ReadyPlanet.com
dot
dot dot
dot
เกี่ยวกับเรา Horauranian.com
dot
bulletรำลึกถึง อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์
bulletเจตนารมณ์
bulletติดต่อเรา
bulletโหราพยากรณ์
dot
บทความ
dot
bulletเกร็ดโหรน่ารู้
bulletเจาะลึกโหรา
bulletโหราศาสตร์บ้านเมือง
bulletBlog อ.วิโรจน์
bulletแนะนำตำรา
bulletไพ่ยิปซี จักรราศี (Celestial Tarot)
bulletกระดานถามตอบ
bulletคลังบทความดวงเมืองเศรษฐกิจ 2550-2552
bulletคลังกระทู้โหราศาสตร์ที่น่าสนใจ
dot
บทความน่าสนใจ
dot
bulletประเทศไทยหลังคดียึดทรัพย์ 2553
bulletReturn of Great Depression?
bulletChange! ผู้นำยุคใหม่ของโลก
bulletเรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน
bulletโหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
bulletเลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง
bullet6 ขั้นตอนเพื่อการดูหมออย่างคุ้มค่า
bulletชนะใจคนรัก 12 ราศี
dot
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
dot
bulletเพจ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletCelestial Strategist Blog
bulletBlog โหราเศรษฐกิจ
bulletเว็บไซต์ที่น่าสนใจ




การกลับมาของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Return of Great Depression?) article

โดย Pallas
http://www.horauranian.com
http://pallasblogger.blogspot.com
1 กันยายน 2552

          วิกฤติเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้นับว่าเป็นวิกฤติครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งของโลก บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ความร้ายแรงของวิกฤติคราวนี้เทียบเท่ากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ที่โลกประสบในช่วงทศวรรษที่ ’30 แห่งศตวรรษที่ 20 ผลกระทบของ The Great Depression แห่งศตวรรษที่ 20 ทำให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำยาวนานกว่า 10 ปี ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จนเป็นสาเหตุหนึ่งของการก้าวขึ้นมาของฮิตเลอร์ และนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากผลกระทบในระดับโลกแล้ว สำหรับเมืองไทย ผลของ The Great Depression ทำให้รัชกาลที่ 7 ต้องดุลข้าราชการ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี พ.ศ. 2475 หรือ ค.ศ. 1932

          จากความร้ายแรงของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 20 ดังกล่าว ทำให้ผมในฐานะนักโหราศาสตร์การเงิน สนใจที่จะศึกษาแง่มุมทางโหราศาสตร์ของเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน อันจะทำให้มองเห็นแนวโน้มและทิศทางของภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้ และนำมาใช้ในการวางแผนการเงินทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กรได้ ทั้งนี้ ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ผมใช้อ้างอิงเป็นหลักในบทความนี้เป็นข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะว่ามีฐานข้อมูลย้อนหลังไปนับร้อยปี และมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่จนกระทั่งบ่งบอกทิศทางเศรษฐกิจของโลกได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) คืออะไร

          ก่อนที่จะทำความเข้าใจในเรื่อง The Great Depression จำเป็นที่จะต้องเข้าใจความหมายทางเศรษฐศาสตร์ของภาวะเศรษฐกิจกันก่อน ตามทฤษฏีวงรอบเศรษฐกิจนั้น ภาวะเศรษฐกิจประกอบด้วยช่วงเศรษฐกิจขยายตัว (Expansion) และช่วงเศรษฐกิจถดถอย (Contraction หรือ Recession)

business cycle

รูปที่ 1 : วงรอบเศรษฐกิจ

          ภาวะเศรษฐกิจขยายตัว คือ ภาวะการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีสินค้าบริการเพื่อการแลกเปลี่ยนอยู่ในตลาด ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงของคนเพิ่มขึ้น สังเกตได้จาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น รายได้ที่แท้จริงต่อประชากรเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ภาวะการผลิตและการค้าเพิ่มขึ้น พูดง่ายๆคือคนรวยขึ้น ส่วนภาวะเศรษฐกิจหดตัว คือ ภาวะการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังเกตได้จาก GDP ที่แท้จริงลดลง รายได้ที่แท้จริงต่อประชากรลดลง อัตราการว่างงานสูง ภาวะการผลิตและการค้าลดลง พูดง่ายๆคือ คนจนลง

          การขยายตัว (Expansion) สลับกับ การถดถอย (Recession) ทางเศรษฐกิจนี้ เป็นเรื่องปกติในระบบเศรษฐกิจ เป้าหมายสำคัญของการบริหารเศรษฐกิจคือการทำให้การขยายตัวมีความต่อเนื่องให้ยาวนานที่สุด และให้การหดตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นน้อยและสั้นที่สุด จากข้อมูลสภาวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) สหรัฐอเมริกา   ระบุว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1854 เป็นต้นมา ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวกินเวลาเฉลี่ย 3 ปี 2 เดือน และภาวะเศรษฐกิจหดตัว กินเวลาเฉลี่ย 1 ปี 5 เดือน ซึ่งตั้งแต่ปี 1854 เป็นต้นมา มีวงรอบเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้วตามความเห็นของ NBER ทั้งหมด 32 รอบ ขณะนี้อยู่ในรอบที่ 33

          ส่วนภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เรียกว่า Depression นั้น เป็นภาวะที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก และไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่าเมื่อไรจะเรียกว่า Depression อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจกันว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression) นี้คือภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กินระยะเวลายาวนานหลายปี และส่งผลกระทบไปยังหลายประเทศ โดยวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 นั้น ก็ยังไม่ถือว่าเป็น Depression ในระดับโลก เพราะส่งผลกระทบเฉพาะประเทศในเอเชียเท่านั้น เหตุการณ์ที่เรียกกันว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression) ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกนั้น มีเพียงไม่กี่ครั้ง ได้แก่ Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ระหว่างปี 1929-1933 และ Long Depression หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยาวนานในช่วงปี 1873-1879 เป็นต้น

