โดย Pallas
กุมภาพันธ์ 2550
ในคืนเพ็ญ มาฆบูชา นี้ คนไทยทั่วประเทศจะมีโอกาสมองเห็น จันทรุปราคา เต็มดวงครั้งแรกในรอบ 3 ปี ก่อนที่จะมองเห็น สุริยุปราคา บางส่วนในวันที่ 19 มีนาคม (เห็นได้เกือบทั่วประเทศยกเว้นจังหวัดชายแดนภาคใต้) และจะเกิดปรากฏการณ์ จันทรุปราคา เต็มดวงอีกครั้งในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ นับว่าเป็นปีที่มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกี่ยวกับคราสมากที่สุดปีหนึ่งของประเทศไทย และเป็นปีที่นักโหราศาสตร์ควรจะได้ศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพยากรณ์โดยเฉพาะในเรื่องโหราศาสตร์บ้านเมืองต่อไป ผมจึงได้รวบรวมข้อมูลทั้งทางดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และทดลองนำทฤษฎีอิทธิพลการเกิดคราสที่ได้เรียนจากอาจารย์วิโรจน์ กรดนิยมชัย มาพยากรณ์ผลจากปรากฏการณ์นี้ เพื่อจะได้ตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นและเพิ่มพูนความรู้โหราศาสตร์ด้านนี้ต่อไป
ข้อมูลทางดาราศาสตร์ (ตัดตอนจากบทความคุณวรเชษฐ์ บุญปลอด เว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
หลังเที่ยงคืนของคืนวันมาฆบูชาซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม ย่างเข้าสู่เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2550 ดวงจันทร์จากที่เคยเห็นสว่างเต็มดวงก่อนหน้านั้นจะถูกเงามืดของโลกเข้าบดบัง ทำให้ดวงจันทร์แหว่งและมืดคล้ำลง เกิดปรากฏการณ์ จันทรุปราคา (Lunar Eclipse) หรือเรียกอีกอย่างว่า จันทรคราส และ ราหูอมจันทร์
จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดได้ในเฉพาะคืนวันเพ็ญและในจังหวะเวลาที่ดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปในเงาโลก เงาที่เกิดขึ้นนี้มีอยู่สองชนิด ได้แก่ เงามืด และ เงามัว จันทรุปราคา จึงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ จันทรุปราคาเต็มดวง จันทรุปราคาบางส่วน และจันทรุปราคาเงามัว

การเกิดเงามืดและเงามัวระหว่างจันทรุปราคา (ไม่ได้วาดตามมาตราส่วนจริง)
จันทรุปราคา ครั้งที่จะเกิดขึ้นในคืนวันเสาร์นี้ หากยึดตามหลักการเปลี่ยนวันในเวลาเที่ยงคืนก็จะถือได้ว่าเกิดในวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2550 ดวงจันทร์เริ่มเข้าไปในเงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 3.18 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์ปรากฏอยู่เหนือท้องฟ้าทิศตะวันตกในกลุ่มดาวสิงโต กึ่งกลางระหว่างขอบฟ้ากับจุดเหนือศีรษะโดยมีดาวเสาร์อยู่ต่ำลงไป ห่างกันประมาณขนาดของฝ่ามือเมื่อกางมือของเราออกแล้วเหยียดแขนออกไปให้สุด อย่างไรก็ตามเรายังจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นกับดวงจันทร์จนกระทั่งเวลาประมาณ 4.10 น. ขอบดวงจันทร์ด้านซ้ายมือค่อนไปทางด้านบนจะเริ่มคล้ำลงจนสังเกตเห็นได้ ดวงจันทร์มืดสลัวลงทีละน้อยจนเริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 4.30 น. ซึ่งจะเห็นขอบดวงจันทร์ด้านนี้เริ่มแหว่ง

ก่อนตี 5 ครึ่งเล็กน้อย ดาวเสาร์จะตกลับขอบฟ้าขณะที่ดวงจันทร์แหว่งไปเกินกว่าครึ่งดวง เงามืดของโลกเข้าบังดวงจันทร์ลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเวลา 5.44 น. เป็นเวลาที่ดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนเข้าไปในเงามืดของโลกและเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง แสงอาทิตย์ที่หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปตกที่พื้นผิวดวงจันทร์ทำให้ดวงจันทร์ไม่มืดสนิทอย่างที่ควรจะเป็น แต่มีสีน้ำตาล สีแดงอิฐ หรือสีส้ม ไม่กี่นาทีต่อมาหลังจากนั้นแสงเงินแสงทองจะเริ่มจับขอบฟ้า ท้องฟ้าจึงค่อย ๆ สว่างขึ้นในขณะที่ดวงจันทร์ยังอยู่ในเงามืดของโลก
เวลา 6.21 น. ดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดลึกที่สุดและใกล้จะตกลับขอบฟ้าแล้ว ขณะนี้ท้องฟ้าจะสว่างเป็นสีฟ้า ที่กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์จะขึ้นเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลา 6.33 น. ส่วนดวงจันทร์จะตกทางทิศตะวันตกในเวลา 6.37 น.
เวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงจันทร์ตกในจังหวัดอื่น ๆ จะต่างไปจากนี้ เช่น เชียงใหม่ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 6.42 น. ดวงจันทร์ตกเวลา 6.46 น. ภูเก็ตดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 6.39 น. ดวงจันทร์ตกเวลา 6.43 น. ส่วนที่อุบลราชธานีดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 6.16 น. ดวงจันทร์ตกเวลา 6.20 น.
จุดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งสำหรับ จันทรุปราคา ครั้งนี้ก็คือ ดวงจันทร์ถูกเงาโลกบังหมดทั้งดวงในขณะที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากกลางคืนไปสู่กลางวัน จึงเป็นไปได้ว่าขณะที่ดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดลึกที่สุดนี้ ท้องฟ้าจะสว่างมากจนเราอาจไม่สามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้หรือเห็นได้เพียงลาง ๆ ให้ลองสังเกตดวงจันทร์ด้วยตาเปล่าและด้วยทัศนูปกรณ์ที่มีอยู่ เช่น กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 6.00 - 6.40 น. และเนื่องจากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่ดวงจันทร์กำลังจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ดังนั้นหากต้องการสังเกตให้ชัดเจนควรหาสถานที่ที่ไม่มีสิ่งใดบดบังขอบฟ้าทิศดังกล่าว หรือหากเป็นไปได้อาจสังเกตจากตึกสูง
นอกจากประเทศไทยแล้วบางส่วนของทุกทวีปในโลกมีโอกาสเห็น จันทรุปราคา ครั้งนี้ด้วยพร้อม ๆ กัน ตัวอย่างเช่น ทวีปยุโรปและแอฟริกาเห็นขณะเริ่มเกิดปรากฏการณ์ในค่ำวันที่ 3 มีนาคมตามเวลาท้องถิ่น อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้เห็นได้ในค่ำวันเดียวกันแต่เป็นช่วงท้ายของปรากฏการณ์ขณะดวงจันทร์ขึ้นทางทิศตะวันออก ส่วนในเอเชียตะวันออก ตอนกลางของจีน และตะวันตกของออสเตรเลียจะเห็นได้ในเช้ามืดวันที่ 4 มีนาคมขณะดวงจันทร์ใกล้จะตกเช่นเดียวกับประเทศไทย
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ขององค์การ NASA
จันทรุปราคา ครั้งนี้นับเป็น จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกในรอบ 3 ปีสำหรับคนไทยในประเทศ และเป็นอุปราคาครั้งแรกจากทั้งหมด 4 ครั้งที่เกิดในปีนี้ อีก 15 วันถัดไป เช้าวันจันทร์ที่ 19 มีนาคมจะเกิดสุริยุปราคาบางส่วนเห็นได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย และหากท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆฝนเป็นอุปสรรคเราจะมีโอกาสเห็นจันทรุปราคาในช่วงเวลาหัวค่ำของวันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2550
ข้อมูลทางโหราศาสตร์
จากปฏิทิน ราฟาเอล ประจำปี 2007 พบว่า ปรากฎการณ์พระจันทร์เพ็ญ (Full Moon) ซึ่งเป็นขณะที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ เป็นเวลา 23:17 น. ของวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2007 ตามเวลา GMT หรือเท่ากับเวลา 6:17 น. วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2550 ตามเวลาในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อเราคำนวณดวงชะตาจันทรุปราคาดังกล่าวที่ กรุงเทพมหานคร จะได้ดวงชะตาดังนี้


การพยากรณ์อิทธิพลการเกิดคราส
ในคัมภีร์ เตตราบิโบลส ของปโตเลมี ได้กล่าวถึงการเกิด คราส ว่า ในการเกิด สุริยคราส และ จันทรคราส ชนิดเต็มดวง ณ พื้นที่ใดที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ประเทศนั้นจะได้รับอิทธิพลของคราส ดังนั้น การที่ประเทศไทยสามารถมองเห็น จันทรุปราคาเต็มดวง ครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน ย่อมหมายความว่า คราสนี้ย่อมส่งอิทธิพลต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน นั่นแปลว่า อิทธิพลของดวงปูรณมี (Full Moon) ในวันเพ็ญมาฆบูชานี้ ย่อมไม่ได้มีอิทธิพลเหมือนกับดวงปูรณมีทั่วไปที่ส่งผลจนถึงอมาวสีถัดไปเท่านั้น แต่ส่งผลพิเศษจากอิทธิพลของคราส ดังจะอธิบายต่อไป
