ReadyPlanet.com
dot
dot dot
dot
เกี่ยวกับเรา Horauranian.com
dot
bulletรำลึกถึง อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์
bulletเจตนารมณ์
bulletติดต่อเรา
bulletโหราพยากรณ์
dot
บทความ
dot
bulletเกร็ดโหรน่ารู้
bulletเจาะลึกโหรา
bulletโหราศาสตร์บ้านเมือง
bulletBlog อ.วิโรจน์
bulletแนะนำตำรา
bulletไพ่ยิปซี จักรราศี (Celestial Tarot)
bulletกระดานถามตอบ
bulletคลังบทความดวงเมืองเศรษฐกิจ 2550-2552
bulletคลังกระทู้โหราศาสตร์ที่น่าสนใจ
dot
บทความน่าสนใจ
dot
bulletประเทศไทยหลังคดียึดทรัพย์ 2553
bulletReturn of Great Depression?
bulletChange! ผู้นำยุคใหม่ของโลก
bulletเรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน
bulletโหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
bulletเลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง
bullet6 ขั้นตอนเพื่อการดูหมออย่างคุ้มค่า
bulletชนะใจคนรัก 12 ราศี
dot
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
dot
bulletเพจ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletCelestial Strategist Blog
bulletBlog โหราเศรษฐกิจ
bulletเว็บไซต์ที่น่าสนใจ




Dial Detective สืบด้วยจานคำนวณ article

แนะนำโดย Pallas
ธันวาคม 2549

          ว่ากันว่าเสน่ห์ของโหราศาสตร์ยูเรเนียนอยู่ที่การหมุนจานคำนวณ (Dial) ท่านปรมาจารย์อัลเฟรด วิตเตอได้พัฒนาวงกลมจักรราศีให้หมุนได้โดยรอบ และออกแบบให้เป็นเครื่องมือวัดมุมไปด้วยในตัวโดยการสร้างมาตราองศาไว้ที่ขอบวงกลม จานคำนวณที่หมุนรอบตัวเองได้นี้เป็นเครื่องมือสำคัญของนักโหราศาสตร์ โดยใช้ในการบันทึกตำแหน่งปัจจัยทางโหราศาสตร์, กำหนดศูนย์รังสีและจุดอิทธิพลต่างๆ, วัดมุม, ค้นหาโครงสร้างพระเคราะห์สนธิ และใช้สำหรับตั้งเรือนชะตาต่างๆ ต่อมา ท่านลุดวิก รูด๊อล์ฟ (Ludwig Rudolph) ศิษย์เอกของท่านวิตเตอได้ออกแบบจานคำนวณแบบ 90 องศา ซึ่งช่วยลดเวลาในการหาการทำมุมสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆทางโหราศาสตร์ได้อย่างมาก และทำให้มองเห็นโครงสร้างดาวได้อย่างชัดเจน

          โดยทั่วไป การสอนการใช้จานคำนวณนั้นมักเป็นการสอนในห้องเรียนและให้ทดลองหมุึนด้วยตนเอง การจะเขียนตำราโหราศาสตร์เพื่ออธิบายวิธีการใช้จานคำนวณเป็นเรื่องที่ยาก เพราะจำเป็นต้องอาศัยภาพจำนวนมากในการอธิบายขั้นตอนการหมุนจานดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีตำราโหราศาสตร์เล่มหนึ่งที่สามารถอธิบายเทคนิคการหมุนจาน 90 องศาได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย นั่นคือ Dial Detective: Investigation with the 90ํ Dial แต่งโดย Maria Kay Simms คำโฆษณาด้านหลังหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นคำอธิบายที่ชัดเจน นั่นคือ “นี่คือหนังสือที่สามารถเขียนได้เฉพาะนักโหราศาสตร์ยูเรเนียนผู้ซึ่งเป็นศิลปินวาดภาพด้วยเท่านั้น” และอีกประโยคหนึ่งคือ “ภาพหนึ่งภาพมีค่าเสมือนคำอธิบายเป็นพันๆคำ”

