ตีพิมพ์ลงในวารสาร โหราเวสม์ ฉบับที่ ๑๖๘ มีนาคม ๒๕๓๑
พลตรี ประยูร พลอารีย์
ร.ร.โหราศาสตร์ กท.
นักศึกษาส่วนใหญ่คงเข้าใจปรัชญาเรื่อง เพศ แล้ว แต่คงจะมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เคยทราบเรื่อง ขั้ว (Polarity) ทั้งๆที่ เพศ ซึ่งตรงกับภาษาต่างประเทศว่า Sexuality คือจิตวิทยาของขั้ว เนื่องจากทฤษฎี เพศ ได้กล่าวไว้แล้วใน ทฤษฎีการพยากรณ์ ในที่นี้จึงไม่ขอกล่าวซ้ำแต่จะมุ่งไปสู่ประเด็นเลยโดยเริ่มจากความรู้เกี่ยวกับเรื่อง ขั้ว ไปโดยลำดับ
ขั้ว คือจุดที่อยู่ข้างนอกสุดภายในระบบอันหนึ่ง เช่น ขั้วโลกเหนือ คือจุดที่อยู่เหนือสุดของโลก และ ขั้วโลกใต้ คือจุดที่อยู่ใต้สุดของโลก เป็นต้น เมื่อพิจารณาในแนวเหนือใต้ ขั้วทั้งสองจะเป็นจุดที่อยู่ตรงกันข้ามที่อยู่นอกสุด เพราะลักษณะดังกล่าวนี้เอง ขั้วจึงแสดงถึงการมีสภาพตรงกันข้ามกันอย่างมากที่สุด ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะความต่างศักย์ขึ้นแก่ชีวิตทั้งหลาย และทำให้เกิดความพยายามที่จะชดเชยแก่กันและกัน นักศึกษาคงจะรู้จักขั้วของแม่เหล็กดีซึ่งประกอบด้วยขั้วบวกกับขั้วลบ ระหว่างขั้วทั้งสองซึ่งมีความแตกต่างศักย์หรือความเครียดจะมีพลังงานแม่เหล็กปรากฎอยู่ ขั้วที่เหมือนกันจะผลักกันและขั้วที่ต่างกันจะดูดเข้าหากันเพื่อชดเชยความเสมอกัน
ความจริงอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องขั้วคือ ขั้วทุกขั้วจะต้องมีขั้วตรงกันข้ามเสมอไป ขั้วลอยๆ ไม่มีในโลก ขั้วบวกจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากขั้วลบ ขั้วลบก็เช่นเดียวกันจะมีไม่ได้ถ้าขาดขั้วบวก ขั้วจึงต้องมีคู่ที่ต่างขั้ว ดังตัวอย่างเช่น กลางวันกับกลางคืน น้ำขึ้นกับน้ำลง ที่สูงกับที่ต่ำ ตึงเครียดกับคลายตัว ชายกับหญิง ฯลฯ
เมื่อนำเอา ขั้ว มาแจกลงบนดวงชะตา โบราณแจกโดยวิธีง่ายๆเพียงกล่าวว่า ราศีที่ตรงกันข้ามกันก็ดี หรือเรือนชะตาที่ตรงกันข้ามกันก็ดี จะมีสภาพเป็นขั้วกัน เช่น ราศีเมษกับราศีตุล เรือนที่ ๑ กับเรือนที่ ๗ ดังนี้เป็นต้น เป็น ขั้ว กัน
บ้านเหนือบ้านใต้ หรือภาคเหนือกับภาคใต้ และธรรมชาติในทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งตามปกติจะสอดคล้องกันกับสภาพทางภูมิศาสตร์ ก็อยู่ในฐานะเป็น ขั้ว เช่นเดียวกัน และด้วยอานุภาพของความเป็นขั้วซึ่งก่อให้เกิดความต่างศักย์อันมีพลังเร้นลับดังกล่าวมาแล้ว จึงมักปรากฏอยู่เสมอๆว่าเกิดเป็นปัญหาเกี่ยวกับชีวิตคู่ กล่าวคือ หนุ่มสาวที่อยู่บ้านเหนือด้วยกันหรือบ้านใต้ด้วยกันมักแต่งงานกันยาก เช่น นาย ก. อาจจะรักนาง ข. แต่นางสาว ข.กลับนับถือนาย ก. เสมือนพี่ชาย ไม่รักตอบ ทำนองเดียวกันกับนางสาว ค.