ReadyPlanet.com
dot
dot dot
dot
เกี่ยวกับเรา Horauranian.com
dot
bulletรำลึกถึง อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์
bulletเจตนารมณ์
bulletติดต่อเรา
bulletโหราพยากรณ์
dot
บทความ
dot
bulletเกร็ดโหรน่ารู้
bulletเจาะลึกโหรา
bulletโหราศาสตร์บ้านเมือง
bulletBlog อ.วิโรจน์
bulletแนะนำตำรา
bulletไพ่ยิปซี จักรราศี (Celestial Tarot)
bulletกระดานถามตอบ
bulletคลังบทความดวงเมืองเศรษฐกิจ 2550-2552
bulletคลังกระทู้โหราศาสตร์ที่น่าสนใจ
dot
บทความน่าสนใจ
dot
bulletประเทศไทยหลังคดียึดทรัพย์ 2553
bulletReturn of Great Depression?
bulletChange! ผู้นำยุคใหม่ของโลก
bulletเรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน
bulletโหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
bulletเลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง
bullet6 ขั้นตอนเพื่อการดูหมออย่างคุ้มค่า
bulletชนะใจคนรัก 12 ราศี
dot
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
dot
bulletเพจ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletCelestial Strategist Blog
bulletBlog โหราเศรษฐกิจ
bulletเว็บไซต์ที่น่าสนใจ




วิวัฒนาการ ของ โหราศาสตร์ article

โดย Pallas
ตุลาคม 2549

          โหราศาสตร์ (Astrology) เป็นศาสตร์ที่มีประวัติมายาวนาน ตั้งแต่มนุษย์เริ่มสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้า โดยเป็นศาสตร์ที่เติบโตผสมผสานมากับดาราศาสตร์ (Astronomy) เทววิทยา (Theology) และศาสนา (Religion) โดยในยุคก่อนประวัติศาสตร์ พบว่า มีการพยากรณ์โชคชะตาจากการสังเกตตับของสัตว์ที่ถูกบูชายัญต่อเทพเจ้า ลักษณะของพยากรณ์ศาสตร์เช่นนี้จะคล้ายกับพิธีกรรมทางศาสนา แต่ยังไม่ใช่การนำปรากฏการณ์ท้องฟ้ามาใช้พยากรณ์อย่างโหราศาสตร์ จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าการนำปรากฏการณ์บนฟ้ามาใช้พยากรณ์ได้เริ่มต้นในยุคอารยธรรมแรกๆของโลก ณ ดินแดนตะวันออกกลางในปัจจุบัน

โหราศาสตร์ยุคเมโสโปเตเมีย (Mesopotamian Period)

