิลสันได้ลงนามและประทับตราลงบนกฎหมายตามเวลาดังกล่าว

FED Natal Chart

 
รูปที่ 2 : ดวงกำเนิด ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา

          จากดวงชะตาของ Fed จุดสังเกตที่เห็นได้ชัด เริ่มต้นจาก อาทิตย์อยู่ 1 มกร องศาแรกหลังอาทิตย์โคจรปัดใต้สุด ถือเป็นจุดทวารของโลก บ่งบอกว่า องค์กรแห่งนี้มีบทบาทในการบริหารจัดการ หรือพูดได้ว่าคอยควบคุมกำกับ ความเป็นไปในโลกใบนี้นั่นเอง เมื่อมองไปที่ตำแหน่งของจันทร์ ก็สถิตที่ราว 15 องศาราศีพิจิก ซึ่งก็เป็นจุดจุลทวารของโลก อีกทั้งราศีพิจิกก็เป็นราศีการเงินของโลก จึงตอกย้ำว่า Fed คอยดูแลฟูมฟักระบบการเงินของโลก พูดว่า ทำหน้าที่เหมือนมารดาของระบบการเงินโลกก็พอได้ หากเราต้องการค้นหาว่าเป้าหมายที่แท้จริงขององค์กรนี้คืออะไร เราก็ต้องไปดูที่เมอริเดียนก็พบว่า อยู่ตำแหน่ง 0 เมษ ก็เป็นจุดทวารของโลกใบนี้อีก Fed จึงถือกำเนิดมาเพื่อต้องการครอบครองและมีอิทธิพลเหนือโลกใบนี้จริงๆ ที่สำคัญการแสดงอิทธิพลของ Fed จะเป็นไปอย่างไม่เปิดเผยอย่างโจ่งแจ้ง เพราะพฤติกรรมที่คนทั่วไปเห็นจะออกมาด้วยลีลาของอาทิตย์ในราศีมกร ก็คือ การดำเนินการอย่างมีหลักการ เป็นระบบ แต่ลึกๆแล้ว Fed จะพยายามเข้ามีอิทธิพลรุกรานแทรกแซงระบบการเงินทั่วโลกตามแบบของเมอริเดียนราศีเมษ

          ลัคนาของ Fed อยู่ 18 องศาราศีกรกฎ เป็นราศีแห่งการปกป้องคุ้มครอง ซึ่งเป็นราศีเดียวกับอาทิตย์ของดวงชะตาประเทศสหรัฐอเมริกา Fed ห่างกันเพียง 5 องศา จึงเป็นองค์กรที่คอยดูแลระบบการเงินของสหรัฐอเมริกา พูดง่ายๆคือ เห็นประโยชน์ของสหรัฐฯมาก่อนประเทศอื่นๆทั้งปวงนั่นเอง  

          เพียงแค่เราดูตำแหน่งจุดเจ้าชะตา เราก็พอรู้จัก Fed มากขึ้น และเมื่อเราดูการทำมุมของจุดเจ้าชะตากับดาวต่างๆ เราก็รู้จักองค์กรนี้ดีขึ้นไปอีก เริ่มจาก อาทิตย์เล็งกับพลูโตที่อยู่ตำแหน่ง 0 กรกฎ หมายถึง Fed เกิดมาเพื่อปฏิรูประบบการเงินของโลก และการที่อาทิตย์ทำมุมแข็ง (Hard Aspects) กับจุดเจ้าชะตาอื่นๆ ทั้งฉากกับเมอริเดียน และ 45 องศากับจันทร์ บ่งบอกว่า การดำเนินการต่างๆของ Fed ย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบากเสมอ ไม่ได้เป็นองค์กรที่ทำงานด้วยความราบรื่นแต่อย่างใดเลย พอมาวิเคราะห์ศูนย์รังสี พบว่า อาทิตย์ = อังคาร/เสาร์ = ลัคนา/เสาร์ = อังคาร/พุธ = มฤตยู/อพอลลอน ก็ตอกย้ำความยุ่งยากในการบริหารของ Fed มากขึ้นไปอีก และขยายความไปอีกว่า Fed เองก็มีความห่างเหินจากสาธารณชนมากทีเดียว ศูนย์รังสีคู่สุดท้าย มฤตยู/อพอลลอน ทำให้ผมนึกสงสัยอยู่ว่า เบื้องหลังของ Fed มีนักโหราศาสตร์ท่านใดคอยให้คำปรึกษาอยู่หรือไม่? หรือแม้แต่ตัวผู้นำของ Fed เองอาจเป็นนักโหราศาสตร์เองก็เป็นได้ 

          เมอริเดียนกุมกับแอดเมตอส ทำมุม 135 องศากับจันทร์ ตั้งฉากกับพลูโต บ่งบอกว่า Fed มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการเข้ามาดูแลระบบการเงินของโลก มาดูการทำมุมกับศูนย์รังสี พบว่า เมอริเดียน = อาทิตย์/พลูโต = ลัคนา/พลูโต = เนปจูน/วัลคานุส แม้ต่ศูนย์รังสีก็ตอกย้ำความต้องการเข้าไปปฏิรูประบบการเงินโลก แต่ในลีลาที่ซ่อนเร้นนั่นเอง ที่บอกว่าลีลาที่ซ่อนเร้น ก็เพราะว่า คนส่วนมากมักคิดว่า Fed คือหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เพราะ Fed นั้นถือหุ้นโดยนายธนาคารสำคัญๆของสหรัฐฯ แต่มีอำนาจเสมือนหน่วยงานของรัฐนั่นเอง ถ้าจะพูดให้ชัดเจนก็คือ กฎหมายก่อตั้ง Fed นี้คือการโอนอำนาจการบริหารควบคุมนโยบายการเงินจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไปสู่องค์กรของบรรดานายธนาคารที่คอยปกป้องผลประโยชน์ของนายทุนเป็นสำคัญนั่นเอง ซึ่งตรงกับคำพูดของเมเยอร์ แอมสเชล รอธไชลด์ ทายาทตระกูลรอธไชลด์ อภิมหาเศรษฐีที่กุมชะตากรรมการเงินของโลกมาหลายร้อยปีจนถึงยุคปัจจุบัน ที่ว่า “ให้ผมควบคุมปริมาณเงินของประเทศ แล้วผมจะไม่สนใจเลยว่าใครเป็นคนออกกฎหมาย” 

          ลัคนา กุมอังคาร และทำมุม 45 องศากับวัลคานุส  แสดงว่า การกระทำของ Fed ย่อมส่งผลต่อสังคมอย่างรุนแรง อีกทั้งในเรือนที่ 1 มีอังคาร เซอุส เนปจูน คิวปิโด ลอยอยู่ จึงเป็นสมาคมหรือองค์กรที่มีรวมตัวกันด้วยความลึกลับโดยมีเป้าหมายภารกิจชัดเจน รวมถึง ลัคนา = อาทิตย์/มฤตยู = จันทร์/ฮาเดส = พลูโต/คิวปิโด = อาทิตย์/คิวปิโด = มฤตยู/พลูโต แสดงว่า การทำงานของ Fed ย่อมมีบรรยากาศของความตึงเครียด วิตกกังวลอยู่เสมอ และการมีพลูโตในสมการดาวนี้ ก็ตอกย้ำภารกิจการปฏิรูประบบการเงินให้หนักแน่นยิ่งขึ้น 

          โดยสรุปแล้ว ดวงชะตา Fed ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเข้าไปมีบทบาทสำคัญในระบบการเงินของโลก โดยได้ปฏิรูประบบการเงิน จากในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ประเทศต่างๆได้สำรองเงินตราด้วยทองคำเป็นสำคัญ แต่ภายหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) และสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ประเทศในโลกนี้ต่างยกเลิกมาตรฐานทองคำ และมาใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นทุนสำรองแทน 