รักนาย ง. คนบ้านเดียวกันที่ใกล้ชิดกันมาก แต่นาย ง. ไม่รักตอบ แต่กลับเอ็นดูนางสาว ค. เสมือนเป็นน้องสาวซึ่งเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้บางทีก็กลายเป็นปัญหาของบิดามารดาผู้ซึ่งต้องการเป็นทองแผ่นเดียวกับครอบครัวที่สนิทสนม แต่ในที่สุดก็ต้องผิดหวังเพราะบุตรไม่เล่นด้วยในสมัยก่อนเคยมีแนวความคิด ล้างขั้ว โดยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะส่งไปอยู่ในที่ไกลๆ เช่น ไปศึกษาต่อที่ปีนัง หรือในสมัยต่อมาก็ยุโรป เป็นต้น แต่แล้วก็ต้องผิดหวังหนักขึ้นไปอีก เพราะทั้งพระเอกและนางเอกกลับไปแต่งงานกับผู้อื่นที่เขารักไปเรียบร้อย.... จึงเห็นได้ว่า ฤทธิ์ของ ขั้ว นั้นเหลือหลาย ซึ่งโดยปกติแล้วการแต่งงานที่ไม่มีปัญหานั้นจะเป็นการแต่งระหว่างบ้านเหนือกับบ้านใต้ ไม่ใช่ในระหว่างบ้านเหนือด้วยกันหรือบ้านใต้ด้วยกัน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่กล่าวมาข้างบนนี้ไม่ใช่สาระสำคัญของบทเรียนนี้ แต่ประเด็นสำคัญนั้นคือ ความเป็น ขั้ว ของประชากรที่อยู่ทางเหนือกับทางใต้ กล่าวคือ ซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้ ภาคเหนือกับภาคใต้ แม่บ้านเหนือกับบ้านใต้ ซึ่งมีผลทำให้เขามีรูปแบบของชีวิตแตกต่างกันไปอย่างตรงกันข้าม นักศึกษาที่ช่างสังเกตจะพบว่า (ดังเช่นในประเทศไทยเราเป็นต้น) ชาวเหนือส่วนใหญ่จะมีชีวิตรักสงบ เป็นกันเองแต่ไม่ค่อยจริงใจ จินตนาการ ใจเย็น ปรับตัวได้เก่ง ชอบดนตรีประเภททำนองเมโลดี้ มีรสนิยมไปทางด้านการรำฟ้อน ตรงกันข้ามกับชาวใต้ซึ่งส่วนใหญ่จะมีชีวิตไปในลีลาตรงกันข้าม กล่าวคือ กระตือรือร้น ตัวใครตัวมันแต่จริงใจ จริงจัง ใจร้อน ปรับตัวยาก ชอบดนตรีประเภทจังหวะหรือริฑั่ม มีรสนิยมไปทางด้านการเต้น ซึ่งทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้ แม้ในสังคมขนาดย่อมหรือตำบลหรือหมู่บ้าน เช่น บ้านเหนือ กับ บ้านใต้ หากพิจารณาให้ประณีตบรรจงแล้ว รูปแบบของชีวิตก็จะมีลีลาเช่นนี้ ซึ่งธรรมชาติเหล่านี้หาได้รอดพ้นจากการสังเกตของนักโหราศาสตร์ไปไม่ เพราะมีลักษณะคล้ายเป็น กรรมเก่า ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและต่อกิจกรรมวิชาโหราศาสตร์โดยตรงทั้งทางด้านพยากรณ์และการประยุกต์ ซึ่งในทางเทคนิคของวิชานี้ การตั้งดวงชะตาสำหรับอ่านชีวิตชาวภาคเหนือกับชาวภาคใต้ (ซึ่งมิใช่ภาคกลาง) ให้ได้ผลจริงๆนั้นเขามีวิธีการต่างหาก และจะพบเสมอว่านักพยากรณ์ที่พยากรณ์ได้ดีมากเมื่ออยู่ภาคกลาง แต่พอย้ายไปภาคใต้หรือภาคเหนือกลับปรากฏว่าหายเงียบไปเลย เพราะหมดแม่นจนหมดรูปกันเอาทีเดียว เกี่ยวกับเรื่องนี้นักศึกษาที่เข้าใจวิธีการคำนวณดวงชะตาจริงๆคงทราบดีว่า