          แหล่งกำเนิดของโหราศาสตร์คาดว่าอยู่ที่ดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ที่แปลว่า ดินแดนระหว่างแม่น้ำ 2 สาย คือ ไทกริส (Tigris) และยูเฟรติส (Euphrates) ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ก่อเกิดเป็นเมืองขึ้นครั้งแรกๆในโลกประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อชาวสุเมเรียน (Sumerian) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในดินแดนนี้และได้ประดิษฐ์การเขียนขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกด้วยอักษรคูนิฟอร์ม (มีลักษณะคล้ายลิ่มกดบนดินเหนียว) ต่อมา กษัตริย์ซาร์กอนแห่งอัคคาด (Sargon of Akkad) ได้เอาชนะชาวสุเมเรียนและยึดครองดินแดนแถบนี้เมื่อประมาณ 2,330 ปีก่อนคริสตกาล โดยได้แผ่ขยายอาณาจักรอัคคาเดียนครอบคลุมดินแดนเมโสโปเตเมีย ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน และอียิปต์ ทำให้ความรู้ของดินแดนเหล่านี้ได้ผสมผสานกัน เกิดเป็นวิวัฒนาการของความรู้แขนงต่างๆ แต่หลังจากยุคของพระองค์ประมาณ 100 ปี อาณาจักรอัคคาเดียนก็เสื่อมสลายลง นำไปสู่ความวุ่นวายในดินแดนนี้จากหลายชนเผ่า โดยชาวอัซซีเรียน (Assyrian) มีบทบาทนำในด้านการเมืองการปกครอง และชาวบาบิโลเนียน (Babylonian) มีบทบาทนำในด้านวัฒนธรรม ซึ่งมีชาวคาลเดียน (Chaldean) ชนกลุ่มหนึ่งทางตอนใต้ของบาบิโลน เป็นกลุ่มชนผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ ทำให้โหราศาสตร์มีความรุ่งเรืองอย่างมาก (คำว่าคาลเดียนจึงมีความหมายว่า นักโหราศาสตร์) ส่งผ่านมายังยุคที่ชาวเปอร์เซียเข้ามายึดครอง และยุคที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) แผ่แสนยานุภาพเข้ามายึดครองประมาณ 334 ปีก่อนคริสตกาล (2,300 ปีก่อน) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนนำโหราศาสตร์พัฒนาเข้าสู่ยุคต่อไป
 ในช่วงต้นของยุคเมโสโปเตเมียนี้ โหราศาสตร์ยังอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเป็นลางบอกเหตุที่ส่งผลต่ออาณาจักรและกษัตริย์ ยังไม่มีการนำมาใช้พยากรณ์ดวงชะตาบุคคลทั่วไป ชาวเมโสโปเตเมีย (เป็นคำกลางๆที่หมายถึงกลุ่มชนที่อาศัยในดินแดนแห่งนี้ในยุคนั้น) ได้พัฒนาการสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้าอย่างเป็นระบบเพื่อหารูปแบบที่ปรากฏการณ์ฟ้าส่งผลต่อเหตุการณ์ของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น บันทึกที่พบในยุคอัคคาเดียนประมาณ 2,300 ปีก่อนคริสตกาล ที่ว่า

          ถ้าดาวศุกร์ปรากฏ ณ ทิศตะวันออกในเดือน Airu โดยดาวแฝดใหญ่และดาวแฝดเล็กอยู่รอบเธอ และแสงสว่างของเธอดูหมองลง กษัตริย์แห่ง Elam จะล้มป่วยและสิ้นพระชนม์ลง

          นอกจากนี้ยังพบ จารึกดาวศุกร์แห่งอัมมิซาดูกา (Venus Tablets of Ammizaduga) ซึ่งบันทึกดาวศุกร์ในช่วงต่างๆอย่างเป็นระบบพร้อมลางบอกเหตุที่เกิดขึ้น ชาวเมโสโปเตเมียเชื่อว่าดาวฤกษ์และดาวเคราะห์มีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า ดาวศุกร์หรือเทพีอิชตาร์ (Ishtar) เป็นดาวที่ใช้ในการพยากรณ์มากที่สุดดวงหนึ่ง

          ในยุคนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับระบบจักรราศีที่แบ่งออกเป็นราศีละ 30 องศาเท่ากัน บ้างก็เชื่อว่ามีการพัฒนาจักรราศีเมื่อ 4,700 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นยุคที่จุดวิษุวัต (Vernal Equinox) กำลังโคจรเข้าไปอยู่ในกลุ่มดาวฤกษ์ราศีพฤษภ อย่างไรก็ตาม บางความเห็นเชื่อว่า จักรราศี 12 ราศีได้ถูกพัฒนาขึ้นประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยก่อนหน้านั้นการระบุตำแหน่งดวงดาวยังเป็นเพียงการระบุตำแหน่งในกลุ่มดาวฤกษ์แต่ยังไม่ได้ระบุเป็นองศาที่แน่นอนในราศีนั้น

          พึงกล่าวไว้ที่นี้ด้วยว่า แม้จะเชื่อว่าโหราศาสตร์ก่อกำเนิดในดินแดนเมโสโปเตเมีย แต่อาณาจักรอียิปต์ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับเมโสโปเตเมียก็ได้พัฒนาความรู้ดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ไปพร้อมกัน โดยอียิปต์มีความโดดเด่นในเรื่องการสร้างสิ่งก่อสร้างที่สอดคล้องกับตำแหน่งดาวฤกษ์บนท้องฟ้า

โหราศาสตร์ยุคกรีก (Hellenistic Period)