          ข้อตกลงการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศนั้นเกิดขึ้นในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกกันว่า “ข้อตกลงเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods Agreement)” เพราะมีการประชุมจากตัวแทนประเทศต่างๆ 44 ประเทศ ที่เมืองเบรตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการระบบการค้าและการเงินของโลก เมื่อกรกฎาคม 1944 มติสำคัญของการประชุมนี้มีอยู่หลายเรื่อง เช่น จัดตั้งให้มีธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่ที่สำคัญต่อระบบเงินตราของโลกที่สุดคือ การตกลงว่าทุกประเทศจะตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรากับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสหรัฐฯจะเป็นผู้สำรองทองคำเพื่อหนุนหลังเงินดอลลาร์ฯเองเพื่อที่ว่าเมื่อประเทศอื่นต้องการนำเงินดอลลาร์ฯมาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำก็สามารถทำได้ โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้เท่ากับ  35 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับทองคำ 1 ออนซ์ ข้อตกลงนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการเงินโลก เพราะเป็นการติดปีกให้กับสหรัฐอเมริกา ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯกลายเป็นเงินตราอันดับหนึ่งของโลกทันที

FED vs Bretton Woods

 
รูปที่ 3 : ดวงชะตา Fed vs ข้อตกลงเบรตตันวูดส์

          จากรูปที่ 3 เราพบว่า ข้อตกลงเบรตตันวูดส์เกิดขึ้นเมื่อดาวเสาร์จรได้มากุมกับพลูโตกำเนิดและอาทิตย์กำเนิดของ Fed บ่งบอกว่า องค์กรมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปครั้งสำคัญ, ดาวมฤตยูจรมากุมเสาร์กำเนิด และเล็งพุธกำเนิด หมายถึง การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการเจรจาอย่างฉับพลันหรือคาดไม่ถึง, ดาวเนปจูนจรเล็งเมอริเดียนกำเนิด ตั้งฉากอาทิตย์กำเนิด หมายถึง เป็นการเจรจาพูดคุยอย่างลับๆ ไม่เปิดเผย มีความคลุมเครือ เกี่ยวกับอนาคตการดูแลระบบการเงิน และอาจหมายถึงความเฟื่องฟูของ Fed อีกด้วย, พลูโตจรตั้งฉากจันทร์กำเนิด เน้นเรื่องการปฏิรูปเปลียนแปลงขององค์กร ที่สำคัญก็คือ ในดวงเบรตตันวูดส์ ดาวพุธและเซอุสกุมกันอยู่ในราศีสิงห์ ตั้งฉากกับโครโนสในราศีพฤษภ และทำมุมเท่ากับอาทิตย์และเมอริเดียนกำเนิดของ Fed จึงเป็นแรงส่งให้ Fed สามารถออกนโยบายหรือคำสั่งที่ควบคุมการเงินของโลกได้นั่นเอง

          จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ คือ เมื่อ 15 สิงหาคม 1971 ประธานาธิบดีนิกสันได้ยกเลิกการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯกับทองคำ นั่นหมายความว่า นับแต่นั้น เงินดอลลาร์สหรัฐฯไม่ได้มีทองคำหนุนหลังใดๆอีกต่อไป รวมถึงเงินสกุลต่างๆทั่วโลกที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นทุนสำรอง ก็ไม่ได้มีทองคำหนุนหลังโดยอ้อมอีกต่อไป โลกการเงินได้ก้าวเข้าสู่ยุคเงินตราไร้สิ่งหนุนหลัง (Fiat Money) อย่างแท้จริง เหตุการณ์นี้มักเรียกกันว่า Nixon Shock

FED vs Nixon Shock

 
รูปที่ 4 : ดวงชะตา Fed vs นิกสันยกเลิกมาตรฐานทองคำ

          ขณะที่ประธานาธิบดีนิกสันได้ประกาศลอยตัวเงินดอลลาร์ฯจากทองคำ พบว่า ในดวงชะตา Fed ก็เป็นปรากฏการณ์ Saturn Return ครั้งที่ 2 ของ Fed พอดี การที่ดาวเสาร์จรกลับมาที่ตำแหน่งเดิมบนจักรราศี หมายถึง รอบการเปลี่ยนแปลงสำคัญขององค์กร (Saturn Return ครั้งแรกของ Fed เกิดก่อนข้อตกลงเบรตตันวูดส์เพียงปีเดียว นั่นคือ ปี 1943), ดาวมฤตยูจรอยู่ในราศีตุล เล็งเมอริเดียนกำเนิด เท่ากับ อาทิตย์/ลัคนา แสดงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เห็นได้จากการประกาศดังกล่าว นิกสันไม่ได้ปรึกษากับทาง IMF หรือแม้แต่กระทรวงการต่างประเทศของตนเองเลย

          ดาวพลูโตจร มาเล็งเมอริเดียนกำเนิด ตั้งฉากอาทิตย์และพลูโตกำเนิด เป็นการทำมุมฉากครั้งแรกของพลูโตจรกับพลูโตกำเนิด ส่งผลให้ Fed มีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรครั้งสำคัญ แต่ยังถือว่าเป็นข้างขึ้นของวงรอบพลูโต ทำให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับ Fed มากขึ้น 

          เนปจูนจรอยู่ที่ 0 องศาราศีธนู ทำมุมตรีโกณกับเมอริเดียนและเนปจูนกำเนิด เกิดโครงสร้าวตรีโกณใหญ่ (Grand Trine) อีกทั้ง พฤหัสจรกำลังวิ่งเข้ามากุมกับเนปจูนจร จึงไม่แปลกว่าการประกาศของนิกสันครั้งนี้ทำให้เงินตราทั่วโลกกลายเป็น เงินตราไร้สิ่งหนุนหลัง (Fiat Money) ทันที พูดง่ายๆคือ กลายเป็นเงินสมมติ ไม่มีสินทรัพย์ที่เป็นกายภาพอย่างทองคำหรือโลหะเงินหนุนหลังจริงๆ สมดังความหมายของพฤหัส-เนปจูน นั่นคือ “การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินโดยไม่มีภาคเศรษฐกิจจริงรองรับ” และไม่แปลกที่ประกาศดังกล่าวของนิกสัน ทำให้เกิดการพุ่งขึ้นของราคาทองคำอย่างรวดเร็ว (อาทิตย์และศุกร์จรอยู่ร่วมเรือนที่ 2 ทำมุมตั้งฉากกับพฤหัสเนปจูนจรในเรือนที่ 5 อีกด้วย) โดยตอนสิ้นปี ราคาทองคำก็เพิ่มขึ้นไป 13.5% ต่อมาในปี 1972 ราคาทองคำเฉลี่ยก็พุ่งไปที่ 58.22 ดอลลาร์ฯ/ออนซ์ ปี 1973 พุ่งไปที่ราคาเฉลี่ย 97.80 ดอลลาร์ฯต่อออนซ์ ปี 1974 ราคาทองคำเฉลี่ยอยู่ที่ 158.93 ดอลลาร์ฯต่อออนซ์ ปี 1975 ยังคงวิ่งต่อไปที่ราคาเฉลี่ย 160.90 ดอลลาร์ฯต่อออนซ์ เพียง 4 ปี ราคาทองคำก็วิ่งไปถึง 3.6 เท่า หรือคิดเป็น 460% เลยทีเดียว 

 
รูปที่ 5 : ราคาทองคำ (ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์) ระหว่าง ปี 1971-1979 

          จากการวิเคราะห์เหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมาในอดีต ทำให้เรามั่นใจมากว่า ดวงชะตา Fed ที่เราใช้นั้นสามารถนำมาใช้ในการพยากรณ์เหตุการณ์ความเป็นไปของเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาได้จริงๆ ดังนั้น หากเราจะวิเคราะห์เหตุการณ์ปัจจุบัน เราก็สามารถใช้ดวงชะตาดังกล่าวด้วยความมั่นใจ 

          มาดูดวงจรปัจจุบัน ขณะนี้บนท้องฟ้าเกิดปรากฏการณ์ “โครงสร้างกางเขนใหญ่ (Grand Cross) ในจรราศี” โดยมีดาวพฤหัสกุมดาวมฤตยูอยู่ราศีเมษ ฮาเดสอยู่ราศีกรกฎ เสาร์ในราศีตุล และพลูโตในราศีมกร โครงสร้างส่งผลกดดันต่อ Fed และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างชัดเจน เพราะดวง Fed มีจุดเจ้าชะตาอยู่ตรงจรราศี ได้แก่ เมอริเดียน 0 เมษ, อาทิตย์ 1 มกร, ลัคนา 18 กรกฎ รวมถึงจันทร์ก็อยู่ที่ 14 กันย์ ตั้งรับกับโครงสร้างกางเขนใหญ่พอดี 