          ก่อนเข้าสู่เนื้อหา เรามาทำความรู้จักกับผู้แต่งก่อน Maria Kay Simms เป็นโหราจารย์ชั้นนำยุคปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา เธอเริ่มต้นศึกษาโหราศาสตร์ยูเรเนียนจาก Charles Emerson โหราจารย์ชื่อดังในสหรัฐอเมริกา เธอเคยเป็น Art Director และประธานของ ACS Publication สำนักพิมพ์ด้านโหราศาสตร์ชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ต่อมาเธอได้ดำรงตำแหน่งประธาน NCGR (National Council for Geocosmic Research) เธอแต่งงานกับ Neil Michelsen ผู้ล่วงลับ ผู้ก่อตั้ง ACS และเป็นผู้จัดทำปฏิทินโหราศาสตร์ American Ephemeris ที่เราใช้กัน Simms เป็นโหราจารย์ที่เขียนตำราโหราศาสตร์ออกมาหลายเล่ม ซึ่งน่าสนใจทั้งนั้น โอกาสหน้าคงจะนำมาแนะนำกันอีก

          จุดเด่นของ Dial Detective อยู่ที่ความสามารถด้านศิลปะของ Simms ที่สามารถวาดภาพประกอบคำอธิบายได้อย่างชัดเจนและดูง่าย เธอกล่าวไว้ในคำนำว่า เธอเป็น นักโหราศาสตร์ที่ใช้ทั้ง โหราศาสตร์ยูเรเนียน และ Cosmobilogy โดยเธอบอกว่าสิ่งที่ดีที่สุดของทั้ง 2 ระบบนั่นคือ จานคำนวณแบบ 90 องศา ความตั้งใจหลักของเธอคือการนำความสามารถด้านกราฟฟิกอาร์ตของเธอมาช่วยให้นักเรียนโหราศาสตร์ไม่สับสนกับการใช้งานจานคำนวณ เหมือนกับที่เธอเคยประสบเมื่อครั้งพยายามศึกษา โหราศาสตร์ ด้วยตนเอง ขนาดหนังสือประมาณ A4 ซึ่งถือว่าค่อนข้างใหญ่ช่วยให้มองเห็นภาพได้ใหญ่และชัดเจน

          เนื้อหาของ Dial Detective นั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 9 บท กับภาคผนวกอีก 4 บท รวมทั้งหมด 118 หน้า ดังนี้

บทที่ 1: It IS Elementary, Dear Watson! มันเป็นเรื่องพื้นฐานนะ วัตสันที่รัก

          บทแรกนี้ Simms ได้ย้ำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า การหมุนจาน 90 องศาเป็นเรื่องพื้นฐานของ นักโหราศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนแต่ประการใด เธออธิบายหลักการแบ่งวงกลม 360 องศาเป็น 4 ส่วน ส่วนละ 90 องศา โดยชี้ให้เห็นว่า จาน 90 องศาเป็นการตอบคำถามประเภท จะเกิดอะไรขึ้น เกิดเมื่อไหร่ ซึ่งแตกต่างจากเทคนิคทางโหราศาสตร์แบบอื่นที่อาจเน้นเรื่องแรงจูงใจทางจิตวิทยาหรือจิตวิญญาณ 

          Simms ได้ยกตัวอย่างดวงชะตาของเซอร์ อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง เชอร์ล็อกโฮล์ม (ที่มาของชื่อบท ดร.วัตสัน เป็นคู่หูของเชอร์ล็อกโฮล์มในนวนิยายครับ) โดยหมุนจานไปที่เมอริเดียน เพื่อหาศูนย์รังสี มฤตยู = พฤหัส/เมอริเดียน ต่อจากนั้นได้ใช้เทคนิค โค้งสุริยยาตร์ (Solar Arc) เพื่อหาว่าศูนย์รังสีที่จะทำงานเมื่อท่านเซอร์อายุเท่าไหร่