          ประมาณ 334 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ยึดครองดินแดนอียิปต์ เมโสโปเตเมีย อิหร่าน จนถึงตอนเหนือของอินเดีย อียิปต์ซึ่งถูกปกครองโดยกรีกกลายเป็นศูนย์กลางของโหราศาสตร์ ความรู้โหราศาสตร์โบราณทั้งจากอียิปต์และบาบิโลนจึงได้พัฒนามาสู่วิทยาการและปรัชญาแบบกรีก และกระจายไปทั่วอาณาจักรของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ทั้งนี้ บทความนี้จะลงรายละเอียดเฉพาะวิวัฒนาการของโหราศาสตร์ตะวันตกเท่านั้น เนื่องจากมีหลักฐานตำราให้ค้นคว้ามากกว่าโหราศาสตร์ที่มาทางอินเดีย ซึ่งเป็นที่มาของโหราศาสตร์ไทย

          โหราศาสตร์ยุคกรีกได้นำชื่อเทพเจ้าของตนมาเป็นชื่อดาวเคราะห์แทนเทพเจ้าของเมโสโปเตเมีย แต่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น ดาวศุกร์หรือเทพีวีนัส (Venus ของโรมันหรือ Aphrodite ของกรีก) ซึ่งตรงกับเทพีอิชตาร์ (Ishtar) ของเมโสโปเตเมีย ที่เป็นเทพีแห่งสันติสุข และบางครั้งหมายถึงชัยชนะในสงครามเช่นกัน หรือดาวพุธหรือเทพเมอร์คิวรี (Mercury ของโรมันหรือ Hermes ของกรีก) ซึ่งตรงกับเทพนาบู (Nabu) ของเมโสโปเตเมีย เทพผู้ส่งข่าวสาร ผู้อุปถัมภ์การเขียนและนักปราชญ์ (ตรงนี้ขออนุญาตแทรกเกร็ดเล็กๆน้อยๆว่า ในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars Episode I จอร์จ ลูคัสได้ตั้งชื่อดาวของ Queen Amidala ว่า นาบู (Naboo) ซึ่ง Queen Amidala เป็นผู้ที่ต้องการให้ใช้การทูตการเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ไม่ใช่สงคราม ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของเทพนาบูเข้าใจว่าจอร์จ ลูคัสก็คงทราบความหมายของเทพนาบูหรือดาวพุธเป็นอย่างดี แม้ว่าจะสะกดต่างกันเล็กน้อย)

          ผลงานที่สำคัญในยุคนี้อีกอย่างหนึ่งคือ ประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล นักโหราศาสตร์ชาวกรีก-อียิปต์ได้พัฒนาลำดับของดาวเคราะห์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ ลำดับคาลเดียน (Chaldean Order) ซึ่งลำดับจากอัตราการโคจรที่สังเกตเห็นจากโลกจากดาวที่โคจรช้าสุดไปยังดาวที่โคจรเร็วสุด ดังนี้ เสาร์ พฤหัส อังคาร อาทิตย์ ศุกร์ พุธ และจันทร์ ลำดับนี้เป็นที่มาของยามสากล (Planetary Hours) และการกำหนดชื่อวันทั้ง 7

          ปรัชญามูลฐานของโหราศาสตร์ก็ได้เกิดขึ้นในยุคนี้โดยท่านเฮอร์เมส ทริสเมจิตุส นั่นคือ “สิ่งที่อยู่เบื้องล่างย่อมเหมือนสิ่งที่อยู่เบื้องบน” (“As Above, So Below”) หรือปรัชญาอาตมัน (Microcosm) และปรมาตมัน (Macrocosm) นั่นเอง นักโหราศาสตร์ยุคกรีกได้ขยายความจากปรัชญามูลฐานนี้นำไปสู่การประยุกต์ใช้โหราศาสตร์กับร่างกายมนุษย์ (โหราศาสตร์การแพทย์) สัตว์ สมุนไพร อัญมณี สี ต่างๆมากมาย