สำหรับผู้ที่เกิดในตำบลที่แลทติจูดมากกว่า ๗๐ องศา นั้นลัคนาจะกลับไปอยู่ทางตะวันตกของเมอริเดียน ดังเช่น เมอริเดียนสถิตราศีเมษเป็นต้น แทนที่ลัคนาจะสถิตประมาณราศีกรกฎ แต่กลับปรากฎว่าสถิตราศีมกร กลับทางกันไปหมด และเพราะเหตุนั้นเองนักโหราศาสตร์ยุคกลางบางท่านจึงกล่าวว่า บุคคลที่เกิดเลยแลทติจูทนี้ไปถือว่าพ้นขีดความสามารถของดวงชะตา เจ้าชะตาที่เกิดภาคเหนือและภาคใต้ โดยเฉพาะเหนือสุดใต้สุด จึงเข้าเกณฑ์ดังกล่าวนี้โดยอุปมาอุปมัยหรือโดยอนุโลมด้วย การพยากรณ์ตามแบบดังที่ใช้กันในภาคกลางจึงไม่ได้ผล โดยเฉพาะสูตรที่เกี่ยวข้องกับการใช้เรือนชะตา
นอกจากปัญหาทางเทคนิคของวิชาโหราศาสตร์โดยตรงแล้ว ยังมีปัญหาทางด้านการประยุกต์อันหมายถึงปัญหาชีวิตของเจ้าชะตาเอง ซึ่งนักโหราศาสตร์ที่ไม่มีความรู้ถึงวิธีการเฉพาะอาจให้ข้อเสนอแนะที่ผิดๆ หรือได้รับประสบการณ์ทางโหราศาสตร์ไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องอันจะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาค้นคว้าต่อไปในวงการของเราได้ ดังเช่นปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ปัญหาเรื่องที่ทางในการทำมาหากิน แม้ปัญหาเรื่องคู่ครอง ผู้ร่วมงาน ใต้ หรือ เหนือ จึงถูกโฉลก เป็นต้น
เมื่ออธิบายมาถึงตอนนี้แล้ว หากนักศึกษาบางท่านที่ยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาการอ่านดวงชะตาของผู้ที่เกิดภาคเหนือและภาคใต้ หรือบ้านเหนือและบ้านใต้เป็นพิเศษ ก็อาจเปรียบเทียบกับความจำเป็นในการอ่านดวงชะตาหญิงกับดวงชะตาชายซึ่งมีหลักการพิจารณาที่พิเศษกันออกไป ดังเช่นมีตำราว่าด้วยดวงชะตาหญิงโดยเฉพาะเป็นต้น ซึ่งเหตุผลก็ทำนองเดียวกัน
เมื่อทราบต้นสายปลายเหตุดีแล้ว ก็ใคร่ขอวกกลับเข้าเรื่องของเราต่อไป เพื่อศึกษาต่อไปว่า วิชาโหราศาสตร์แก้ปัญหากรณี ภาคเหนือ กับ ภาคใต้ หรือ บ้านเหนือ กับ บ้านใต้ นี้อย่างไร ซึ่งจำเป็นจะต้องพุ่งความสนใจไปที่ ปรมาตมัน หรือ กรณีของโลก คือ ขั้วโลกเหนือ กับ ขั้วโลกใต้ ก่อน เพราะตรงจุดทั้งสองความจริงก็ไม่ผิดอะไรกับ ผู้แทน ของ ซีกโลกเหนือ กับ ซีกโลกใต้ ตามลำดับนั่นเอง และขอพิจารณาตรงจุดขั้วโลกเหนือก่อน เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะเอียงเอาขั้วโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์นาน ๖ เดือน และอีก ๖ เดือนเอียงเข้าไปหา ณ ขั้วโลกทั้ง ๒ จึงเป็นเวลากลางวันนาน ๖ เดือน และเป็นเวลากลางคืนนาน ๖ เดือน จึงอาจพิจารณาได้ว่า วันกับปีทับซ้อนกัน (เพราะสว่างติดต่อกันนาน ๖ เดือน และมืดนานติดต่อกัน ๖ เดือน ๑ วันจึงนาน ๑๒ เดือน) ณ ซีกโลกเหนือ อาทิตย์โผล่ขึ้นมาจากศูนย์สูตรฟ้าในประมาณ ๒๑ มีนาคม ของทุกปี ซึ่งตรงจุดนี้คือจุดตั้งต้นราศีเมษสายนะ (จุดวิษุวัด) ซึ่งก็คือ จุดลัคนา อันหมายถึง สิ่งแวดล้อม ของชาวซีกโลกเหนือนั่นเอง อาทิตย์จะโคจรถึงจุดสูงสุด (หรือจุดเที่ยงวัน) ประมาณ ๒๑ มิถุนายนของทุกปี ตรงจุดที่อาทิตย์โคจรสูงสุด (ปัดเหนือสุด) นี้คือจุดตั้งต้นราศีกรกฎสายนะ (จุดอุตรมหากรานติ) จุดนี้ซึ่งมักนิยมเรียกสั้นๆว่า จุดกรกฎ จึงเป็น จุดเมอริเดียน อันหมายถึง วิญญาณ หรือ ตัวเจ้าชะตา ของชาวซีกโลกเหนือ ชีวิตของผู้ที่เกิดซีกโลกเหนือ (ประเทศไทยเราก็อยู่ซีกโลกเหนือด้วย แต่ค่อนลงมาทางใต้) จึงอาจพิจารณาได้จากความหมายของราศีกรกฎ กล่าวคือ เพ้อฝันหรือเต็มไปด้วยจินตนาการ มีความอ่อนตัวสูง มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตมาก ไม่ค่อยจะมีความแน่นอนหรือจริงจัง ฯลฯ นั่นคือ ตัวเจ้าชะตา ในระดับ วิญญาณ หรือ สันดาน ซึ่งอ่านได้จากราศีที่เมอริเดียนสถิต ถ้าจะอ่านทั้งหมด ก็อ่านจาก เรือนชะตาเมอริเดียน (กำหนดให้เมอริเดียนเป็นเรือนที่ ๑๐) แล้วอ่านดวงชะตาจากเรือนทั้ง ๑๒ และเนื่องจากเมอริเดียนคือจุดตั้งต้นราศีกรกฎ เรือนที่ ๑๐ จึงตั้งต้นที่ราศีกรกฎ เรือนที่ ๑๑ ตั้งต้นที่ราศีสิงห์ เรือนที่ ๑๒ ตั้งต้นที่ราศีกันย์ เรือนที่ ๑ ตั้งต้นที่ราศีตุลย์
..... เนื่องจากราศีตุลย์เป็นเรือนที่ ๑ ของเรือนชะตาเมอริเดียน บุคลิกภาพของชาวซีกโลกเหนือจึงอ่านได้จากความหมายของราศีตุลย์ กล่าวคือ สงบเงียบ รักการศิลป....เมื่อผสมหรือผนวกเข้ากับสิ่งที่อ่านได้จากเมอริเดียน ชีวิตของชาวซีกโลกเหนือจึงมีลีลาดัวกล่าวมาแล้วข้างต้น และโดยทำนองเดียวกันชาวซีกโลกใต้ก็จะมีจุดเมอริเดียนส่วนรวมที่จุดตั้งต้นราศีมกร และมีเรือนที่ ๑ ของ เรือนชะตาเมอริเดียนที่ราศีเมษ เขาจึงมีธรรมชาติของเสาร์ กล่าวคือ จริงจัง จริงใจ ขี้กังวล ตัวใครตัวมัน...... เมื่อประกอบกับความหมายของราศีเมษ ซึ่งเป็นเรือนที่ ๑ ลีลาชีวิตของชาวซีกโลกใต้ก็จะเป็นไปดังที่กล่าวไว้แล้วนั้น
ลำดับต่อไปก็เป็นอิทธิพลของความเป็นอาตมันและปรมาตมัน ซึ่งมีผลทำให้บรรดาสิ่งที่เป็น เหนือ ทั้งหมดมีลักษณะแบบซีกโลกเหนือ และบรรดาสิ่งที่เป็น ใต้ ทั้งหมดจะมีลักษณะแบบซีกโลกใต้ ซึ่งนักศึกษาคงจะประจักษ์ชัดในกรณีชาวภาคเหนือกับชาวภาคใต้สำหรับประเทศไทยอยู่แล้ว และโดยทำนองเดียวกันผู้ที่อยู่บ้านเหนือเช่น สาธรเหนือ เป็นต้น ชีวิตก็จะเป็นไปตามแบบชาวเหนือและผู้ที่อยู่บ้านใต้เช่นสาธรใต้เป็นต้น ก็จะมีชีวิตแบบชาวใต้ ซึ่งสำหรับสังคมขนาดเล็กในระดับหมู่บ้านนี้ อิทธิพลของความเป็นขั้วเหนือขั้วใต้ย่อมลดลงเป็นธรรมดา
(อ่านต่อฉบับหน้า)