          ตอนท้ายของทุกบท Simms จะมี Notes เพื่ออธิบายที่มาของเรื่องบางเรื่อง และอ้างอิงตำราที่นำมาใช้ ผมถือว่าเป็นขุมสมบัติสำหรับนักศึกษาโหราศาสตร์ที่จะไปค้นหาความรู้ต่อครับ

บทที่ 2: Cosmobiology คอสโมไบโอโลยี

          บทที่ 2 Simms ได้แนะนำให้ผู้อ่านรู้จัก คอสโมไบโอโลยี (Cosmobiology) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของโหราศาสตร์สากลที่พัฒนาต่อยอดจากโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดยท่านปรมาจารย์ อิเบอร์ติน (Ebertin) หลักการของ Cosmobiology สามารถสรุปออกมาเป็น 4 ข้อ คือ (1) ใช้ อาทิตย์ จันทร์ ดาวเคราะห์ 8 ดวง ตั้งแต่ พุธ ถึง พลูโต และ ราหู เท่านั้น (2) ใช้ เมอริเดียน และลัคนา (3) ใช้ความสัมพันธ์เชิงมุมระหว่างปัจจัยในข้อ (1) และ (2) รวมถึงศูนย์รังสีด้วย และ (4) ใช้จักรราศีแบบสายนะ ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าไม่มีการใช้เรือนชะตา

          Simms ได้ทดลองใช้จาน 90 องศาในการ พยากรณ์ ดวงชะตาที่ไม่ทราบเวลาเกิดของ ไมค์ ไทสัน (Mike Tyson) อดีตนักมวยแชมเปี้ยนโลก ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เคล็ดอย่างหนึ่งที่ Simms ให้ไว้ก็คือ การแปลความหมายโครงสร้างดาว ให้ยึดหลัก กฎแห่งเลขสาม นั่นคือ ถ้าเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตแล้ว ในดวงชะตาจะบอกโครงสร้างที่มีความหมายในเรื่องนั้นอย่างน้อย 3 จุด ในวิธีที่ต่างกัน

          ต่อมา Simms ได้ทดลองใช้จาน 90 องศามาดูดวงชะตาของคนที่ทราบเวลาเกิดแน่นอน นั่นคือ อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton) โดยยกประเด็นเรื่องอื้อฉาวกับลูวินสกี้ มาใช้ค้นหาจากดวง ในตอนนี้ เธอให้กำลังใจกับนักโหราศาสตร์ที่ไม่ถนัดคำนวณว่า การหาโค้งสุริยยาตร์ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเธอเป็นคนเกลียดตัวเลข และมีพื้นฐานมาจากสายงานศิลปะ ก็ยังคำนวณได้ โดยไม่ต้องพึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็น่าจะทำได้โดยไม่ยาก

          ตอนท้ายของบท เธอสอนเทคนิคการใช้โค้งสุริยยาตร์ และดวงทินวรรษ (Solar Return) เพื่อพยากรณ์เหตุการณ์ในรอบปีข้างหน้า โดยใช้ดวงของอดีตประธานาธิบดีคลินตัน และดวงของลูกสาว Simms เองเป็นตัวอย่าง

บทที่ 3: Uranian Astrology โหราศาสตร์ยูเรเนียน

          ในบทที่ 3 Simms เริ่มแนะนำโหราศาสตร์ยูเรเนียนซึ่งซับซ้อนกว่า Cosmobiology ต่อผู้อ่าน โดยได้อธิบายความหมายของดาวทิพย์ (Trans-Neptunian planets) ทั้ง 8 ดวง, แนะนำการพยากรณ์เพียงชี้จุดเมษ โดยไม่ต้องหมุนจาน, อธิบายการหาพระเคราะห์สนธิ (Planetary Pictures) โดยใช้ตัวอย่างดวงชะตาของอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ในกรณีถูกลอบสังหาร