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ปี 1929-1933

          ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) นั้นเริ่มต้นในประเทศสหรัฐอเมริกาจากเหตุการณ์หุ้นตกอย่างรุนแรงในตลาด Wall Street ในวันที่ 24 ตุลาคม 1929 และตกต่อเนื่องอีกหลายครั้ง หนักที่สุดในวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 1929 จนเรียกกันว่า Black Tuesday ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมดาวน์โจนส์ตกลงกว่า 50% ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ทำให้นักลงทุนและนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นขาดทุนอย่างหนัก จนถึงขั้นล้มละลายไปก็มาก ฟองสบู่เศรษฐกิจที่สะสมมาหลายปีจึงแตกออก ตามมาด้วยภาวะแห้งแล้งในปี 1930 สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร จนทำให้ภาวะเศรษฐกิจจริงก็เกิดภาวะถดถอย ซ้ำเติมด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางทั่วโลก, การล้มละลายของธนาคารพาณิชย์ 744 แห่งในสหรัฐฯเพียง 10 เดือนแรกของปี 1930 (ตลอดทศวรรษที่ 30 นั้นมีธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯต้องปิดกิจการลงกว่า 9,000 แห่ง), การค้าระหว่างประเทศที่หดตัวจากการตั้งกำแพงภาษีการค้าระหว่างกัน ส่งผลให้ในสหรัฐฯมีคนตกงานในปี 1932 สูงถึง 34 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดราว 122 ล้านคน, รายได้ต่อประชากรลดลง 40%, มีคนถูกไล่ออกจากบ้านกว่า 273,000 ครอบครัว และมีคนอเมริกันกว่า 60% ถูกจัดว่าเป็นคนจนตามดัชนีชี้วัดของรัฐบาลกลางตอนนั้น

          สำหรับประเทศอื่นๆ นั้นก็ได้รับผลกระทบไปไม่น้อย สาธารณรัฐไวร์มาร์ในเยอรมนี ที่เกิดขึ้นหลังการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 มีอัตราคนว่างงานสูงถึง 30% ผลผลิตลดลง 40% ซ้ำเติมด้วยการยกเลิกเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีได้รับผลกระทบอย่างหนัก รัฐบาลเสื่อมความนิยม เปิดโอกาสให้ฮิตเลอร์นำพรรคนาซีขึ้นบริหารประเทศในปี 1933, ประเทศสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน มีคนว่างงานสูงถึง 2.5 ล้านคนหรือ 20% ของประชากรวัยทำงาน มูลค่าการส่งออกลดลงถึง 50%, ทางด้านประเทศออสเตรเลียก็ประสบปัญหาคนว่างงานสูงถึง 29%ในปี 1932 และ GDP ลดลง 10%, ทวีปอเมริกาใต้ ประเทศชิลีประสบปัญหาไม่แพ้กัน การส่งออกหดตัว 28% ในปี 1930 พอมาถึงปี 1932 GDP ลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวของ GDP ในปี 1929 ส่วนทางทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ

          สำหรับประเทศไทยนั้น ค.ศ. 1929 ตรงกับ พ.ศ. 2472 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ต้องดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายทางการคลังด้วยการตัดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและส่วนพระมหากษัตริย์ รวมถึงการยุบหน่วยงานราชการทั้งกระทรวง มณฑล กองพล และดุลข้าราชการออกจากงาน สร้างความไม่พอใจให้ข้าราชการ เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932)

          ระยะเวลาที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และขึ้นอยู่กับดัชนีชี้วัด ผนวกกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ในเว็บไซต์ wikipedia.org ระบุว่า Great Depression เริ่มต้นในปี 1929 และสิ้นสุดแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศระหว่างปีทศวรรษที่ ’30 จนถึงต้นทศวรรษที่ ’40 ส่วน Bill Meridian นักโหราศาสตร์การเงินชื่อดังระบุว่า Great Depression เกิดขึ้นระหว่างปี 1930-1940 และสภาวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) สหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่า Great Depression เกิดขึ้นระหว่างปี 1929-1933 นั้น โดยมีระยะเวลาจากภาวะเศรษฐกิจระดับสูงสุดจนกระทั่งถึงจุดต่ำสุด (Peak to Trough) ยาวนานถึง 43 เดือน หรือ 3 ปี 7 เดือน (ส.ค. 1929 – มี.ค. 1933) แม้ว่าความเห็นเรื่องจุดสิ้นสุดของ Great Depression จะแตกต่างกัน แต่มีความเห็นตรงกันว่า ปี 1932 เป็นปีที่เศรษฐกิจตกต่ำถึงจุดต่ำสุด

          ในทางโหราศาสตร์ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 เริ่มขึ้นในปี 1928 เมื่อดาวมฤตยู ดาวแห่งความพลิกผัน ตื่นตระหนก และความตึงเครียด โคจรเข้าราศีเมษ ต้นธาตุไฟ มากุมกับดาวฮาเดส ดาวแห่งทุกขเวทนาและความขาดแคลน ตามมาด้วยการกุมดาวแอดเมตอส ดาวแห่งการหยุดชะงัก ในปี 1929 ถึงกระนั้นก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น จนถึงจุดสูงสุดที่ 386.17 จุด ในวันที่ 3 กันยายน 1929 ในตอนนั้น ค่าเฉลี่ยอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไร (P/E) อยู่ที่ 32.6 เท่า หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้ซื้อหุ้น ณ วันนั้น ต้องใช้เวลาอีก 32.6 ปี จึงจะถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งสะท้อนภาวะฟองสบู่ที่พร้อมจะแตกทุกเมื่อ

          จุดพลิกผันสำคัญเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม เมื่อดาวมฤตยูถอยหลังมาทับดาวแอดเมตอสอีกรอบและดาวศุกร์ ดาวแห่งการเงิน โคจรมาเล็งดาวทั้งสองดวง ในวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 1929 ทำให้ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯเกิดการร่วงลงมาอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 1929 และตกอย่างหนักในวันจันทร์ที่ 28 (-12.82%) และวันอังคารที่ 29 ตุลาคม (-11.73%) นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20

Ur conj Ad 1929

รูปที่ 2 : Black Monday 28 ตุลาคม 1929 (Ur = Ad)