FED vs Cardinal Climax           
รูปที่ 6 : ดวงชะตา Fed vs Cardinal Climax 

          มฤตยูจร กุมเมอริเดียนกำเนิด และตั้งฉากกับอาทิตย์กำเนิด นั้น บ่งบอกถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นใน Fed และตัวเงินดอลลาร์สหรัฐฯเอง มีการท้าทายจากประเทศต่างๆถึงสถานะความเป็นผู้นำของเงินดอลลาร์สหรัฐฯว่าจะยังคงไว้ได้หรือไม่ หรือโลกควรมองหาเงินสกุลใหม่หรือระบบการเงินใหม่ที่จะรักษาสมดุลของระบบการเงินโลกได้ดีกว่านี้ ไม่ให้ปั่นป่วนเพราะความไร้วินัยทางการเงินการคลังของสหรัฐฯ อย่างที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม พฤหัสจรที่กุมเมอริเดียนกำเนิดอยู่นั้น เป็นผู้ช่วยสำคัญในการพยุงเงินดอลลาร์สหรัฐฯให้ยังคงไม่ด้อยค่าลงไปมากนักในปัจจุบัน 

          เนปจูนจร เล็งกับอพอลลอนกำเนิด ทำมุมเท่ากับ เมอริเดียน/พฤหัส แสดงถึงความอ่อนแอลงของอิทธิพลทางการค้าของ Fed และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดาวพลูโตเองก็โคจรมาเล็งพลูโตกำเนิด ถือเป็นครึ่งหนึ่งของวงรอบดาวพลูโต อาจกล่าวได้ว่า สถานะปัจจุบันเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดของเงินดอลลาร์ฯแล้ว พลูโตจรเล็งอาทิตย์กำเนิด หมายถึง ต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของ Fed จึงจะเห็นทางรอดของเงินตราอันดับหนึ่งของโลกสกุลนี้ 

เงินยูโร 

          ตั้งแต่ยุโรปสูญเสียฐานะความเป็นมหาอำนาจของโลกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามโลกโดยตรงและเกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล ประเทศในยุโรปก็ได้มีแนวคิดรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองบนเวทีเศรษฐกิจโลก โดยต่อมาความร่วมมือดังกล่าวได้กลายเป็น สหภาพยุโรป (European Union) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992  

          ในส่วนของเงินตรานั้น กลุ่มประเทศในยุโรป ก็มีแนวคิดที่จะรวมเงินตราสกุลต่างๆของแต่ละประเทศสมาชิกให้กลายเป็นเงินตราสกุลเดียวกัน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวทางการค้าและเศรษฐกิจภายในประเทศสมาชิกด้วยกัน และยังเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองในมิติของเงินตราบนเวทีโลกอีกด้วย หลังจากพูดคุยหารือกันมานาน กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปก็ได้เริ่มใช้เงินสกุลยูโร (Euro) ตั้งแต่ 1 มกราคม ค.ศ.1999 เป็นต้นมา โดยในช่วงแรกเป็นการเริ่มใช้เงินตราที่ไม่ได้อยู่ในรูปของธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ แต่เริ่มใช้ในรูปแบบของ เช็คเดินทาง, การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์, การโอนเงินระหว่างธนาคาร ฯลฯ ก่อน ต่อมาจึงได้เริ่มนำธนบัตรและเหรียญกษาปณ์มาหมุนเวียนใช้จริงตั้งแต่ 1 มกราคม ค.ศ. 2002  

          ในการวิเคราะห์ทางโหราศาสตร์ ผมตัดสินใจเลือกใช้ดวงกำเนิดของเงินยูโร เป็นวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1999 เวลา 0:00 น. เนื่องจากถือว่าตั้งแต่เวลานั้น เงินยูโรได้มีตัวตนขึ้นมาจริงๆบนโลกใบนี้แล้ว มีมูลค่าที่สามารถแลกเปลี่ยนโอนทำรายการได้ตามกฎหมาย สำหรับสถานที่ถือกำเนิดนั้น ผมเลือกใช้ที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต (Frankfurt) ประเทศเยอรมนี เป็นเมืองเกิดของเงินยูโร เพราะที่นั่นเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ผู้ควบคุมดูแลนโยบายการเงินที่ส่งผลโดยตรงต่อค่าเงินยูโร 

    Euro Natal Chart       
รูปที่ 7 : ดวงชะตาเงินสกุลยูโร

          จุดเด่นของดวงชะตานี้คล้ายกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นคือ จุดเจ้าชะตาอยู่ที่ราศีทวารหลายจุด เริ่มจาก เมอริเดียน 3 องศาราศีกรกฎ, ลัคนา 2 ตุล และอาทิตย์ที่ 10 มกร  ส่วนจันทร์เองก็อยู่ตำแหน่ง 24 มิถุน ใกล้กับราศีกรกฎเช่นกัน การที่มีจุดเจ้าชะตาอยู่ราศีทวารหลายจุดอย่างนี้ แสดงว่า เงินยูโรมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ทั่วไปบนโลกใบนี้มากทีเดียว จึงไม่แปลกที่เราพบว่า ประเทศต่างๆใช้เงินยูโรเป็นทุนสำรองอยู่ถึง 27% เป็นรองเพียงเงินดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้นเอง

          อาทิตย์ราศีมกร บ่งบอกว่า องค์กรนี้มีลีลาการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบ และมีอิทธิพลต่อระบบการเงินของโลก จันทร์ราศีมิถุน แสดงว่า การสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการองค์กรนี้ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะเงินยูโรเป็นเงินตราของประเทศหลายสิบประเทศในยุโรป การจะดำเนินนโยบายใดๆก็ต้องผ่านการพูดจาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในประเทศสมาชิกจนได้ข้อยุติจึงจะสามารถดำเนินการได้ 

          เป้าหมายสำคัญของการก่อตั้งเงินสกุลยูโรขึ้นมา เราสามารถดูได้จากตำแหน่งของเมอริเดียน ซึ่งอยู่ที่ราศีกรกฎ แสดงว่า สหภาพยุโรปต้องการให้เงินยูโรเกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องคุ้มครองดูแลรักษาระบบเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปให้มีความปลอดภัย แต่สภาพของราศีกรกฎ ก็ชี้ให้เราเห็นว่า องค์กรนี้มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ หากเกิดวิกฤติขึ้นมาจะไม่สามารถดำเนินการอย่างเด็ดขาดได้เหมือนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่มีเมอริเดียนราศีเมษ 

          ลัคนาราศีตุล แสดงว่า การดำเนินนโยบายต่างๆของเงินยูโร ต้องมีการประสานผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก ตอกย้ำถึงความไม่เด็ดขาดในการดำเนินนโยบายต่างๆ เห็นได้ชัดจากเมื่อเกิดวิกฤติหนี้ของกรีซ สหภาพยุโรปต้องใช้เวลานานกว่าจะตัดสินใจออกนโยบายมาให้ชัดเจน แตกต่างจากของสหรัฐฯ ที่อลัน กรีนสแปน ประธาน Fed สามารถเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินได้อย่างรวดเร็ว สามารถประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ และตัดสินใจลดดอกเบี้ยฉุกเฉินได้ภายในวันเดียวเท่านั้น ราหู อยู่ราศีสิงห์ ในเรือนที่ 11 ก็บ่งบอกลีลาการทำงานไปในทางเดียวกัน นั่นคือ ลักษณะการนำในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเงินยูโรเป็นการตัดสินใจในกลุ่มประเทศสมาชิก ไม่สามารถตัดสินใจไปเดี่ยวๆได้ 