          ปรมาจารย์โหราศาสตร์คนสำคัญอีกคนหนึ่งในยุคนี้ ก็คือ คลอเดียส ปโตเลมี (Claudius Ptolemy ค.ศ. 100-178) ชาวอียิปต์ที่อยู่ในเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้ปกครองของโรมัน ปโตเลมี ได้เขียนตำราโหราศาสตร์คลาสสิคตลอดกาลชื่อ “Tetrabiblos” ที่แปลว่า “ตำรา 4 เล่ม” ซึ่งนำหลักการวิทยาศาสตร์แบบอริสโตเติล (Aristotle) มาสู่หลักโหราศาสตร์ กล่าวถึง ธาตุทั้งสี่ จักรราศีแบบสายนะ (Tropical Zodiac) รวมถึงการผูกดวงชะตา ณ เวลาปฏิสนธิ (Conception) และเวลาเกิด (Birth) เพื่อพยากรณ์ชะตาชีวิตของแต่ละบุคคล โดยเชื่อว่าเวลาปฏิสนธิและเวลาเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่รับเอาพลังจักรวาลซึ่งแสดงออกทางปรากฏการณ์บนท้องฟ้า และจะชี้ให้เห็นโชคชะตาของบุคคลนั้นผ่านทางตำแหน่งดาวบนท้องฟ้า

          ในช่วงนี้เองที่โหราศาสตร์เริ่มมีการแยกจักรราศีออกเป็น 2 ระบบ คือแบบสายนะ (Tropical Zodiac) และแบบนิรายนะ (Sidereal Zodiac) แบบสายนะซึ่งเป็นที่นิยมของนักโหราศาสตร์ยุคกรีก ได้กำหนดจักรราศีโดยเริ่มต้นจุดเมษที่จุดวิษุวัต (Vernal Equinox) หรือจุดเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือของแต่ละปี ขณะที่แบบนิรายนะ ซึ่งเป็นที่นิยมในอินเดีย จะใช้จุดเริ่มต้นราศีเมษโดยอ้างอิงกลุ่มดาวฤกษ์ราศีเมษบนท้องฟ้า ซึ่งแต่เดิมทั้ง 2 จุดเป็นจุดเดียวกัน แต่ภายหลังจุดวิษุวัตได้เคลื่อนไปจากกลุ่มดาวฤกษ์เดิม (อัตราการเคลื่อนที่โดยประมาณ 72 ปีต่อ 1 องศา)

โหราศาสตร์ยุคกลาง (Medieval Period) 

          ยุคกลางหรือบางครั้งนักประวัติศาสตร์จะเรียกว่ายุคมืด เนื่องจากเป็นยุคที่คริสตศาสนาได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง และขยายอำนาจของศาสนจักรไปสู่อำนาจทางการเมืองของฝ่ายอาณาจักร ทำให้ความรู้ความเชื่ออื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับคริสตจักรได้ถูกปราบปรามและสูญหายไปจำนวนมาก

          โหราศาสตร์ก็ไม่รอดพ้นชะตากรรมดังกล่าวเช่นกัน คริสตจักรได้ถือว่าโหราศาสตร์เป็นความเชื่อของพวกนอกศาสนาที่จะต้องถูกปราบปราม โดยเฉพาะเซนต์ออกุสติน (St. Augustine ค.ศ. 354-430) ได้วิพากษ์วิจารณ์โหราศาสตร์อย่างรุนแรงและได้ผล (เซนต์ออกุสตินเคยศึกษาโหราศาสตร์ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นชาวคริสต์) ท่านกล่าวว่า ถ้านักโหราศาสตร์บอกว่าดวงดาวกำหนดการกระทำของมนุษย์ แปลว่ามนุษย์เกิดมามีโชคชะตาที่ลิขิตเอาไว้แล้วซึ่งขัดกับหลัก Free Will ที่เป็นหัวใจของคริสตศาสนา (มนุษย์สามารถเลือกที่จะศรัทธาในพระเจ้า ซึ่งจะทำให้โชคชะตาเปลี่ยนไปตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้) แต่หากนักโหราศาสตร์บอกว่าดวงดาวไม่เป็นเหตุของการกระทำของมนุษย์ โหราศาสตร์ก็ไม่มีความหมาย นอกจากนี้ ท่านยังบอกอีกว่า ถ้านักโหราศาสตร์พยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ นั่นเป็นเพราะถูกปีศาจดลใจ เพื่อให้มนุษย์ยอมรับชะตาลิขิต ไม่ใช่ยอมรับศรัทธาในพระเจ้า