จากเอกสารการสอนเรื่อง อิทธิพลการเกิดคราส ของอาจารย์วิโรจน์ กรดนิยมชัย ซึ่งรวบรวมจากเอกสารการสอนของพลตรีประยูร พลอารีย์ และตำรา Raphaels Mundane Astrology นั้น บอกว่า อิทธิพลของคราสจะพิจารณาจากตำแหน่งของจันทร์ว่าสถิต ณ ที่ใด โดยมีอิทธิพลอยู่ 3 ประเภท คือ
1. อิทธิพลของคราสที่เกิดในจรราศี สถิรราศี และอุภยราศี (คุณะ)
2. อิทธิพลของคราสที่เกิดในราศีธาตุต่างๆ
3. อิทธิพลของคราสที่เกิดในตรียางศ์แต่ละราศี
สำหรับคราสที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคมนี้ เกิดขึ้นในราศีกันย์ ซึ่งเป็นอุภยราศี หมายความว่า จะแสดงผลเร็วและนาน แต่ผลจะไม่เต็มที่ (commence sooner, and last longer, but that their effects will be liable to interruption) ในลักษณะเกิดๆหยุดๆ (continue for a time, suddenly cease, and then commence again)
ราศีกันย์เป็นราศีธาตุดิน นั่นหมายความว่า จะทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งสร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตร และเกิดเหตุแผ่นดินไหว เกิดความเสียหายต่อเหมืองแร่, และภาวะข้าวยากหมากแพง (ซึ่งจากข่าวที่ออกมา ก็คาดกันว่าหน้าร้อนนี้จะเกิดภาวะแห้งแล้ง และสร้างความเสียหายต่อการเกษตรอย่างมาก)
สำหรับอิทธิพลประเภทที่ 3 นั้น คราสครั้งนี้เกิดที่ 13 องศา ราศีกันย์ ซึ่งเป็นตรียางศ์ที่ 2 ของราศีกันย์ แปลว่า การสูญเสียของรัฐมนตรี สมาชิกสภา เทศมนตรี ที่ปรึกษา นักเขียน หรือบุคคลที่มีอาชีพใกล้เคียง (คราสได้แสดงผลในเรื่องนี้ไปแล้ว จากการลาออกของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง)
นอกจากนี้ จากดวงจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ มีข้อสังเกตอยู่หลายประการ กล่าวคือ
1. คราสเกิดที่ 12 องศาราศีกันย์ ขณะที่อาทิตย์กำเนิดของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อยู่ที่ 4 องศา ราศีกันย์ ซึ่งอยู่ในราศีเดียวกัน ห่างกันเพียง 8 องศา แสดงว่าอิทธิพลของคราสครั้งนี้ ย่อมส่งผลต่อท่านนายกฯค่อนข้างมากทีเดียว (การลาออกของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร และการที่ท่านป่วยเป็นตาแดง)
2. จุดคราสทำมุมฉากสนิทกับเมอริเดียนของประเทศไทย และทำมุมกับศูนย์รังสี Ar/Me แสดงว่าส่งผลต่อวงการนักข่าวบ้านเรา่ค่อนข้างรุนแรง (กรณีไอทีวี พีทีวี และเอเอสทีวี)
3. ข้อสังเกตสุดท้าย ผมขอให้นักโหราศาสตร์ยูเรเนียนไปถอดความเองก็แล้วกันครับ Su = Mo = Mc = Ur/Mo = Cu/Mc = Ar+Ur-Kr = Kr/Ad และเมื่อใช้มุมเล็ก (22.5 องศา) ก็จะไปเท่ากับ = Ne = Sa เป็นที่สุด
ส่งท้าย
สำหรับนักโหราศาสตร์นั้น อิทธิพลของคราสยังคงเป็นหัวข้อสำคัญที่ยังต้องศึกษา เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่อาจจะดูไม่ชัดเจนนัก เช่น การนับระยะเวลาที่คราสจะส่งผล, ความหมายในบริบทของเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ฯลฯ ดังนั้น จึงเป็นภาระของนักโหราศาสตร์รุ่นปัจจุบันที่จะต้องค้นคว้า สังเกต รวบรวมข้อมูล และสังเคราะห์ทฤษฎีในเรื่องนี้กันต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. วรเชษฐ์ บุญปลอด, จันทรุปราคาคืนวันมาฆบูชา, เว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย, 26 กุมภาพันธ์ 2550. http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/eclipses/200703tle.html
2. Fred Espenak, Eclipses During 2007, Observer's Handbook 2007, Royal Astronomical Society of Canada, http://sunearth.gsfc.nasa.gov/eclipse/OH/OH2007.html
3. Raphaels Astronomical Ephemeris of the Planets places for 2007, W.Foulsham & Co. Ltd, 2007.
4. วิโรจน์ กรดนิยมชัย, อิทธิพลการเกิดคราส, หลักสูตรโหราศาสตร์ยูเรเนียนภาคพิเศษ รวบรวมจากเอกสารการสอนของพลตรีประยูร พลอารีย์.
5. Raphael, Raphaels Mundane Astrology, revised printing, published by Astrology Classics Publishing, 2004.