          มาดูการทำมุมของดาวและศูนย์รังสี เริ่มจาก อาทิตย์ = ราหู = มฤตยู/พลูโต = เมษ/อังคาร = เมษ/อพอลลอน = จันทร์/ศุกร์ = เมษ/วัลคานุส เงินสกุลนี้เป็นการปฏิวัติระบบการเงินของโลกครั้งสำคัญ, เมอริเดียน = ลัคนา = เซอุส = แอดเมตอส = ฮาเดส/วัลคานุส = อาทิตย์/โครโนส = คิวปิโด/โพไซดอน การก่อตั้งเงินตราสกุลนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เห็นได้จากการที่อังกฤษ ประเทศสำคัญของยุโรป ไม่ยอมเข้าร่วมใช้เงินสกุลยูโร แต่ยังคงใช้เงินปอนด์เช่นเดิม แต่เมื่อเงินสกุลนี้เกิดขึ้นมาแล้วจะมีอิทธิพลสูงในเวทีการเงินโลก นอกจากนั้น ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มใช้จนกระทั่งปี 2002, จันทร์ = พุธ = โครโนส = พฤหัส = มฤตยู = อาทิตย์/พลูโต = เมอริเดียน/ฮาเดส เงินตราสกุลนี้ได้ปฏิรูปและมีอิทธิพลสำคัญต่อระบบการเงินของโลก ภายใต้การเสียสละของประเทศสมาชิก 

          สามปีต่อมา เมื่อพฤหัสจรยกเข้าเรือนที่ 10 ของดวงชะตาเงินยูโร เงินยูโรในรูปของธนบัตรและเหรียญกษาปณ์จึงเริ่มใช้งานในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2002 ดาวพฤหัส ดาวแห่งการขยายตัวและความสำเร็จนำมาซึ่งความเข้มแข็งของเงินยูโร ส่งผลให้ค่าเงินยูโรเริ่มแข็งตัวมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อพลูโตโคจรมาเล็งกับเมอริเดียนกำเนิด ตั้งฉากกับลัคนากำเนิดในปี 2008

 
รูปที่ 8 : กราฟแสดงอัตราอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินยูโร กับเงินสกุลหลักอื่นๆ 

          การยกเข้าสู่ราศีมกรของดาวพลูโต ส่งผลชัดเจนต่อเงินยูโร เนื่องจากเป็นแกนสำคัญในดวงชะตาเงินยูโร เพราะทำมุมกุม เล็ง และฉากกับจุดเจ้าชะตาสำคัญเริ่มจาก จันทร์ ลัคนา เมอริเดียน และอาทิตย์ ในช่วงเวลานั้น ทางสหรัฐฯก็เริ่มเกิดวิกฤติ Subprime ลามเป็นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ระบาดไปทั่วโลก 

 Euro vs Cardinal Climax
รูปที่ 9 : ดวงชะตา เงินยูโร vs Cardinal Climax 

          ปรากฏการณ์ “โครงสร้างกางเขนใหญ่ (Grand Cross) ในจรราศี” โดยมีดาวพฤหัสกุมดาวมฤตยูอยู่ราศีเมษ ฮาเดสอยู่ราศีกรกฎ เสาร์ในราศีตุล และพลูโตในราศีมกร ในปีนี้ ส่งผลรุนแรงต่อเงินยูโร โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติหนี้รัฐบาลในประเทศกรีซ ลามไปสู่ประเทศกลุ่ม PIGS อันได้แก่ โปรตุเกส, อิตาลี, กรีซ และสเปน จนทำให้ค่าเงินยูโรร่วงลงอย่างหนัก จากดวงชะตาของเงินยูโร เราเห็นลีลาการแก้ปัญหาของยูโรที่แตกต่างจากเงินดอลลาร์ฯอย่างชัดเจน เพราะสหรัฐฯได้แก้ปัญหาอย่างรวดเร็วฉับพลันตามลีลาของเมอริเดียนอยู่เมษ แต่ยูโรกลับแก้ปัญหาด้วยความระมัดระวังและต้องเสียเวลากับการปรึกษาหารือในบรรดาประเทศสมาชิกมากกว่า จนทำให้ค่าเงินยูโรตกต่ำอย่างรวดเร็ว การที่ประเทศกรีซอยู่ในเขตยูโรโซนกลับทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจทำได้ลำบากกว่าประเทศทั่วไป เพราะแม้กรีซได้ใช้มาตรการตัดค่าใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อลดภาระหนี้ แต่กรีซไม่สามารถลดค่าเงินเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจเหมือนที่ไทยกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนทำตอนวิกฤติต้มยำกุ้งได้ เพราะประเทศอื่นในยูโรโซนคงไม่ยินยอมให้ลดค่าเงินยูโรลงอย่างรวดเร็วตามที่กรีซอยากได้แน่นอน นี่คือปัญหาใหญ่ของเงินยูโร 

          เห็นภาพดวงอย่างนี้แล้ว คงจะคาดหวังได้ยากที่จะให้เงินยูโรจะมาแสดงบทบาทพระเอกแทนเงินดอลลาร์ฯ ยิ่งพอดูโค้งสุริยยาตร์อีก 2-3 ปีข้างหน้าแล้ว พบว่า เสาร์ v1 = จันทร์, มฤตยู v1 = อาทิตย์, เนปจูน v1 = เมษ, พลูโต v1 = พฤหัส ก่อนที่จะไปเท่ากับจันทร์ ท่าทางเงินยูโรต้องเจออุปสรรคอันใหญ่หลวงเลยทีเดียวกว่าจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ หากว่าประเทศสมาชิกจะไม่แตกแยกกันไปเสียก่อน

เงินหยวน

          เงินหยวนของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่นั้น มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า เหรินหมินปี้ (Renminbi) แปลว่า เงินตราของประชาชน เป็นเงินตราที่ก่อกำเนิดขึ้นโดยพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน เพื่อใช้ในดินแดนที่พรรคครอบครองอยู่ ขณะที่ประกาศใช้เงินตราสกุลนี้ พรรคฯยังอยู่ในระหว่างการทำสงครามชิงแผ่นดินกับพรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คอยู่ แต่พรรคคอมมิวนิสต์สามารถยึดครองพื้นที่ของจีนส่วนใหญ่ไว้ได้แล้ว จึงได้ออกเงินตราสกุลใหม่ขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1948 ก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จะประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนประมาณ 1 ปี ผมวางดวงชะตาของเงินหยวนจีนเอาไว้ ณ 0:00 น.ของวันที่ 1 ธันวาคม 1948 เพราะผมเชื่อว่าการจัดพิมพ์ธนบัตรดังกล่าวได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเมื่อก้าวเข้าสู่วันที่ 1 ธันวาคม ธนบัตรใหม่ก็มีผลใช้บังคับทันที 

 RMB Natal Chart
รูปที่ 10 : ดวงชะตา เงินหยวนของจีน 

          วันเริ่มใช้เงินหยวนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตรงกับวันอมาวสี (New Moon) พอดี เพราะจันทร์กำลังจะกุมอาทิตย์สนิทในราศีธนู บ่งบอกว่า เงินตราสกุลนี้เป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของประเทศจีน เป็นเงินตราที่ผ่านการวางแผนมาเป็นอย่างดี โดยมุ่งหวังทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนบรรลุเป้าหมายในระยะยาว เสาร์ที่ 5 องศาราศีกันย์ ทำมุมฉากกับจุดอมาวสีพอดี แสดงว่า ลีลาของเงินตราสกุลนี้จะต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกากฎระเบียบที่ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ 

          เมอริเดียนราศีมิถุน ตรีโกณกับโพไซดอนที่เส้นแบ่งเรือนที่ 2 บ่งบอกถึง เป้าหมายของการก่อตั้งเงินตราสกุลนี้เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนค้าขายแต่อยู่ภายใต้อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ลัคนาราศีกันย์ แสดงถึงการเคลื่อนไหวของเงินตราสกุลนี้เป็นไปอย่างรอบคอบ ผ่านการคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองอย่างดี ลัคนาทำมุม 135 กับฮาเดสในเรือนที่ 8 และราหู ราศีพฤษภในเรือนที่ 8 แสดงว่า การทำให้เงินตราสกุลนี้มั่นคงต้องมีการเสียสละของผู้คนที่เกี่ยวข้อง หรือการเสียสละของเงินตราสกุลนี้ทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น ดังเห็นได้จากนโยบายของจีนที่รักษาเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่าความเป็นจริง (เสียสละ) เพื่อให้รักษาการส่งออกและเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว  