บทที่ 4: Uranian Case Studies กรณีศึกษาของยูเรเนียน

          เมื่อปูพื้นฐานทั้งคอสโมไบโอโลยีและยูเรเนียนแล้ว Simms ก็เริ่มให้ตัวอย่างที่ซับซ้อนขึ้นในการหาฤกษ์ผ่าตัด และการพยากรณ์ดวงปริศนาว่าเกิดเหตุการณ์อะไรกับเจ้าชะตาในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

          หัวข้อสำคัญของบทนี้อีกเรื่องหนึ่งคือ การพยากรณ์ดวงสัมพันธ์ หรือชะตาสมพงศ์โดยซ้อนดวงของคนสองคนเข้าด้วยกันเพื่อหาความสัมพันธ์ ซึ่ง Simms เีรียกว่า เกม Contact โดยเริ่มจากการใช้ศูนย์รังสีพื้นฐาน เช่น อาทิตย์/จันทร์, ใช้ดาวจรเข้ามาผสม, การใช้ Composite Chart (คือดวงที่เกิดจากการหาศูนย์รังสีของปัจจัยทุกตัวของทั้ง 2 คน), การใช้เมอริเดียนประจำวัน (Meridian of the Day) และตัวอย่างสุดท้ายในบทนี้ คือการดูเหตุการณ์อุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีเด็กวัยรุ่นเสียชีวิตพร้อมกัน 4 คน ซึ่งจะเห็นจุดอิทธิพลที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุทำมุมกับดวงชะตาของเด็กทั้ง 4 คน

บทที่ 5: Caution! คำเตือน!

          บทนี้เป็นบทที่ผมชอบมาก เพราะเป็นคำเตือนสำหรับนักศึกษาโหราศาสตร์ยูเรเนียนมือใหม่ทุกคนว่า ให้ระวังกองทัพจุดอิทธิพล ที่มีอยู่กว่า 5,000 จุดจนทำให้มือใหม่อ่านดวงไม่ออกเลย Simms เน้นว่า ยิ่งใส่ปัจจัยในดวงน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งง่ายที่จะมองเห็น (ข้อนี้ผมใช้เป็นหลักในการ ดูดวง รอบแรกซึ่งผมมักจะถอดดาวทิพย์ออกให้หมดก่อน เพื่ออ่านดวงเบื้องต้น แล้่วจึงค่อยใส่ดาวทิพย์กลับเข้าไปเมื่อจะ ดูดวง โดยละเอียด) Simms ยังเน้นอีกว่า เวลาเห็นโครงสร้างดาวอย่าเพิ่งตกใจ เช่น เห็น ศูนย์รังสี อังคาร/มฤตยู จรมาถึงจุดเจ้าชะตา ก็อย่าคิดไปว่าจะเจออุบัติเหตุ เพราะอาจแปลว่า เจอเรื่องน่าตื่นเต้นก็ได้

          บทนี้ยังพูดถึงเรื่อง Fate or Freewill (ผมขอแปลว่า พรหมลิขิต หรือ กรรมลิขิต ก็แล้วกันครับ) ว่ามนุษย์มีทางเลือกที่จะดำเนินชีวิตไปทางใด การพยากรณ์ไม่ได้แปลว่าชีวิตเราถูกลิขิตไว้แล้ว แต่เป็นการสร้างทางเลือกให้กับเรามากกว่า 