          แม้ว่าคริสตจักรในขณะนั้นเป็นศัตรูคนสำคัญของโหราศาสตร์ แต่ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของพระเยซูก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์เช่นกัน โหราจารย์ (The Magi) ชาวเปอร์เซีย 3 คนได้มองเห็นดาวแห่งเบธเลเฮม (Star of Bethlehem) ทำให้พยากรณ์ว่าจะมีกษัตริย์ชาวยิวมาเกิด จึงเดินทางมานมัสการพระกุมารเยซู จากคำพยากรณ์นี้ทำให้พระเจ้าแฮโรดสั่งประหารเด็กอายุสองขวบลงมาในบ้านเบธเลเฮมและใกล้เคียงทั้งสิ้นเพื่อไม่ให้มาแย่งชิงบัลลังก์จากพระองค์ไปได้ ในเรื่องนี้ โจฮันส์ เคปเลอร์ นักดาราศาสตร์และนักโหราศาสตร์คนสำคัญได้ค้นคว้าและระบุว่าดาวแห่งเบธเลเฮม คือมหาผัสสะ (Great Conjunction) หรือการกุมกันของดาวพฤหัสและดาวเสาร์ ถึง 3 ครั้งในปีนั้น

          อย่างไรก็ตาม ด้วยทัศนคติในแง่ลบที่คริสตจักรมีต่อโหราศาสตร์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพวกนอกศาสนา ทำให้โหราศาสตร์แทบจะสาบสูญไปในยุคมืดภายหลังอาณาจักรโรมันถูกทำลายโดยอนารยชนในปี ค.ศ. 410 แต่โหราศาสตร์กลับไปรุ่งเรืองในอาณาจักรอิสลาม ซึ่งเป็นความรู้ที่ถ่ายทอดผ่านทางนักโหราศาสตร์ชาวเปอร์เซีย อาหรับ และยิว ตำราโหราศาสตร์ในยุคกรีกจำนวนมากได้มีการแปลออกเป็นภาษาอาหรับ

          ในตอนปลายของยุคกลาง นักโหราศาสตร์ในยุโรปได้เริ่มกลับมาเรียนรู้จากชาวอาหรับอีกครั้ง ในศตวรรษที่ 12 ตำราวิทยาศาสตร์และโหราศาสตร์ภาษาอาหรับได้รับการแปลเป็นภาษาละตินอีกครั้ง รวมถึงตำราเตเตราบิบลอสที่ได้รับการแปลกลับมาเมื่อ ค.ศ. 1138 ในยุคนี้ จักรวาลแบบปโตเลมี (โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล) และหลักเหตุผลแบบอริสโตเติลได้กลับมาประนีประนอมกับศาสนจักร และทำให้สามารถเผยแพร่ความรู้โหราศาสตร์ได้อีกครั้ง เซนต์โธมัส อควินาส (St. Thomas Aquinas ค.ศ. 1225-1274) ได้ยอมรับว่าโหราศาสตร์สามารถพยากรณ์ได้ในระดับกายภายนอก แต่ระดับวิญญาณนั้น ท่านบอกว่ามนุษย์ยังมีอำนาจเหนืออิทธิพลดวงดาวตามหลัก Free Will

โหราศาสตร์ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance Period)

          ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการได้เริ่มต้นในอิตาลี โดยการฟื้นฟูศิลปวิทยาการต่างๆที่เคยถูกมองว่าเป็นพวกนอกศาสนากลับมาอีกครั้งหนึ่ง เช่น วิทยาการของกรีก เป็นต้น นักปรัชญายุคนี้ที่สำคัญอย่าง มาร์ซิลิโอ ฟิซิโน (Marsilio Ficino ค.ศ. 1433-1499) ได้สอนโหราศาสตร์การแพทย์ และได้พัฒนาการรักษาโรคโดยใช้ดนตรีและโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นการประยุกต์หลักการ “As above, so below” มาใช้ รวมถึงท่านได้นำโหราศาสตร์ไปใช้ร่วมกับเวทมนตร์ผ่านทางพิธีกรรมและเครื่องรางของขลังต่างๆ 