          จุดเด่นสำคัญอีกประการหนึ่งของดวงชะตาเงินหยวน นั่นคือ การกุมกันของอังคารและพฤหัส ในราศีมกรและเรือนที่ 4 เล็งกับมฤตยู 29 องศาราศีมิถุน ในเรือนที่ 10 แสดงว่า การดำเนินนโยบายใดๆให้ประสบความสำเร็จจะทำอย่างเป็นขั้นตอน แต่ประกาศใช้อย่างฉับพลัน ดังจะเห็นได้ว่า ธนาคารกลางของประเทศจีนจะประกาศนโยบายอย่างฉับพลัน โดยตลาดมักจะคาดไม่ถึงเสมอ และก็ประสบความสำเร็จอย่างดี อย่างเช่นเมื่อตอนเดือนมิถุนายน ปีนี้ (2010) ธนาคารกลางประเทศจีนได้ประกาศนโยบายปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนโดยการเพิ่มความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น โดยที่ตลาดการเงินโลกไม่ได้คาดการณ์มาก่อน และนโยบายดังกล่าวก็ประสบผลสำเร็จอย่างดี 

          ในช่วงแรกของเงินหยวน อัตราแลกเปลี่ยนจะผูกติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 2.46 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ต่อมา เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศจีนในทศวรรษ ’80 ทำให้เศรษฐกิจของจีนเปิดมากขึ้น ทำให้ค่าเงินหยวนค่อยๆอ่อนค่าลงไปเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออก จนกระทั่งอ่อนไปถึง 8.62 หยวนต่อดอลลาร์ฯในปี 1994 นั่นคือ ช่วงเวลาที่เสาร์โคจรมาเล็งลัคนา ตั้งฉากกับเมอริเดียน อาทิตย์และจันทร์กำเนิด 

          ต่อมา เมื่อดาวพลูโตโคจรเข้ามากุมตำแหน่งอาทิตย์และจันทร์กำเนิดของดวงชะตาเงินหยวน ในปี 1999 ก็บ่งบอกว่า ถึงยุคที่จีนต้องเริ่มปฏิรูปการดำเนินนโยบายเงินหยวน เริ่มจากการนำเงินหยวนไปใช้ในมาเก๊าซึ่งกำลังได้รับคืนจากโปรตุเกสกลับเป็นของจีนในรูปแบบของบัตรเครดิต และธนาคารกลางจีนยังสามารถรักษาอัตราแลกเปลี่ยนของหยวนให้คงที่อยู่ที่ 8.27 หยวนต่อดอลลาร์ฯได้ระหว่างปี 1997-2005 

          ในปี 2005 ดาวมฤตยูได้โคจรมาเล็งกับลัคนากำเนิด ตั้งฉากกับอาทิตย์ จันทร์ และเมอริเดียนกำเนิด บ่งบอกถึงความตึงเครียดที่กดดันเงินหยวน, เนปจูนจรมาเล็งกับดาวพลูโตกำเนิด แสดงว่าการปฏิรูปจะมีทิศทางที่ทำให้คลายระเบียบกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดลง หรือจะบอกว่าลอยตัวก็ได้, พลูโตจรทำมุม 45 องศากับดาวศุกร์กำเนิด การปฏิรูปในเรื่องการเงิน ทั้งหมดนี้ส่งสัญญาณว่า ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเงินหยวนให้คลายความเคร่งครัดอย่างแน่นอน และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ โดยวันที่ 21 กรกฎาคม 2005 จีนได้ประกาศค่าเงินใหม่ให้แข็งขึ้นเล็กน้อย จาก 8.27 หยวน มาเป็น 8.11 หยวนต่อดอลลาร์ฯ แข็งขึ้นราว 2% และได้ปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตรึงตัว มาเป็นการลอยตัวอย่างมีการจัดการ (Managed Floating Exchange Rate) แต่ช่วงของการลอยตัวมีเพียงไม่เกิน 0.3%เท่านั้น  

          พอมาถึงปี 2008 ดาวเสาร์ได้โคจรมายังตำแหน่งเดิมของตนเองอีกรอบหนึ่ง เรียกกันว่า Saturn Return ทำมุมตรีโกณกับแกนดาวอังคาร-พฤหัส อีกทั้งดาวพลูโตจรได้เข้ามากุมกับดาวอังคารและพฤหัสกำเนิดอีกด้วย ส่งผลให้ในเดือนกรกฎาคม 2008 จีนก็ได้ประกาศนำเงินหยวนไปตรึงค่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐฯอีกครั้ง เนื่องจากเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ขึ้น จีนจึงเข้มงวดกับอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนไปตามวิกฤติที่เกิดขึ้น

 RMB vs Cardinal Climax
รูปที่ 11 : ดวงชะตา เงินหยวน vs Cardinal Climax 

          ปรากฏการณ์ “โครงสร้างกางเขนใหญ่ (Grand Cross) ในจรราศี” โดยมีดาวพฤหัสกุมดาวมฤตยูอยู่ราศีเมษ ฮาเดสอยู่ราศีกรกฎ เสาร์ในราศีตุล และพลูโตในราศีมกร ในปีนี้ ไม่ได้ทำมุมโดยตรงต่อจุดเจ้าชะตาของเงินหยวน แต่กลับไปทำมุมกับแกนอังคาร พฤหัส และมฤตยู ที่สำคัญดาวพฤหัสจรในราศีเมษกลับทำมุมตรีโกณกับอาทิตย์และจันทร์กำเนิด ทำให้แทนที่จะส่งผลร้ายหรือกดดันต่อเงินหยวน อย่างที่เงินดอลลาร์ฯหรือเงินยูโรเจอ กลับกลายเป็นส่งผลดีให้กับเงินหยวนมากกว่า และเมื่อจีนประกาศปฏิรูปนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนจากการตรึงค่ามาเป็นเพิ่มความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น ในวันที่ 19 มิถุนายน 2010 ตลาดการเงินและผู้นำทั่วโลกต่างก็ส่งเสียงชื่นชมต่อนโยบายใหม่ของจีน เพราะนโยบายใหม่ทำให้เงินหยวนจีนแข็งค่ามากขึ้น ทำให้ประเทศอื่นๆสามารถส่งสินค้าไปขายในจีนได้ในราคาที่ถูกลง และลดแรงกดดันต่อสภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศที่บิดเบี้ยวไปได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าทั่วโลกต่างหวังว่าจีนจะปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่ามากกว่านี้ก็ตาม 

          แม้ว่า โครงสร้าง Grand Cross จะส่งผลดีต่อเงินหยวนของจีนตามที่ได้วิเคราะห์ไปแล้วก็จริง แต่หากตั้งคำถามว่า แล้วเงินหยวนจีนจะก้าวขึ้นไปเป็นเงินตราอันดับหนึ่งของโลกได้หรือไม่? เราคงต้องกลับไปดูดวงกำเนิดของเงินหยวน ก็พบว่า เงินหยวนไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อมุ่งหวังจะเป็นอันดับหนึ่งของโลกเลย ที่สำคัญการที่มีดาวเสาร์กำกับทั้งอาทิตย์และจันทร์ อีกทั้งตรีโกณไปยังดาวพฤหัส ย่อมทำให้ประเทศจีนต้องกำกับควบคุมนโยบายเงินหยวนอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด โดยไม่ยอมให้เปิดเสรีการแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นหมายความว่า ประเทศต่างๆคงไม่สามารถนำเงินหยวนไปเป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศได้ เพราะหากเกิดวิกฤติขึ้นมา จีนย่อมออกกฎระเบียบมาปกป้องค่าเงินตนเอง ทำให้ประเทศต่างๆไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินหยวนได้อย่างเป็นอิสระนั่นเอง