          โครงสร้างสำคัญของ Great Depression อีกอย่างคือ โครงสร้าง T-Square ของดาวเสาร์ มฤตยู และพลูโต ในจรราศี (Cardinal Signs) ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1930-1932 โดยดาวเสาร์อยู่ราศีมกร ดาวมฤตยูอยู่ราศีเมษ และดาวพลูโตอยู่ในราศีกรกฎ

          จุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งนั้น เกิดขึ้นในปี 1932 เมื่อโครงสร้าง T-Square ของเสาร์-มฤตยู-พลูโต คลายตัวลง และดาวแอดเมตอส กุมกับ ดาวฮาเดส ที่ราศีเมษ 3 ครั้งระหว่าง เมษายน 1932 – กุมภาพันธ์ 1933 ประกอบกับดาวพฤหัส ดาวแห่งเศรษฐกิจและการขยายตัว กุมกับ ดาวเนปจูน ดาวแห่งความฟุ้งเฟ้อ และดาวอพอลลอน ดาวทิพย์แห่งการค้า ในราศีกันย์ ทำมุมในฮาร์โมนิคที่ 8 กับโครงสร้าง T-Square ของเสาร์-มฤตยู-พลูโต เมื่อ 18 กันยายน 1932 ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์แตะจุดต่ำสุดที่ 41.22 จุดในวันที่ 8 กรกฎาคม 1932

JU conj NE 1932 

รูปที่ 3 : โครงสร้างสำคัญในเดือนกันยายน 1932

          เมื่อดาวเสาร์โคจรออกจากราศีมกรเข้าสู่ราศีกุมภ์ตอนปลายปี 1932 ทำให้โครงสร้าง T-Square หมดสภาพไป ส่งผลให้ในปี 1933 เป็นปีที่มีการพลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ แฟรงค์คลิน ดี. รูสเวลท์ และประกาศนโยบาย New Deal ดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นอุปสงค์รวมด้วยการอัดฉีดเงินผ่านนโยบายการคลังตามแนวคิดสำนักเคนส์ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวตามลำดับ โดยประเทศอื่นๆทั่วโลกก็เริ่มมีการฟื้นตัว ปัจจัยด้านนโยบายการเงินของแต่ละประเทศที่สำคัญและส่งผลบวกต่อการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจ คือ การยกเลิกการผูกติดค่าเงินของแต่ละประเทศจากมาตรฐานทองคำ ประเทศใดยกเลิกก่อนก็จะฟื้นตัวก่อน เพราะหมายความว่า รัฐบาลและธนาคารกลางสามารถอัดฉีดเงินตราเข้าสู่ระบบได้โดยไม่ต้องกังวลกับปริมาณทองคำในมือ ปัจจัยเรื่องนี้ตรงกับความหมายของการกุมกันของดาวพฤหัสและดาวเนปจูนตอนปลายปี 1932 นั่นเอง

          การปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจอย่างฉับพลันของผู้นำแต่ละประเทศ ทำให้วิกฤติเริ่มคลี่คลาย เป็นผลมาจากการทำมุมฉากระหว่างดาวมฤตยูและดาวพลูโต ที่เกิดขึ้นถึง 5 ครั้ง ตั้งแต่ 21 เมษายน 1932 จนถึง 17 มกราคม 1934 ตามมาด้วยการที่ ดาวพฤหัส ดาวแห่งความสำเร็จได้โคจรเข้ามายังราศีตุล ปลายปี 1933 ส่งผลดีต่อดาวต่างๆที่ยังคงให้อิทธิพลในราศีทวารอยู่ เริ่มตั้งแต่ การเล็งกับดาวแอดเมตอส ดาวฮาเดส ฉากกับดาวพลูโต ปิดท้ายด้วยการเล็งกับดาวมฤตยู ช่วงปลายปี 1934 วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 จึงคลี่คลายไป

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในปัจจุบัน??

          การจะทำความเข้าใจภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ผมคิดว่าต้องเริ่มจากการมองถอยไปตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ในตอนนั้น สหรัฐอเมริกาพบภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากฟองสบู่ดอทคอมที่แตกออก ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อดาวมฤตยู ดาวแห่งเทคโนโลยี ทำมุมฉากกับดาวแอดเมตอส ดาวแห่งการหยุดชะงัก ระหว่างปี 2000-2001 ซ้ำเติมด้วยเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯที่นำโดยนายอลัน กรีนสแปนดำเนินการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว และกดอัตราดอกเบี้ยลงมาจาก 6.5% ตอนปลายปี 2000 ลงมาเหลือ 1.75% ตอนต้นปี 2002 ทำให้วิกฤติคลี่คลายไปภายในเวลาอันรวดเร็ว เงินที่ไหลท่วมเข้าสู่ระบบตรงกับช่วงเวลาที่ดาวพฤหัส ดาวแห่งเศรษฐกิจ โคจรมาในราศีสิงห์ เล็งกับดาวเนปจูน ดาวแห่งภาพลวงตาและความเฟื่องฟู ในราศีกุมภ์ ในปี 2002 

JU conj SA 2000

รูปที่ 4 : พฤหัสกุมเสาร์ 28 พฤษภาคม 2000

          อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากส่งผลให้ฟองสบู่ลูกใหม่ก่อตัวขึ้น นั่นคือ ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ เพราะผู้คนเริ่มกู้เงินที่มีดอกเบี้ยต่ำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ราคาเพิ่มขึ้นทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้น การผ่อนคลายเกณฑ์การกู้เงินให้กับผู้กู้ที่มีความสามารถในการชำระเงินต่ำที่เรียกกันว่า Subprime ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้สามารถกู้เงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ในช่วงนี้อสังหาริมทรัพย์กำลังเฟื่องฟู ก็มีนักการเงินคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินขึ้นมา โดยนำสินเชื่อ Subprime กลุ่มนี้ไปรวมกันและจัดชั้นความเสี่ยงใหม่ นำไปออกเป็นหุ้นกู้ขายให้กับนักลงทุนสถาบัน เรียกกันว่า CDO (Collateralized Debt Obligations) โดยการจัดกลุ่มความเสี่ยงใหม่นี้ ทำให้ใน CDO บางกลุ่มได้รับการจัดอันดับความเสี่ยงที่ต่ำมาก จนนักลงทุนสถาบันที่ไม่ต้องการลงทุนในตราสารที่เสี่ยงมาก ก็สามารถลงทุนได้ ด้วยนวัตกรรมอันนี้ยิ่งส่งเสริมฟองสบู่อสังหาฯให้โตยิ่งขึ้น เพราะธนาคารสามารถปล่อยกู้ subprime โดยไม่ต้องใช้เงินฝาก แต่ระดมทุนผ่านตราสาร CDO ซึ่งจำหน่ายให้กับนักลงทุนสถาบันทั่วโลก

          นอกจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังมีฟองสบู่ก้อนใหญ่อีกก้อนที่เกิดมาในเวลาใกล้เคียงกัน นั่นคือ การเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Boom) เช่น น้ำมัน อาหาร เป็นต้น  สินค้าโภคภัณฑ์เฟื่องฟูขึ้นมาหลังจากอยู่ในภาวะซบเซาระหว่างปี 1980-2000 และเริ่มพุ่งขึ้นในปี 2003 เมื่อดาวมฤตยู ดาวแห่งความผันผวนโคจรเข้าสู่ราศีมีน ราศีแห่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้น้ำมันที่มีราคา 20-30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในตอนนั้น ได้พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องไปถึง 130-140 เหรียญสหรัฐฯในปี 2008 

          ในปี 2006-2007 ดาวเสาร์ ดาวแห่งการเปลี่ยนแปลงและข้อจำกัด ได้โคจรมาในราศีสิงห์ เล็งดาวเนปจูน ดาวแห่งฟองสบู่ ในราศีกุมภ์ และตั้งฉากกับดาวแอดเมตอส ดาวแห่งการหยุดชะงักในราศีพฤษภ ผนวกกับการที่ดาวพฤหัสโคจรมาตั้งฉากกับดาวมฤตยู 3 ครั้งในปี 2007 บ่งบอกถึงเศรษฐกิจที่ตื่นตระหนก ทำให้ฟองสบู่ที่สะสมมากว่า 5-6 ปี ได้แตกออก สะท้อนจากวิกฤติ Subprime ที่เรียกกันว่า Hamburger Crisis ที่เริ่มปรากฏเห็นชัดในช่วงกลางปี 2007 ในตอนแรก ผู้คนยังคิดกันว่าเป็นเพียงภาวะฟองสบู่แตกในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่เพราะนวัตกรรม CDO ทำให้การผิดนัดชำระของลูกหนี้ Subprime ส่งผลต่อไปยังผู้ถือตราสาร CDO ทั้งหลายที่มีอยู่ทั่วโลก รวมไปถึงสถาบันการเงินที่ไปค้ำประกันตราสาร CDO ดังกล่าว ทำให้วิกฤติ Subprime ลามไปเป็นวิกฤติการเงินทั่วโลก 

SA opp NE 2007

รูปที่ 5 : เสาร์ เล็ง เนปจูน ตั้งฉาก แอดเมตอส มิถุนายน 2007

          ในปี 2008 ดาวพลูโตก็เริ่มยกเข้าสู่ราศีมกร พอวันอมาวสี (New Moon) 7 มีนาคม 2008 จุดอมาวสี (อาทิตย์กุมจันทร์) อยู่ในราศีมีนกุมเมอริเดียน สหรัฐอเมริกา และดาวเสาร์ เล็งกับดาวมฤตยู ผสมกับดาวอังคารในราศีกรกฎเล็งกับดาวพลูโตในราศีมกร บ่งบอกวิกฤติในสหรัฐฯ พอมาถึง 15 มีนาคม 2008 Bear Sterns บริษัทวาณิชธนกิจ อันดับ 5 ของสหรัฐฯ ก็ออกอาการใกล้ล้ม จนธนาคารกลางสหรัฐฯต้องออกแรงปล่อยกู้ให้ JP Morgan เข้าไปซื้อกิจการของ Bear Sterns ส่งผลให้ทั่วโลกตระหนักถึงความร้ายแรงของวิกฤติซับไพร์มที่ลามเข้าไปในสถาบันการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed แก้ปัญหาด้วยการลดดอกเบี้ยอ้างอิงลงมาอย่างรวดเร็ว จาก 5.25% ในเดือนกันยายน 2007 ลงมาเหลือเพียง 2% ในเดือนเมษายน 2008 และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 0-0.25% ในเดือนธันวาคม 2008 ระหว่างนั้น ฟองสบู่สินค้าโภคภัณฑ์ก็ยังไม่แตกออก ราคาน้ำมันยังคงพุ่งสูงขึ้น (ดาวยูเรนัสยังคงอยู่ในราศีมีน จนถึงปี 2011) ซ้ำเติมด้วยราคาอาหารและสินค้าเกษตรพุ่งขึ้นเช่นกัน 

NM 8 Mar 08

รูปที่ 6 : ดวงอมาวสี 8 มีนาคม 2008

          หลังจาก FED ลดดอกเบี้ยอย่างแรงและรวดเร็วในช่วงต้นปี ส่งผลให้วิกฤติดูเหมือนจะบรรเทาลงไปบ้าง แต่พอล่วงมาถึงวันเพ็ญ 15 กันยายน 2008 ดาวอาทิตย์โคจรอยู่ในราศีกันย์ ร่วมราศีกับดาวเสาร์ เล็งกับดาวจันทร์และดาวมฤตยูในราศีมีน แกนเสาร์-มฤตยูก็ทำงาน (ดาวเสาร์เล็งมฤตยูทั้งหมด 5 ครั้ง เริ่มจาก 4 พฤศจิกายน 2008 จนถึง 26 กรกฎาคม 2010) อีกทั้งดาวพลูโต ก็เล็งดาวฮาเดส ส่งท้ายเป็นครั้งที่ 10 และ 11 ในวันที่ 13 และ 20 กันยายน 2008 ส่งผลให้ เลห์แมน บราเธอร์ (Lehman Brothers) วาณิชธนกิจอันดับต้นๆของโลก ประกาศเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ถือว่าเป็นการล้มครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์วงการวาณิชธนกิจ ตลาดหุ้นดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 500 จุดภายในวันเดียว  วันต่อมา 16 กันยายน AIG บริษัทประกันภัยอันดับหนึ่งของโลกก็ประกาศขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลสหรัฐฯในมูลค่า 85,000 ล้านเหรียญฯ ราคาหุ้น AIG ตกกว่า 60% ภายในวันเดียว รัฐบาลสหรัฐฯต้องออกกฎหมายอัดฉีดเงินกว่า 7 แสนล้านเหรียญฯเข้าสู่ระบบ ในขณะเดียวกัน กระแสข่าววิกฤติเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศไอซ์แลนด์ บรรยากาศเหมือนกับว่า โลกการเงินกำลังถล่มลงมา เดือนตุลาคม 2008 ดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์ก็ลดลงจากต้นปีถึง 37% ส่วนดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกก็ติดลบกว่า 30% และเมื่อถึงปลายเดือนพฤศจิกายน 2008 ดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์ก็ลดลงเหลือ 7,552 จุด ลดลงถึง 47% เทียบกับจุดสูงสุดที่เคยทำไว้เมื่อปี 2007

FM 15 Sep 08

รูปที่ 7 : ดวงปูรณมี 15 กันยายน 2008

          พอมาถึง 1 ธันวาคม 2008 National Bureau of Economic Research ของสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศว่า เศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะหดตัว (Contraction) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2007 และยังไม่ทราบว่าจะถึงจุดต่ำสุด (Trough) เมื่อไร เมื่อตอนเกิด Great Depression ทศวรรษที่ ’30 ใช้เวลาจากจุดสูงสุดถึงต่ำสุด 3 ปี 7 เดือน ตอนเกิด Long Depression ปี 1873-1879 ใช้เวลาจากจุดสูงสุดถึงต่ำสุดนานถึง 5 ปี 5 เดือน

          ปี 2009 ปรากฏการณ์ฟ้าที่สำคัญคือ ดาวพฤหัสกุมดาวเนปจูนในราศีกุมภ์ ดาวสองดวงนี้กุมกัน 3 ครั้ง ครั้งแรก 28 พฤษภาคม 2009 ครั้งที่สอง 10 กรกฎาคม 2009 และครั้งที่สาม คือ 21 ธันวาคม 2009 ผนวกกับดาวสองดวงนี้อยู่ในราศีกุมภ์ที่มีดาวมฤตยูเป็นดาวเกษตร และดาวมฤตยูก็โคจรอยู่ในราศีมีนที่มีดาวพฤหัสและดาวเนปจูนเป็นดาวเกษตร ทำให้เกิดโครงสร้างที่เรียกว่า Mutual Reception หรือในทางโหราศาสตร์ไทยเรียกว่า อนุเกษตร หรือเกษตรแลกเรือน เป็นการเสริมเน้นอิทธิพลของดาวทั้งสามให้เด่นขึ้นมาตลอดปี 2009 นี้ ดาวพฤหัสหมายถึง เศรษฐกิจหรือความสำเร็จ ดาวเนปจูนหมายถึงความเฟ้อ ความลวง หรือความหวัง ส่วนดาวมฤตยูหมายถึงความตื่นตระหนก (panic) หากแปลความในทางเศรษฐศาสตร์ก็หมายถึง ภาวะเศรษฐกิจที่มีความหวังขึ้นมาโดยฉับพลัน ผลที่ปรากฏก็คือ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 FED ประกาศใช้นโยบาย Quantitative Easing ซึ่งหมายถึง การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบโดยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯในตลาดรองจำนวน 300,000 ล้านเหรียญฯ และการประกาศเข้าซื้อ MBS (Mortgage-backed Securities) อีก 1.25 ล้านล้านเหรียญ รวมถึงตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานที่รัฐบาลดูแล อีก 200 ล้านเหรียญ พูดง่ายๆคือ FED พิมพ์เงินเข้าสู่ระบบอีกกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญฯ เงินมหาศาลที่ท่วมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทำให้เกิดความคึกคักในตลาดการเงิน จนเกิดภาวะกระทิงของตลาดหุ้นทั่วโลกต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายอย่างเริ่มส่งสัญญาณในทางดีขึ้นทำให้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบ V Shape ทำเอาหลายท่านเชื่อกันว่าเศรษฐกิจไม่ได้ถดถอยจนเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอีกแล้ว

JU conj NE

รูปที่ 8 : ดาวพฤหัสกุมดาวเนปจูน 28 พ.ค. 2009

          ความหวังว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้วนั้นเป็นผลมาจากอิทธิพลของดาวพฤหัสกุมเนปจูนแลกราศีกับดาวมฤตยู แต่พอเข้าเดือนตุลาคม 2009 ดาวเสาร์ก็ตั้งฉากกับดาวฮาเดสในจุดทวาร ซึ่งให้ความหมายในเชิงความหดหู่และอุปสรรค (ดาวคู่นี้จะทำมุมตั้งฉากทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่สองในวันที่ 7 พฤษภาคม 2010 และครั้งสุดท้ายในวันที่ 18 กรกฎาคม 2010) และดาวเสาร์ตั้งฉากกับดาวพลูโต ที่จุดทวารเช่นกัน ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2009 ซึ่งหมายถึงพัฒนาการที่มีอุปสรรค (ดาวคู่นี้ทำมุมตั้งฉากทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่สองในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2010 และครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 สิงหาคม 2010)

          เมื่อเข้าสู่ปี 2010 ดาวมฤตยูทำมุมตั้งฉากกับดาวฮาเดส ครั้งแรกในวันที่ 10 เมษายน 2010 ซึ่งหมายถึงความเสียหายที่น่าตื่นเต้นตกใจ (ดาวคู่นี้ทำมุมตั้งฉากทั้งหมด 5 ครั้ง ครั้งสุดท้ายคือ 22 ธันวาคม 2011) ถึงตอนนี้ เราคงเห็นชัดเจนแล้วว่า ปัจจัยทางโหราศาสตร์บ่งชี้ว่าวิกฤติการณ์ยังไม่หมดสิ้น ที่สำคัญคือปัจจัยบนฟ้ากำลังเข้าสู่โครงสร้างวิกฤติที่แกนทวารของโลก นั่นคือ “โครงสร้างกางเขนใหญ่ (Grand Cross) ในจรราศี” ระหว่าง ดาวพฤหัสและดาวมฤตยูในราศีเมษ, ดาวฮาเดสในราศีกรกฎ, ดาวเสาร์ในราศีตุลย์ และดาวพลูโตในราศีมกร ซึ่งจะเกิดกลางปี 2010 ที่จะถึงนี้