บทที่ 6: Have Dial, Will Travel ย้ายที่อยู่ตามดวง

          บทที่ 6 เจาะลึกในเรื่องการย้ายที่อยู่ (Relocation) ซึ่งเป็นแขนงวิชาโหราศาสตร์ที่เป็นที่นิยมอย่างสูงในสหรัฐอเมริกา เพราะคนอเมริกันมักย้ายที่อยู่บ่อยๆ (ไม่เหมือนคนไทย) Relocation Chart เป็นการผูกดวงชะตากำเนิดของเจ้าชะตาโดยใช้วันเวลาเดิม แต่สถานที่ใหม่ เพื่อดูว่ามีผลกับชีวิตเจ้าชะตาอย่างไร ตัวอย่างในบทนี้ จะเป็นตัวอย่างของ Simms เอง เพราะเธอเป็นคนที่ย้ายที่อยู่บ่อย ตอนท้ายบท เธอพูดถึงเรื่องการเลือก Solar Return เพื่อให้ดวงชะตาในปีหน้าดีขึ้น โดยการย้ายที่อยู่ไปยังที่ที่เป็นคุณกับเจ้าชะตาในวันเกิด (Solar Return) โดยเธอขอให้ผู้อ่านไปทดลองดูว่าได้ผลดีจริงหรือไม่ ส่วนตัวเธอเองทดลองแล้วก็ได้ผลดี

บทที่ 7: Novel Predictions-or is Fiction Fact? สืบจากนิยาย

          บทนี้เป็นเรื่องค่อนข้างแปลก เพราะ Simms บอกว่าในห้องเรียนโหราศาสตร์ของเธอ เธอเคยนำวันเวลาที่เกิดเหตุการณ์ในนิยายมาผูกดวง แล้วดูว่าดวงจะบอกเหตุการณ์เหมือนกับในนวนิยายหรือไม่ ผลลัพธ์ก็น่าแปลกที่ตรงกัน ตัวอย่างในบทนี้จะมาจากนวนิยาย 4 เรื่อง ได้แก่ The Stand ของ Stephen King, The Virgin ของ James Patterson, The Third World War –August 1985 ของ John Hackett และภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง The Day After ประเด็นหลักในบทนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็น ตัวอย่างการหาศูนย์รังสีและพระเคราะห์สนธิ แบบแปลกๆ มากกว่าการไปจริงจังเรื่องนวนิยาย

บทที่ 8: Dial a Past Life ระลึกชาติได้ด้วยจาน 90

          ถ้าบอกว่าบทที่ 7 แปลกแล้ว ผมว่าบทนี้ยิ่งแปลกยิ่งกว่า เพราะเป็นการดูดวงเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งสามารถบอกความลับของปู่กับย่า ให้ย่าฟังได้ ทั้งที่เธอเกิดหลังจากที่ปู่เธอเสียชีวิตไปแล้วถึง 3 ปี ญาติของเด็กคนนี้เลยสงสัยว่า เด็กผู้หญิงคนนี้คือคุณปู่กลับชาติมาเกิดหรือเปล่า Simms เลยนำดวงชะตาของทั้งปู่และเด็กผู้หญิงคนนี้มาดู ก็เห็นโครงสร้างดาวที่น่าประหลาดใจ อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นเรื่องการกลับชาติมาเกิดของ เอ็ดการ์ เคซีย์ (Edgar Cayce) นักพยากรณ์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา

          ประเด็นหลักในบทนี้ ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องการ ดูดวง เพื่อระลึกชาติ แต่เป็นการแนะนำการใช้ Sums (นำปัจจัย 2 ตัวมาบวกกัน) และ Half-sums (ศูนย์รังสี) รวมไปถึงเทคนิคอีกมากมายในการดูดวงชะตาในบทนี้

บทที่ 9: Rectification of Unknown Birth Time หาเวลาเกิดได้ด้วยจาน 90

          บทสุดท้ายเป็นบทที่ถือว่า เป็นเรื่องที่ยากเรื่องหนึ่งของโหราศาสตร์ นั่นคือ การหาเวลาเกิดของเจ้าชะตาที่ไม่ทราบเวลาเกิดตนเอง โดยใช้เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในอดีตของเจ้าชะตามาสอบทานดวงชะตา เพื่อหาลัคนาและเมอริืเดียนที่ถูกต้อง Simms อธิบายวิธีการของเธออย่างเป็นขั้นตอนโดยละเอียด โดยเริ่มจากการกำหนดตำแหน่งจันทร์ที่เป็นไปได้ แล้วสอบทานกับเหตุการณ์สำคัญ 5-6 เหตุึการณ์ด้วยโค้งสุริยยาตร์ (Solar Arc) และค่อยใส่เมอริเดียนและลัคนาลงไป