เงินบาท  

          แล้วก็มาถึงเงินบาทของเรา ผมเริ่มต้นการหาข้อมูลดวงกำเนิดของเงินบาทเราด้วยการค้นข้อมูลในเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และพบว่า ที่สำนักงานใหญ่ ธปท. ตรงวังบางขุนพรหม มีพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม จึงได้ชักชวนคุณ Phainon ไปชมพิพิธภัณฑ์ ธปท. เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเงินตราไทย และหาข้อมูลเกี่ยวกับดวงกำเนิดเงินบาทไปคราวเดียวกัน 

          พิพิธภัณฑ์ ธปท. ตั้งอยู่ในตำหนักวังบางขุนพรหม ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสถาปัตยกรรมยุคเก่าอันมีรากฐานจากสถาปัตยกรรมยุคเรอเนสซองซ์และบาโรค ที่คงเสน่ห์และมีมนต์ขลัง ด้วยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน ธปท.ได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการเงินตราไทย โดยมีการจัดวางรูปแบบการนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ หากผู้อ่านท่านใดมีเวลา น่าจะหาโอกาสไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง 

          ในเอกสารที่แจกระหว่างการเยี่ยมชม มีรูปภาพ กุญแจทองคำ มีคำอธิบายว่า “กุญแจทองคำ จำลองจากกุญแจทองคำที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ใช้ในพิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๕” ข้อความนี้ทำให้ผมฉุกคิดว่า หากมีการใช้กุญแจทองคำในพิธีเปิด ธปท. ก็น่าจะมีเวลาฤกษ์ในการทำพิธีเปิดเช่นกัน จึงพยายามหาข้อมูลดังกล่าว โชคดีอย่างมากที่การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ธปท. ทำให้ผมได้พบกับคุณอัมพร สาครวาสี ผู้บริหารทีม พิพิธภัณฑ์ ธปท. ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นพี่ที่ได้เรียนวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียนจาก อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย เช่นเดียวกัน คุณอัมพรได้กรุณาช่วยเป็นธุระในการค้นคว้าหาข้อมูลดังกล่าวมาให้ และได้คำตอบในเวลาไม่นาน คำตอบที่ได้รับมาจากคุณสันต์ชัย วงศ์ศรวณีย์ ภัณฑารักษ์อาวุโสของพิพิธภัณฑ์ มีข้อความดังนี้

          “จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในเวลานั้นเป็นประธานในพิธีเปิดตึกสำนักงานใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย  ซึ่งเป็นตึกสำนักงานใหญ่ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ปากคลองผดุงกรุงเกษม (เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่ตั้งสาขาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2431 ตึกนี้เมื่อไทยประกาศสงครามกับสหรัฐและอังกฤษเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 ก็ได้ถูกทางการไทยยึดเพราะเป็นธนาคารสัญชาติอังกฤษ อันเป็นทรัพย์สินของชนชาติศัตรู ปัจจุบันตึกนี้รื้อไปแล้ว บริเวณที่ตั้งเดิมขณะนี้เป็นบริเวณที่ตั้งโรงแรมรอยัลออคิดเชอราตัน ท่าน้ำสี่พระยา) วันที่เปิดตึกคือวัน(พฤหัสบดี)ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 เวลาเปิดตึกประมาณ 09.30 น. กุญแจที่ใช้ไขเป็นกุญแจทองคำแท้ ทำขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ประตูที่เปิดคือประตูกลางตึก (เมื่อขึ้นบันไดหน้าตึก) กุญแจดอกนี้เมื่อเสร็จพิธีแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยได้มอบให้แด่จอมพล ป. เป็นที่ระลึก ภายหลังทายาท (พลตรีอนันต์ พิบูลสงคราม บุตรชายคนโต) ได้มอบให้แก่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ อาคาร รร.จปร.100 ปี เขาชะโงก จ.นครนายก กุญแจที่จัดแสดงอยู่ใน พพภ จำลองขึ้นจากกุญแจของจริงโดยผู้ร่วมดำเนินการคือคุณนลินี เลขะกุลและคุณสิริลักษณ์ สัมปัชชลิต (จ้างช่างเอกชนเป็นผู้หล่อ ทำด้วยโลหะชุบทอง) ช่วง พ.ศ. 2535  

          ธรรมเนียมมอบกุญแจเมืองทองคำหรือทำพิธีเปิดตึกด้วยกุญแจเป็นธรรมเนียมตะวันตก ประเพณีการมอบกุญแจเมืองเริ่มขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่ประเทศอังกฤษ อาทิ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 นายกเทศมนตรีเมืองไวท์ เพลนส์ นิวยอร์ก (White Plains, New York) ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ทูลเกล้าฯ ถวายกุญแจเมืองทองคำที่ระลึก หรือเมืองไทย ตามธรรมเนียมปฏิบัติการมอบกุญแจเมืองทองคำจะมอบให้เฉพาะพระราชอาคันตุกะและอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ สำหรับพิธีเปิดตึกหรืออาคารด้วยกุญแจ สมัยก่อนก็มีอยู่ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้ไขกุญแจเปิดตึกแม้นนฤมิตร โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2492 นายเสริม วินิจฉัยกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไขกุญแจเปิดสถานสวัสดิสงเคราะห์เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2495 แต่พิธีเปิดที่ใช้กุญแจทองคำแบบ ธปท.คงมีน้อยรายมาก เพราะขณะที่บันทึกนี้ยังไม่พบข้อมูลเพิ่มเติม” 

          อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดวงกำเนิดของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอีกข้อมูลหนึ่ง นั่นคือ วันประกาศใช้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย นั่นคือ วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2485 แต่ผมคิดว่า น่าจะใช้วันที่ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ 10 ธ.ค. 2485 มากกว่า เพราะแม้ว่ากฎหมายจะออกมาบังคับใช้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อย่างเป็นทางการ ต้องรอจนกระทั่งพิธีเปิดดังกล่าว จึงเริ่มมีการปฏิบัติงานจริงๆ 

          คราวนี้ เราก็ต้องพิจารณาต่อว่า เราสามารถใช้ดวงชะตาของ ธปท. เป็นตัวแทนของเงินบาทได้หรือไม่? เราก็ต้องกลับไปดูว่าประเทศไทยของเราเริ่มใช้เงินบาทตั้งแต่เมื่อไร? จากที่ค้นคว้าก็พบว่า มีการใช้ บาท เป็นหน่วยของเงินตราตั้งแต่ยุคโบราณ แต่ไม่มีการบันทึกไว้ชัดเจนว่าเริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อไร เพราะดินแดนที่เป็นที่ตั้งของสยามนั้นมีการใช้เงินตรามาอย่างนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ในสมัยอาณาจักรฟูนัน ทำให้ระบุได้ยากว่าเริ่มต้นใช้หน่วยเงินบาทในยุคไหน หน่วยของเงินตราในไทยก็มีหลายหน่วย ตั้งแต่ เบี้ย โสฬส อัฐ ไพ เฟื้อง สลึง บาท ตำลึง ชั่ง และหาบ ที่สำคัญ นโยบายการเงินของไทยเราก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จุดเปลี่ยนสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินของไทยเกิดขึ้นตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ได้เปิดประเทศตามสนธิสัญญาบาวริ่ง มีเงินตราต่างประเทศไหลเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเริ่มใช้ ธนบัตร ตั้งแต่ 29 มิถุนายน 2445 หลังจากนั้น มีความพยายามขอจัดตั้งธนาคารกลางในประเทศไทยขึ้นหลายครั้งโดยชาวต่างประเทศ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฝ่ายไทยเห็นว่าชาวต่างประเทศเหล่านั้นคิดแต่จะเอาผลประโยชน์ฝ่ายเดียว ส่วนไทยเองก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะจัดตั้งขึ้นด้วยตนเอง เพราะขาดบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ ความพยายามในการจัดตั้งธนาคารกลางเริ่มขึ้นอีกครั้งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 จนกระทั่งวันที่ 26 ตุลาคม 2482 พระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้เป็นกฎหมาย และได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ 13 พฤษภาคม 2483 แต่สำนักงานดังกล่าวก็ยังเป็นเพียงการเตรียมพนักงานสำหรับการทำงานในธุรกิจธนาคารกลาง ยังไม่ใช่ธนาคารกลางจริงๆ ต่อมาไม่นานนักก็เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ทางญี่ปุ่นได้พยายามเข้าแทรกแซงด้วยการเสนอให้จัดตั้งธนาคารกลางที่มีที่ปรึกษาและหัวหน้างานเป็นชาวญี่ปุ่น รัฐบาลไทยจึงไม่อาจยอมให้เป็นเช่นนั้นได้ จึงได้ออกกฎหมายเปลี่ยนสำนักงานธนาคารชาติไทยมาเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศใช้เมื่อ 16 เมษายน 2485 และทำพิธีเปิดในวันที่ 10 ธันวาคม 2485 ดังข้อมูลที่ได้รับจากพิพิธภัณฑ์ธปท.ที่ได้อ้างถึงไปแล้ว เราจึงถือได้ว่า การจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการเริ่มต้นของการบริหารนโยบายการเงินของประเทศไทยที่ส่งผลต่อเงินบาทอย่างแท้จริง จึงสามารถนำมาใช้คำนวณเป็นดวงชะตาเพื่อใช้วิเคราะห์และพยากรณ์ความเป็นไปของเงินบาทได้อย่างถูกต้อง 