          นอกจากการนำโหราศาสตร์ไปผสมกับเวทมนตร์แล้ว นักโหราศาสตร์ยุคนี้ยังใช้ภาษาสัญลักษณ์ในการพยากรณ์ อย่างเช่น นอสตราดามุส (Nostradamus ค.ศ. 1503-1566) ได้สังเกตวงรอบ 20 ปีของมหาผัสสะระหว่างดาวพฤหัสและดาวเสาร์เพื่อพยากรณ์เหตุการณ์สำคัญต่างๆผ่านทางคำพยากรณ์ของเขา
 ในยุคนี้ โหราศาสตร์ได้พัฒนาไปสู่ความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และเป็นที่แพร่หลายในหมู่กษัตริย์และผู้นำทางศาสนา จอห์น ดี (John Dee) ได้วางฤกษ์วันพระราชพิธีราชาภิเษกของพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ โดยวางให้อาทิตย์ ศุกร์ และพฤหัส ทำมุมดีต่อดาวกำเนิดของพระองค์ ส่งผลให้พระราชินีทรงครองราชย์ยาวนานถึง 44 ปี

          โจฮันส์ เคปเลอร์ (Johannes Kepler ค.ศ. 1571-1630) นักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ได้พัฒนาทฤษฎีวงโคจรของดาวเคราะห์ใหม่ ทำให้การคำนวณปฏิทินดาวแม่นยำขึ้น นอกจากนี้เคปเลอร์ยังเป็นนักโหราศาสตร์ที่พยายามปฏิวัติวงการโหราศาสตร์จากความไม่มีเหตุผลไปสู่ความเป็นเหตุเป็นผลมากยิ่งขึ้น

          นักโหราศาสตร์ชื่อก้องอีกท่านหนึ่งในศตวรรษที่ 17 คือท่านวิลเลียม ลิลลี่ (William Lilly ค.ศ. 1602-1681) ได้แต่งตำรา Christian Astrology ขึ้นเพื่อบอกว่าโหราศาสตร์ที่แท้จริงแล้วจะสอดคล้องกับหลัก Free Will ของคริสตศาสนา และท่านยังได้เขียนหลักโหราศาสตร์กาลชะตา (Horary Astrology) ในตำราเล่มดังกล่าวด้วย นอกจากโหราศาสตร์กาลชะตาแล้ว ท่านยังเป็นปรมาจารย์ด้านโหราศาสตร์บ้านเมือง (Mundane Astrology) โดยได้พยากรณ์สงครามกลางเมืองของอังกฤษ และที่สำคัญท่านได้พยากรณ์เหตุการณ์กาฬโรคระบาดและไฟไหม้ใหญ่ในกรุงลอนดอนล่วงหน้าถึง 15 ปี

          ถ้าจะให้สรุปจุดเด่นของโหราศาสตร์ยุค Renaissance นั่นคือเป็นยุคที่มีการนำโหราศาสตร์ไปประยุกต์กับเรื่องต่างๆอย่างกว้างขวาง เช่น การเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemy) การแพทย์ เวทมนตร์ ฯลฯ ทำให้โหราศาสตร์ดูเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติไป แม้ว่าจะมีนักโหราศาสตร์ชั้นนำบางท่านพยายามทำให้โหราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ก็ดูจะเป็นส่วนน้อยเท่านั้น นี่ส่งผลให้เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการตื่นรู้หรือ Age of Enlightenment (ศตวรรษที่ 18-19) ชนชั้นนำในยุโรปจึงมองข้ามโหราศาสตร์ไป จนเหลือเพียงแค่เป็นเรื่องราวแบบตำนานและปฏิทินโหรทั่วไปเท่านั้น อย่างไรก็ตาม นักโหราศาสตร์ชั้นนำก็ยังมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ เช่น ราฟาเอล (Raphael หรือชื่อจริง R.C. Smith ค.ศ. 1795-1832) ผู้กำเนิดปฏิทินโหร (Raphael’s Ephemeris) ตั้งแต่ ค.ศ. 1821 และยังคงพิมพ์อยู่จนถึงปัจจุบัน

โหราศาสตร์ยุคใหม่ (Modern Period)

          เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 นักโหราศาสตร์ได้พัฒนาความรู้โดยนำความรู้จิตวิทยามาผสมมากยิ่งขึ้น เช่น อลัน ลีโอ (Alan Leo หรือชื่อจริง W.F. Allen ค.ศ. 1860-1917), คาร์ล จุง (Carl Jung ค.ศ. 1875-1961) ฯลฯ ในเยอรมัน ท่านอัลเฟรด วิตเตอ (Alfred Witte) ได้นำความรู้โหราศาสตร์ยุคนั้นมาขัดเกลาตกแต่ง ตัดเอากระพี้ออกไปให้เหลือแต่แก่น ต่อยอดหลักการที่ดีออกไป ก่อกำเนิดเป็นโหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์ก และเผยแพร่มายังสหรัฐอเมริกาในชื่อโหราศาสตร์ยูเรเนียน

          ในแง่ของคนทั่วไปนั้น โหราศาสตร์ได้เปิดตัวสู่คนทั่วไปผ่านการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสื่อต่างๆ เริ่มต้นจากคอลัมน์ดวงชะตาจากราศีในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ทำให้คนทั่วไปรู้จักโหราศาสตร์ไปในวงกว้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในอดีต 

          และเมื่อมาถึงศตวรรษที่ 21 อินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นสื่อที่ทำให้คนเข้าถึงโหราศาสตร์ได้ง่ายกว่าในอดีตอย่างมาก เห็นได้จากคำว่า “ดูดวง” กลายเป็นคำค้นหาที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรกตลอดกาลในเมืองไทย จนทำให้หลายครั้ง โหราศาสตร์กลายเป็นความบันเทิง มากกว่าเป็นเรื่องจริงจัง ซึ่งในบางแง่มุมดูคล้ายกับโหราศาสตร์ยุค Renaissance ที่ดูเหมือนเฟื่องฟู แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมเช่นกัน เว็บไซต์ Horauranian.com ของเรา ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยมุ่งหวังที่จะให้ความรู้โหราศาสตร์ที่เป็นวิชาการจริงๆได้เผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต และหวังว่าโหราศาสตร์จะยังคงวิวัฒนาการต่อไปเพื่อให้มนุษย์เข้าใจและรู้จักใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับจังหวะของท้องฟ้านั่นเอง

เอกสารอ้างอิง
1. พล.ต.ประยูร พลอารีย์: อารัมภบทโหราศาสตร์ บทเรียนวิชาโหราศาสตร์ ตอนที่ 1; โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ.
2. Whitfield, Peter: Astrology a history; The British Library, 2001.
3. Cornelius, Geoffrey, Hyde, Maggie and Webster, Chris: Astrology for Beginners; Icon Books, 1995.
4. Hand, Robert: The History of Astrology – Another View; 1996.




เจาะลึกโหรา

ธาตุทั้งสี่ และการนำไปใช้เชิงจิตวิทยา
ไฟ ดิน ลม น้ำ ปฐมบทของโหราศาสตร์
ดวงจีโอเดติก ดาวพลูโต และวงรอบเสียกรุง 2310
โหราศาสตร์กับเงินตราสกุลหลักของโลก article
คัมภีร์เตตราบิโบลส ต้นธารของโหราศาสตร์ไทยและยูเรเนียน? article
บ้านเหนือ บ้านใต้ ตอนจบ article
บ้านเหนือ บ้านใต้ ตอน 1 article
เรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน article
การกลับมาของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Return of Great Depression?) article
พลูโตในยุคสมัยต่างๆ article
เรือนชะตา 24 ระบบ article
โหราศาสตร์ธุรกิจ: กรณีศึกษาอัตราเงินเฟ้อและตลาดหลักทรัพย์ไทย article
ข่าวล่า เกี่ยวกับการประชุมโหราศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ article
การประชุมทางวิชาการโหราศาสตร์ระหว่างชาติประจำปี ๒๕๑๘ article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 4: เซอุส article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 3: ฮาเดส article
เลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 2: คิวปิโด article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 1: ที่มาของดาวทิพย์ article
ความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอนจบ article
ความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 1 article
Daylight Saving Time หรือ Summer Time ปัญหากวนใจของนักพยากรณ์ article
คอมพิวเตอร์ในวงการโหราศาสตร์ article
โหราศาสตร์ กับที่มาของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์ article
จารึกมรกต : ที่มาของ ปรัชญามูลฐาน แห่ง โหราศาสตร์ article



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
eXTReMe Tracker