ภาคผนวก

          ภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้ก็เป็นขุมความรู้ที่สำคัญเช่นเดียวกัน Simms ได้รวบรวมพระเคราะห์สนธิสำคัญๆที่ใช้ในการพยากรณ์บ่อยๆตามลำดับตัวอักษร, การแปลพระเคราะห์สนธิใหม่ ให้เข้าใจง่ายกว่าตำราดั้งเดิม, เคล็ดลับต่างๆเกี่ยวกับโหราศาสตร์ยูเรเนียนที่ยังไม่ได้อธิบาย เช่น จาน 2 ชั้น, ครึ่งโค้ง (Half Solar Arc), 2 เท่าของโค้ง (Double Solar Arc), จาน 360 องศา, การสะท้อน (Antiscia), ระบบเรือนชะตาแบบยูเรเนียน, จุดเจ้าชะตาต่างๆ และเกมสนุกๆเกี่ยวกับโหราศาสตร์

สรุป

          เป้าหมายหลักของตำราเล่มนี้คือ การสอนเทคนิคการหมุนจาน 90 องศาให้เข้าใจง่ายจากการใช้รูปภาพ ซึ่งผมถือว่าตำราเล่มนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงและเป็นตำราชั้นครูอีกเล่มหนึ่งที่นักศึกษาโหราศาสตร์ควรจะได้อ่านและทดลองฝึกฝนหมุนตาม อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของตำราเล่มนี้ ก็มาจากจุดแข็งนั่นเอง คือ การที่มุ่งเน้นแต่เทคนิคในการใช้งานจริงและมองแยกส่วน ทำให้ข้ามปรัชญาของดาวและการอ่านดวงชะตาแบบองค์รวมไป นักศึกษาโหราศาสตร์มือใหม่ที่ศึกษาเฉพาะเล่มนี้อาจมัวแต่สนใจเทคนิค จนไม่สามารถพยากรณ์แบบลึกซึ้งได้ คำแนะนำของผมคือ ตำราเล่มนี้เป็นตำราที่น่าจะมีไว้ในครอบครอง แต่ต้องหาตำราที่อธิบายปรัชญาโหราศาสตร์มาอ่านด้วย เช่น คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ ฯลฯ

          อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ Simms เป็นนักโหราศาสตร์ที่ถนัดในการใช้ Cosmobiology และนำดาวทิพย์มาใช้เมื่อต้องการพยากรณ์รายละเอียดบางอย่าง เธอไม่ใช้เรือนชะตาด้วยเหตุผลว่าเธอสามารถพยากรณ์ได้อย่างเพียงพอโดยไม่ต้องใช้เรือนชะตา ซึ่งทำให้ตำราเล่มนี้ไม่ได้อธิบายวิธีการใช้จาน 360 องศาเท่าไหร่นัก จุดนี้เป็นจุดที่ผู้อ่านต้องพิจารณาเอาเองว่าจะเลือกวิธีการไหน สำหรับส่วนตัวของผมแล้ว ศึกษามาจากอาจารย์วิโรจน์ซึ่งนิยมจาน 360 องศามากกว่า เพราะสามารถพยากรณ์โดยใช้จักรราศีและเรือนชะตาได้เร็วกว่าการใช้ศูนย์รังสี และจาน 360 ทำให้มองเห็นภาพใหญ่ได้ดีกว่า ผมจะใช้จาน 90 องศาเหมือนกับแว่นขยายส่องดวง เมื่อต้องการมองเห็นภาพโครงสร้างดาวให้ชัดเจนขึ้น

          ขอปิดท้ายบทความด้วยคำคมในตำรานี้ นั่นคือ

“a picture is worth a thousand words.”




แนะนำตำรา

Horoscope Symbols article
คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
eXTReMe Tracker