     

BOT Natal Chart

      
รูปที่ 12 : ดวงชะตา ธนาคารแห่งประเทศไทย 

          เล่าเรื่องประวัติศาสตร์มาเยอะพอสมควรแล้ว เรามาวิเคราะห์พื้นดวงของ ธปท. ดีกว่า เริ่มจาก อาทิตย์กำเนิดของ ธปท. อยู่ที่ 17 องศาราศีธนู ฉากกับคิวปิโดและอพอลลอน แสดงถึงว่า เป็นแหล่งรวมตัวของนักวิชาการ ผู้มีความรู้สูง เป็นองค์กรที่มองการณ์ไกล เล็งอยู่กับวัลคานุส บ่งบอกถึงความมีอำนาจและมีอิทธิพลสำคัญต่อระบบการเงินประเทศ จันทร์อยู่ราศีมกร ตั้งฉากกับแอดเมตอส สะท้อนถึงลักษณะการทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ทำงานด้วยความรอบคอบ อีกทั้งจันทร์ตรีโกณกับโครโนส เมื่อนำไปรวมความหมายกับราหูที่อยู่ราศีสิงห์ ทำให้หน่วยงานนี้เกี่ยวข้องกับผู้นำหรือชนชั้นนำของประเทศ จึงไม่แปลกที่ผู้ว่าการคนแรกคือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และต่อมา ยังมีผู้ว่าการที่เป็นราชนิกุลระดับหม่อมราชวงศ์ 2 ท่านและระดับหม่อมหลวง 1 ท่านเลยทีเดียว ลัคนาอยู่ปลายราศีมกร พออนุมานได้ว่ากำลังเข้าราศีกุมภ์ ทำให้การทำงานในองค์กรนี้อยู่ในภาวะตื่นตัวตลอดเวลา อยู่ท่ามกลางความผันผวนของตลาดการเงินโลก เมอริเดียนอยู่ราศีพิจิก ทำมุมฉากกับพลูโต และ 45 องศากับศุกร์ และพุธ บ่งบอกเป้าหมายขององค์กรนี้คือการเสียสละหรืออุทิศตนเพื่อส่วนรวม โดยการปฏิรูประบบการเงินของประเทศ 

          ผมเข้าไปดูในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า มีการระบุวิสัยทัศน์ (Vision) ขององค์กรไว้ว่า “เป็นองค์กรที่มองการณ์ไกล พนักงานมีความสามารถสูง และอุทิศตน เพื่อดูแลเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นความผันผวนได้อย่างราบรื่น” อ่านแล้วตรงกับดวงกำเนิดของ ธปท.จริงๆ 

          ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา การลดค่าหรือลอยตัวเงินบาทที่สำคัญในประวัติศาสตร์เงินบาท มีด้วยกัน 3 ครั้ง นั่นคือ ครั้งแรก ใน พ.ศ. 2524 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ในปีนั้น มีการลดค่าเงินบาท 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 12 พฤษภาคม 2524 ลดค่าเงินบาทจาก 20.775 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็น 21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดค่าลงราว 1% แต่ต่อมาก็ต้องลดค่าเงินบาทลงอีกในวันที่ 15 กรกฎาคม 2524 จาก 21 บาท/ดอลลาร์ฯ มาเป็น 23 บาท/ดอลลาร์ฯ หรือราว 9% ปัจจัยบนฟ้าที่ส่งผลต่อการลดค่าเงินบาทครั้งนี้มาจากการที่ พฤหัสและเสาร์กุมกันในราศีตุล ทับกับเนปจูนกำเนิดของดวง ธปท. การกุมกันของดาวพฤหัสและดาวเสาร์นั้น ในทางโหราศาสตร์การเงิน เป็นการเริ่มวงรอบใหม่ของเศรษฐกิจ และเมื่อมากุมกันที่ดาวเนปจูนกำเนิดของ ธปท. ที่เป็นดาวเจ้าเรือนที่ 2 หรือเรือนการเงิน ในเรือนที่ 8 ของดวง ธปท. ย่อมเป็นการกระตุ้นการทำงานของดาวเนปจูน เมื่อเราตามไปดูดาวเนปจูน พบว่า เนปจูนจรเพิ่งเลยอาทิตย์กำเนิดมาไม่กี่องศา มากุมพุธและศุกร์กำเนิด ทำมุม 45 กับเมอริเดียนกำเนิด และทำมุม 135 กับพลูโตกำเนิด อีกทั้ง พลูโตจรตั้งฉากกับพฤหัสกำเนิดและศูนย์รังสีลัคนาจันทร์ ทำมุม 135 กับเสาร์กำเนิด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงิน มฤตยูจรกุมอังคารกำเนิด เล็งกับมฤตยูกำเนิด ฉากกับราหูกำเนิด ทำมุม 45 กับจันทร์กำเนิด แสดงถึงเป็นการดำเนินการอย่างฉับพลัน ไม่ได้คาดการณ์มาก่อน  

          พอถึงปี 2527 รัฐบาลพลเอกเปรม ก็ได้ลดค่าเงินบาทอีกครั้ง ในวันที่ 2 พฤศจิกายน โดยลดถึง 15% พร้อมกับการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากตรึงไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯมาเป็นระบบตะกร้าเงินแทน ก่อนหน้าการลดค่าเงินบาท ก็มีการปลดผู้ว่าการ ธปท. จากคุณนุกูล ประจวบเหมาะ มาเป็นคุณกำจร สถิรกุล ในแง่โหราศาสตร์แล้ว การเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนต้องมีดาวพลูโตมาเกี่ยวข้องแน่นอน พอไปดูก็พบว่า พลูโตจรทำมุม 45 องศากับอาทิตย์กำเนิด ตั้งฉากกับลัคนากำเนิด และกำลังเข้ามากุมกับเมอริเดียนกำเนิด แสดงถึง การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเงินบาท องค์กรอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย และตัวผู้นำองค์กรอย่างผู้ว่าการ เนปจูนจรตั้งฉากกับเนปจูนกำเนิด ก็ไปกระตุ้นโครงสร้างเดิมของดาวเนปจูน แล้วยังไปทำมุม 45 องศากับเสาร์จรในเรือนที่ 10 หมายถึงการอ่อนกำลังหรืออำนาจที่ลดทอนลงของผู้ว่าการ จนถูกฝ่ายการเมืองปลดออก และต้องดำเนินนโยบายตามที่รัฐบาลต้องการ มฤตยูจรทำมุม 45 กับลัคนากำเนิด ก็ทำให้เกิดความตึงเครียดในองค์กร

BOT vs Baht Float
รูปที่ 13 : ดวงชะตา ธนาคารแห่งประเทศไทย vs ลอยตัวเงินบาท 2 ก.ค. 2540 