          โครงสร้างกางเขนใหญ่เป็นโครงสร้างที่เกิดจากการทำมุมฉากระหว่างกันซึ่งเป็นมุมตึงเครียด และเกิดในจรราศี (Cardinal Signs) ซึ่งเป็นราศีที่ให้ผลรุนแรง อิทธิพลที่จะสำแดงออกมาจึงเป็นวิกฤติการณ์ที่ส่งผลในระดับโลก โครงสร้างนี้เริ่มก่อตัวขึ้นในปี 2008 เมื่อดาวพลูโต ดาวแห่งการเปลี่ยนแปลง ได้เข้าไปยังราศีมกร ราศีของโครงสร้างการบริหารจัดการทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสถาบันต่างๆ ต่อมาปลายปี 2009 ดาวเสาร์ ดาวแห่งข้อจำกัดและการเปลี่ยนแปลงก็โคจรเข้าราศีตุล ความร่วมมือระหว่างประเทศอาจเกิดการสะดุด พอกลางปี 2010 ดาวมฤตยู ดาวแห่งความตื่นเต้นฉับพลันก็ยกเข้าสู่ราศีเมษ ราศีแห่งการเริ่มต้นและความไม่สงบ ตามมาด้วย ดาวพฤหัส ดาวแห่งเศรษฐกิจก็เข้าไปกุมกับมฤตยูในราศีเมษ และดาวฮาเดส ดาวแห่งทุกขเวทนาก็ยกเข้าสู่ราศีกรกฎ ราศีแห่งการดูแลปกป้อง ถึงตอนนั้นแล้ว โครงสร้างกางเขนใหญ่ก็ถึงจุดวิกฤติโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม 2010 พบว่า ดาวอังคาร ดาวแห่งกิจกรรมและความไม่สงบ เข้ามากุมดาวเสาร์ ที่จุดตุล ร่วมด้วย ดาวจันทร์โคจรมาเคาะเหตุการณ์ที่จุดเมษ ในช่วง 1-2 เดือนนั้น โลกคงจะเจอกับวิกฤติการณ์สำคัญทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่นักโหราศาสตร์ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป 

Cardinal Climax 2010

รูปที่ 9 : โครงสร้าง Grand Cross ปี 2010

          การคลี่คลายของเหตุการณ์รอบนี้ เริ่มขึ้นประมาณไตรมาสที่ 4 ของปี 2010 เมื่อดาวเสาร์โคจรออกจากตรียางศ์แรกในราศีตุล ตามมาด้วยดาวพฤหัสโคจรออกจากแกนวิกฤตินี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2011 ด้วยอัตราเร็วกว่าปกติหรือที่เรียกว่า โคจรเสริด และยกเข้าราศีพฤษภในช่วงไตรมาส 3 ปี 2011

          ในปี 2012 โครงสร้างวิกฤติแกนโลกนี้ก็จะสลายตัวลงด้วยการทำมุมฉากรอบสุดท้ายระหว่างดาวมฤตยูและดาวพลูโต ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างปุบปับฉับพลัน ซึ่งจะเกิดขึ้นถึง 7 ครั้ง ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2012 จนถึง 17 มีนาคม 2015 กินระยะเวลายาวนานถึง 3 ปี ซึ่งต้นปี 2015 นี้ก็มีโครงสร้างที่บ่งบอกถึงวิกฤติในตลาดหุ้นอีกครั้ง นั่นคือ โครงสร้าง T-Square ของมฤตยู พลูโต ราหู โดยมีอังคารและศุกร์กุมดาวมฤตยู และทำมุม 45 องศากับดาวแอดเมตอส แต่ประเด็นนี้ขอข้ามไปเพราะไม่อยู่ในขอบเขตการศึกษาของบทความนี้

บทสรุป

          ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วง 1930s เริ่มต้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างรุนแรง ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายการเงินการคลังที่ตึงตัว จากการกุมกันของดาวฮาเดสและแอดเมตอสในราศีเมษ ต่อมาเมื่อโครงสร้าง T-Square ดาวเสาร์ มฤตยู พลูโต ในจรราศี ทำงาน เศรษฐกิจก็ถึงจุดต่ำสุด จากนั้นการกุมกันของดาวพฤหัสและเนปจูนทำให้รัฐและธนาคารกลางเปลี่ยนนโยบายมาเป็นแบบคลายตัวและอัดเม็ดเงินเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจจึงกลับมาขยายตัวอีกครั้ง

          ส่วนภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในรอบนี้ เริ่มต้นจากโครงสร้าง T-Square ของดาวเสาร์ เนปจูน และแอดเมตอส ทำให้ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกในปี 2007 ตามมาด้วยโครงสร้างเสาร์เล็งมฤตยูในปี 2008 ทำให้เกิดการตื่นตระหนกในตลาดการเงินก่อน จากนั้นในปี 2009 ปรากฏการณ์พฤหัสกุมเนปจูน แลกราศีกับดาวมฤตยู ทำให้รัฐและธนาคารกลางอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างมโหฬาร จนดูเหมือนว่าเศรษฐกิจพ้นน้ำขึ้นมาแล้ว แต่ปัจจัยโหราศาสตร์ในปี 2010 บ่งชี้ว่า จุดต่ำสุดที่แท้จริงน่าจะอยู่ในปี 2010 มากกว่า เพราะเป็นช่วงที่โครงสร้าง Grand Cross ที่จุดทวารก่อรูปอย่างชัดเจน หลังจากนั้น ปัจจัยทางโหราศาสตร์บ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มคลี่คลาย และคาดว่า จะเกิดการปฏิรูปโครงสร้างอย่างปุบปับฉับพลันในช่วงปี 2012-2015 ส่งผลให้ภาวะตลาดหุ้นตระหนกอีกครั้งในปี 2015