          เหตุการณ์สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งที่คนไทยลืมไม่ลง นั่นคือ การลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อ 2 กรกฎาคม 2540 เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติต้มยำกุ้งที่ลามไปเป็นวิกฤติของภูมิภาค ตอนนั้นเนปจูนจรเข้ามากุมกับลัคนากำเนิด เนปจูนเองมีความหมายเกี่ยวกับการสลายตัว ทำให้ภายใน ธปท. มีความคลุมเครือ เหมือนเมฆหมอกทะมึนปกคลุมองค์กรอยู่ อีกทั้งดาวเนปจูนยังให้ความหมายถึงการลอยตัวค่าเงินบาทด้วย ดาวเสาร์จรทำมุมกับศูนย์รังสีจันทร์พฤหัสกำเนิดและเมอริเดียนเนปจูนกำเนิด บ่งบอกถึง อุปสรรคปัญหาที่ถาโถมเข้ามาในองค์กร ดาวพลูโตจรทำมุม 45 กับจันทร์กำเนิด เล็งมฤตยูกำเนิด และมฤตยูจรในเรือนที่ 1 เล็งพลูโตกำเนิด ตั้งฉากเมอริเดียนกำเนิด ทำมุม 45 กับดาวพุธศุกร์กำเนิด แสดงถึง การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาท

 BOT vs Cardinal Climax
รูปที่ 14 : ดวงชะตา ธนาคารแห่งประเทศไทย vs Cardinal Climax 

          เมื่อเราวิเคราะห์ปรากฏการณ์ “โครงสร้างกางเขนใหญ่ (Grand Cross) ในจรราศี” ในปีนี้ เทียบกับดวงชะตาเงินบาท พบว่า โครงสร้างดังกล่าวไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อจุดเจ้าชะตา นั่นหมายความว่า เงินบาทไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤติครั้งนี้ แต่สำหรับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล แล้ว ในช่วงวาระการดำรงตำแหน่งของท่าน จะประสบอุปสรรคความท้าทายที่สำคัญในช่วง ค.ศ. 2012-2013 เนื่องจากดาวเสาร์จะโคจรมาตั้งฉากกับจันทร์กำเนิดและลัคนากำเนิดตามลำดับ และที่สำคัญคือการเข้ามากุมเมอริเดียนกำเนิดในช่วงปลายปี 2012 ถึงปลายปี 2013 เนื่องด้วยเมื่อวงรอบก่อนที่ดาวเสาร์โคจรมาถึงจุดนี้ ก็มีการปลดผู้ว่าการฯเนื่องจากไม่ทำตามนโยบายของรัฐบาลนั่นเอง หลังจากนั้น ในปี 2016 ดาวพลูโตจะโคจรมากุมจันทร์กำเนิด ก็คงส่งผลให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงิน และในปี 2020 ก็เป็นปีสำคัญอีกปีหนึ่ง เพราะดาวพฤหัส ดาวเสาร์ และดาวพลูโต จะโคจรไปกุมกับลัคนากำเนิด โดยมีมฤตยูจรเล็งกับเมอริเดียนกำเนิด ช่วงนั้นคงมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท คงต้องติดตามกันต่อไป

บทสรุป 

          จากการวิเคราะห์ปัจจัยทางโหราศาสตร์ของเงิน 4 สกุล ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินยูโร เงินหยวน และเงินบาท เราพอจะเห็นภาพได้ว่า เงินดอลลาร์ฯและเงินยูโร ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโครงสร้าง Cardinal Climax ทำให้ลดบทบาทความสำคัญต่อเงินตราในโลกไป เงินหยวนของจีนได้รับประโยชน์จากโครงสร้างดังกล่าว ทำให้มีบทบาทในเวทีการเงินโลกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าจะถามว่า เงินหยวนจะมาแทนที่บทบาทของเงินดอลลาร์ฯได้หรือไม่? ผมคิดว่า คงเป็นไปได้ยาก เพราะพื้นฐานดวงชะตาของหยวนนั้น บ่งบอกถึงการถูกควบคุมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ยากที่จะทำให้ประเทศอื่นหันมาใช้เงินหยวนเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่หากถามว่า แล้วเงินตราใดจะมาแทนเงินดอลลาร์ฯ ผมก็คิดถึงเงินตราสกุลหนึ่งที่ถือกำเนิดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นั่นคือเงิน SDRs (Special Drawing Rights) ที่แม้จะไม่มีการพิมพ์ธนบัตรเงินสกุลนี้ออกมา แต่ก็สามารถใช้เป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศได้ น่าเสียดายที่ผมยังหาข้อมูลวันเดือนปีที่ก่อกำเนิดเงินตราสกุลนี้ยังไม่ได้ ทราบแต่เพียงว่าเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1969 จึงไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ปัจจัยทางโหราศาสตร์ได้ 

          ท้ายสุดของบทความนี้ ผมอยากให้ทุกท่านมองเห็นไตรลักษณ์ ของเงินตรา นั่นคือ ทุกขัง (ความคงทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นจากสภาพแวดล้อมของโลกการเงิน) อนิจจัง (ความไม่เที่ยง มูลค่าของเงินตราที่ขึ้นๆลงๆไม่แน่นอน) และอนัตตา (ความไม่มีตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจของใครคนใดคนหนึ่งที่จะควบคุมมันได้)  เนื่องจากเงินตราเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างและสมมติขึ้นมา มันไม่ได้มีค่าในตัวของมันเอง มันมีค่าเพราะมนุษย์ไปยึดถือว่ามันมีค่า หากเรามองให้ทะลุถึงสัจธรรมข้อนี้ เราจะมองเห็นเงินตราเป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งที่เราสามารถแสวงหาและนำมาใช้เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างเป็นสุข โดยไม่ยอมให้เงินตรามาบงการชีวิตจนหาความสุขได้ยากเย็นเต็มที

เอกสารอ้างอิง
1. 
http://en.wikipedia.org
2. 
http://www.bot.or.th
3. ธนาคารแห่งประเทศไทย; เงินตราไทย
4. เปรมศิริ ฤทัยเจตน์เจริญ, ตะวัน สุรัติเจริญสุข; 2530-2551 จาก Black Monday ถึง Hamburger Crisis, (สำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Bizbook, 2552)




เจาะลึกโหรา

ธาตุทั้งสี่ และการนำไปใช้เชิงจิตวิทยา
ไฟ ดิน ลม น้ำ ปฐมบทของโหราศาสตร์
ดวงจีโอเดติก ดาวพลูโต และวงรอบเสียกรุง 2310
คัมภีร์เตตราบิโบลส ต้นธารของโหราศาสตร์ไทยและยูเรเนียน? article
บ้านเหนือ บ้านใต้ ตอนจบ article
บ้านเหนือ บ้านใต้ ตอน 1 article
เรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน article
การกลับมาของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Return of Great Depression?) article
พลูโตในยุคสมัยต่างๆ article
เรือนชะตา 24 ระบบ article
โหราศาสตร์ธุรกิจ: กรณีศึกษาอัตราเงินเฟ้อและตลาดหลักทรัพย์ไทย article
ข่าวล่า เกี่ยวกับการประชุมโหราศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ article
การประชุมทางวิชาการโหราศาสตร์ระหว่างชาติประจำปี ๒๕๑๘ article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 4: เซอุส article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 3: ฮาเดส article
เลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 2: คิวปิโด article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 1: ที่มาของดาวทิพย์ article
ความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอนจบ article
ความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 1 article
Daylight Saving Time หรือ Summer Time ปัญหากวนใจของนักพยากรณ์ article
คอมพิวเตอร์ในวงการโหราศาสตร์ article
วิวัฒนาการ ของ โหราศาสตร์ article
โหราศาสตร์ กับที่มาของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์ article
จารึกมรกต : ที่มาของ ปรัชญามูลฐาน แห่ง โหราศาสตร์ article



[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (98526)

บทความใน โพสต์ทูเดย์ ครับ

http://www.posttoday.com/หุ้น-ทอง/เงินต่อเงิน/money-tips/53974/ฤาดวงชะตาค่าเงินบาทจะถึงฆาต


ผู้แสดงความคิดเห็น Pallas (pallas-at-horauranian-dot-com)วันที่ตอบ 2010-10-13 17:34:58



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
eXTReMe Tracker