          กลับมาที่คำถามที่ตั้งไว้ในหัวข้อบทความว่า วิกฤติปัจจุบันคือการกลับมาของเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (The Return of Great Depression) หรือไม่? คำตอบในตอนนี้ของผมก็คือ ไม่ทราบ เพราะคำนิยามของเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่มีความแตกต่างกันไปสำหรับนักเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนัก แต่ผมพอจะตอบได้ว่า อย่าเพิ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวแล้ว เพราะวิกฤติในปี 2010 ยังคงรออยู่ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่จบ เรารู้เพียงว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลดบทบาทการเป็นผู้นำหลักเพียงประเทศเดียวของโลกไปแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะมาแทนสหรัฐฯ จีนดูเหมือนมีสถานะที่ดูดี จากขนาดตลาดที่ใหญ่และเศรษฐกิจที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาภายในของจีนยังมีอีกมาก เงินดอลลาร์สหรัฐฯดูเหมือนจะไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือว่าจะเป็นเงินตราหลักของโลกในเหมือนอดีต แต่เงินหยวนของจีนก็ไม่เข้มแข็งและโปร่งใสเพียงพอที่จะมาแทน เรายังคงต้องเฝ้ามองกันต่อไป โหราศาสตร์บอกแนวโน้มให้เราเห็นได้ แต่ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ 100% จากปัจจัยฟ้า ยังคงขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์บนโลกโดยเฉพาะเหล่าผู้นำประเทศจะตัดสินใจนำพาโลกเราไปทางไหน เท่าที่คนทั่วไปอย่างเราๆท่านๆทำได้คือการเตรียมพร้อมที่จะพบกับวิกฤติในปีหน้าด้วยความไม่ประมาท และไม่ตื่นกลัวเกินกว่าเหตุ การปรับเปลี่ยนปฏิรูประบบงานภายในองค์กรหรือแม้แต่ภายในครอบครัว ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาเราให้พ้นไปจากวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย และอาจทำให้เรามีความมั่งคั่งและแข็งแกร่งมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

หมายเหตุ

1. ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานอิสระหน่วยงานหนึ่ง ชื่อว่า National Bureau of Economic Research (NBER) หรืออาจแปลเป็นภาษาไทยว่า สภาวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ หน่วยงานนี้เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1920 ทำหน้าที่บอกว่า วงรอบเศรษฐกิจ (Business Cycle) ของสหรัฐฯอยู่ในภาวะขยายตัวหรือถดถอย โดยให้ข้อมูลวงรอบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1854 ในเว็บไซต์ของ NBER นั้น ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า NBER ไม่ได้ให้นิยามของเศรษฐกิจขยายตัวหรือถดถอยอย่างตายตัว แต่ใช้ตัวเลขหลายๆตัวมาประกอบกัน ทั้ง Real GDP, การจ้างงาน และผลผลิต จนเห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจถึงจุดสูงสุดและเริ่มหดตัวลง แล้วจึงประกาศ

2. ดาวพลูโตในราศีธนู เล็งกับดาวฮาเดสในราศีมิถุน ในรอบนี้ ทั้งหมด 11 ครั้ง เริ่มจาก 12 ก.พ. 2004 และครั้งสุดท้ายในวันที่ 20 ก.ย. 2008

เอกสารอ้างอิง
1. Michelsen, Neil F., Tables of Planetary Phenomena, 3rd edition, (Starcrafts Publishing, Inc. 2007)
2. Meridian, Bill, Planetary Economic Forecasting, Revised 2nd edition, (Cycles Research Publications, 2008)
3. Merriman, Raymond, Geocosmic Projections for the World Economy: 2008-2011, (The Mountain Astrologer, Oct./Nov.2005)
4. Merriman, Raymond, Is It Camelot or an Economic Armageddon?, (The Mountain Astrologer, June/July 2009)
5. สมาคมดาราศาสตร์ไทย; พจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์อังกฤษ-ไทย, (สมาคมดาราศาสตร์ไทย, 2548)
6. พลตรีประยูร พลอารีย์; คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ, (โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ, 2521)
7. 
http://en.wikipedia.org
8. 
http://www.nber.org 

เพิ่มเติมจากการบรรยายในวันโหรจรัญ 2552

          ในการบรรยายวันโหรจรัญ 2552 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อ 13 ก.ย. 2552 นั้น ผมได้เพิ่มสไลด์มา 1 เรื่อง นั่นคือ ดวงอมาวสี 19 ก.ย. 2552

          ผมได้บรรยายว่า จุดอมาวสีในราศีกันย์ (เรือนที่ 9 ของสหรัฐฯ) เข้าแกนเสาร์-มฤตยู โดยมีโครงสร้าง T-Square ของพุธ พลูโต ฮาเดส และมีลัคนาสหรัฐฯกุมพลูโตอยู่ ประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯกำลังพยายามผลักดันกฎหมายปฏิรูประบบสุขภาพเข้าสภาคองเกรส ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยฟ้าพอดี แต่เขาจะผลักดันสำเร็จหรือเปล่า? ก็เห็นว่าโครงสร้างดังกล่าวอยู่ในแกนเสาร์-มฤตยู ซึ่งเป็นแกนร้าย จึงดูเพิ่มเติมที่พระเคราะห์สนธิของกฎหมายคือ Me+Ze-Ar = Ze = Ad = Ve/Ne ก็พอสรุปได้ว่า ปัจจัยฟ้าไม่เกื้อหนุนให้โอบามากระทำการสำเร็จเลย และคงส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย เศรษฐกิจที่ดูเหมือนกำลังเป็นตัว V รวมถึงตลาดหุ้นที่เฟื่องฟูก็น่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะความเป็นจริงอีกครั้ง นักลงทุนควรระมัดระวังครับ




เจาะลึกโหรา

ธาตุทั้งสี่ และการนำไปใช้เชิงจิตวิทยา
ไฟ ดิน ลม น้ำ ปฐมบทของโหราศาสตร์
ดวงจีโอเดติก ดาวพลูโต และวงรอบเสียกรุง 2310
โหราศาสตร์กับเงินตราสกุลหลักของโลก article
คัมภีร์เตตราบิโบลส ต้นธารของโหราศาสตร์ไทยและยูเรเนียน? article
บ้านเหนือ บ้านใต้ ตอนจบ article
บ้านเหนือ บ้านใต้ ตอน 1 article
เรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน article
พลูโตในยุคสมัยต่างๆ article
เรือนชะตา 24 ระบบ article
โหราศาสตร์ธุรกิจ: กรณีศึกษาอัตราเงินเฟ้อและตลาดหลักทรัพย์ไทย article
ข่าวล่า เกี่ยวกับการประชุมโหราศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ article
การประชุมทางวิชาการโหราศาสตร์ระหว่างชาติประจำปี ๒๕๑๘ article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 4: เซอุส article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 3: ฮาเดส article
เลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 2: คิวปิโด article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 1: ที่มาของดาวทิพย์ article
ความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอนจบ article
ความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 1 article
Daylight Saving Time หรือ Summer Time ปัญหากวนใจของนักพยากรณ์ article
คอมพิวเตอร์ในวงการโหราศาสตร์ article
วิวัฒนาการ ของ โหราศาสตร์ article
โหราศาสตร์ กับที่มาของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์ article
จารึกมรกต : ที่มาของ ปรัชญามูลฐาน แห่ง โหราศาสตร์ article



[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (89602)
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ แบบนี้ครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น ืnamsirin@gmail.com วันที่ตอบ 2009-09-15 13:34:15


ความคิดเห็นที่ 2 (89608)
บทความเยี่ยมมาก มีข้อมูล ย้อน อดีต สู่ ปัจจุบัน ไปยัง อนาคต
ผู้แสดงความคิดเห็น nUm วันที่ตอบ 2009-09-15 17:00:42


ความคิดเห็นที่ 3 (90132)
ขอบคุณที่เปิดโอกาสให้คนได้รับความรู้ด้านโหราศาสร์เชิงวิชาการ ถือเป็นวิทยาทาน ขอให้ทำต่อไปนานๆค่ะ
ผู้แสดงความคิดเห็น แมงเม่าชรา (nopsurat-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-09-27 19:52:20


ความคิดเห็นที่ 4 (94042)

เมื่อเข้าสู่ปี 2010 ดาวมฤตยูทำมุมตั้งฉากกับดาวฮาเดส ครั้งแรกในวันที่ 10 เมษายน 2010 ซึ่งหมายถึงความเสียหายที่น่าตื่นเต้นตกใจ (ดาวคู่นี้ทำมุมตั้งฉากทั้งหมด 5 ครั้ง ครั้งสุดท้ายคือ 22 ธันวาคม 2011) ถึงตอนนี้ เราคงเห็นชัดเจนแล้วว่า ปัจจัยทางโหราศาสตร์บ่งชี้ว่าวิกฤติการณ์ยังไม่หมดสิ้น ที่สำคัญคือปัจจัยบนฟ้ากำลังเข้าสู่โครงสร้างวิกฤติที่แกนทวารของโลก นั่นคือ “โครงสร้างกางเขนใหญ่ (Grand Cross) ในจรราศี” ระหว่าง ดาวพฤหัสและดาวมฤตยูในราศีเมษ, ดาวฮาเดสในราศีกรกฎ, ดาวเสาร์ในราศีตุลย์ และดาวพลูโตในราศีมกร ซึ่งจะเกิดกลางปี 2010 ที่จะถึงนี้

- 10 เมย. 2553 เครื่องบินโปแลนด์ตก ประธานาธิบดีและเหล่าผู้นำตายทั้งคณะ

                      ส่วนไทยเกิดทหารปะทะประชาชนเจ็บตาย ระนาว

จะเกิดอะไรต่อไป ?

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ซาลาเปา วันที่ตอบ 2010-04-21 16:42:03


ความคิดเห็นที่ 5 (105470)
นักเศรษฐศาสตร์ในโลกคาดคะเน เรื่องฟองสบู่แตกมานานหลายปีแล้ว แต่สหรัฐฯก็ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่ออัดฉีดป้องกันการล้มครืน รวมทั้งประเทศไทยด้วย (นโยบายไทยเข้มแข็ง) ความจริงก็คือว่า ตลาดผลผลิต (Real sector) ตลาดการเงิน (Financial sector) ต้องสอดคล้องกัน มิฉะนั้น ภาวะราคาเฟ้อ (เงินมีค่าลดลงเรื่อยๆ เทียบกับสินค้า) ก็จะเกิดขึ้น เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดภาวะเงินฝืด (depression) แต่ในปัจจุบันจะเรียกว่า stagflation คือเงินฝืดเพราะราคาเฟ้อ สินค้าบริการขายไม่คล่อง เพราะการคาดคะเน (expectation) หรือเกิดความไม่แน่ใจ อาทิ ปี2555-57 น้ำจะท่วมอีกหรือเปล่า มากขึ้นหรือน้อยกว่าปี 2554 เมื่อไม่แน่ใจการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย (จำเป็นน้อย เช่น เฟอร์นิเจอร์) ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะอาจจะกลายเป็นขยะเน่าในช่วง 1 เดือน อันที่จริงเศรษฐกิจจะขยายตัวหรือไม่นั้น กระทบรัฐบาลมากกว่า เพราะภาษีทางตรงและทางอ้อมจะจัดเก็บได้ไม่เข้าเป้า ทำให้ต้องกู้ยืมเงินอนาคตมาใช้จ่าย ผู้ที่เป็นเกษตรกรแบบพอเพียง สามารถอยู่ได้อย่างสบายๆ ถ้าไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เพราะทำเองกินเอง ทำเองใช้เองได้
ผู้แสดงความคิดเห็น tradition.dr@gmail.com วันที่ตอบ 2011-12-06 21:48:42


ความคิดเห็นที่ 6 (106149)
ผมว่าเป็นการวิเคราะห์แบบหมอดูคู่กับหมอเดาได้เนียนจริงๆแต่หาความน่าเชื่อถือไม่มีเลยครับมนุษย์มักจะหาศาสตร์มาอธิบายเหตุการณ์ที่มันเกิดมาแล้วได้เป็นตุเป็นตะได้เสมอแต่สติปัญญายังห่างไกลที่จะอธิบายสิ่งที่มันจะเกิดในวันพรุ่งนี้ได้อย่างแม่นยำ....
ผู้แสดงความคิดเห็น โทนี่ วันที่ตอบ 2012-03-03 02:41:04



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
eXTReMe Tracker