ReadyPlanet.com
dot
dot dot
dot
เกี่ยวกับเรา Horauranian.com
dot
bulletรำลึกถึง อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์
bulletเจตนารมณ์
bulletติดต่อเรา
bulletโหราพยากรณ์
dot
บทความ
dot
bulletเกร็ดโหรน่ารู้
bulletเจาะลึกโหรา
bulletโหราศาสตร์บ้านเมือง
bulletBlog อ.วิโรจน์
bulletแนะนำตำรา
bulletไพ่ยิปซี จักรราศี (Celestial Tarot)
bulletกระดานถามตอบ
bulletคลังบทความดวงเมืองเศรษฐกิจ 2550-2552
bulletคลังกระทู้โหราศาสตร์ที่น่าสนใจ
dot
บทความน่าสนใจ
dot
bulletประเทศไทยหลังคดียึดทรัพย์ 2553
bulletReturn of Great Depression?
bulletChange! ผู้นำยุคใหม่ของโลก
bulletเรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน
bulletโหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
bulletเลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง
bullet6 ขั้นตอนเพื่อการดูหมออย่างคุ้มค่า
bulletชนะใจคนรัก 12 ราศี
dot
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
dot
bulletเพจ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletCelestial Strategist Blog
bulletBlog โหราเศรษฐกิจ
bulletเว็บไซต์ที่น่าสนใจ




ความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 1 article

โดย Pallas
มีนาคม 2550

          ต้นศตวรรษที่ 20 ในประเทศเยอรมนี ได้มีอัจฉริยะด้านโหราศาสตร์ท่านหนึ่ง ชื่อว่า อัลเฟรด วิตเตอ (Alfred Witte) ได้คิดค้นแนวทางโหราศาสตร์แนววิทยาศาสตร์ขึ้นมา โดยพัฒนาจากความรู้โหราศาสตร์ที่มีมาแต่โบราณ และนำมาสร้่างกรอบแนวทางการทำความเข้าใจดวงชะตาขึ้นมาใหม่ ท่านได้พัฒนาวิธีการวิเคราะห์ดาวเคราะห์ต่างๆในดวงชะตาด้วยวิธีการที่แตกต่างและโดดเด่นจากโหราศาสตร์แขนงอื่นๆ อีกทั้งได้เพิ่มปัจจัยใหม่ๆอีก 8 ปัจจัยเข้าไปในดวงชะตา กล่าวได้ว่า ไม่มีระบบโหราศาสตร์ใดที่พัฒนาขึ้นมาในยุคปัจจุบันที่จะมีความสมบูรณ์เท่ากับระบบที่ท่านวิตเตอคิดค้นขึ้นมา

จุดเริ่มต้นของโหราศาสตร์ยูเรเนียน

          ท่านอัลเฟรด วิตเตอ (Alfred Witte)1 ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1878-1941 เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์ก (Hamburg School of Astrology หรือ Hamburger Schule ในภาษาเยอรมัน) ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม โหราศาสตร์ยูเรเนียน เมื่อมีการเผยแพร่ความรู้มายังประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 เรื่องราวของโหราศาสตร์แขนงนี้เริ่มขึ้นเมื่อท่านวิตเตอซึ่งขณะนั้นเป็นนายทหารสื่อสารระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ท่านได้สังเกตตำแหน่งและเวลาการยิงปืนใหญ่ของฝ่ายเยอรมนีและรัสเซีย และนำมาประยุกต์กับทฤษฎีทางโหราศาสตร์ ท่านพบว่า พื้นที่บางพิกัดที่เป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่พิกัดนั้นไม่มีดาวเคราะห์ดวงใดเข้าไปเกี่ยวข้อง ท่านจะตั้งสมมติฐานว่าพื้นที่พิกัดนั้นน่าจะถูกครอบครองโดยดาวเคราะห์ที่ยังไม่ถูกค้นพบ และท่านได้ตั้งชื่อให้ดาวนั้นว่า Transneptunian Objects (แปลว่า ปัจจัยที่ไกลกว่าดาวเนปจูน ในวงการโหราศาสตร์เมืองไทยเรียกกันว่า ดาวทิพย์) เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ท่านจึงได้ค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆในระบบของท่าน รวมถึงได้คำนวณปฏิทินดาวทิพย์ได้ถึง 2 ดวง คือ คิวปิโด (Cupido) และ ฮาเดส (Hades) เพื่อนของท่านคือ ท่านฟรีดริชค์ ซีกกรึน (Friedrich Sieggrun: 1877-1951) ได้ช่วยท่านในการค้นคว้าดังกล่าว และท่านวิตเตอจึงได้ค้นพบดาวทิพย์เพิ่มอีก 2 ดวง คือ เซอุส (Zeus) และโครโนส (Kronos) ต่อมาท่านซีกกรึนได้ค้นพบเพิ่มเติมด้วยตัวท่านเองอีก 4 ดวง และทั้ง 2 ท่านก็ได้ร่วมกันพัฒนาปฏิทิน (Ephemerides) ดาวทิพย์เหล่านี้ ขึ้นมา และเผยแพร่สู่สาธารณะ

          ย้อนกลับไปเมื่อแรกเริ่ม ท่านอัลเฟรด วิตเตอ ได้เริ่มเขียนบทความโหราศาสตร์ชิ้นแรกและได้รับการตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1913 ในชื่อบทความว่า “ข้อสังเกตเกี่ยวกับ สี ตัวเลข และเสียง (Observations of Color, Numbers, and Tones)” งานเขียนชิ้นนั้นเป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์สำคัญ 3 ศาสตร์ คือ จิตรกรรม (สี), คณิตศาสตร์ (ตัวเลข) และดนตรี (เสียง) และความสอดคล้องกลมกลืนของความถี่ธรรมชาติของดวงดาวกับความถี่จากทฤษฎีส้อมเสียง ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับท่านโจฮันส์ เคปเลอร์ นักดาราศาสตร์และนักโหราศาสตร์ชาวเยอรมัน

          ต่อมา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1915 ท่านฟรีดริชค์ ซีกกรึน (Friedrich Sieggrun)2 ได้ก่อตั้งกลุ่ม Kepler Circle ขึ้นเพื่อศึกษาโหราศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ชื่อของกลุ่มมาจากชื่อของนักดาราศาสตร์และนักโหราศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อก้องนั่นคือ โจฮันส์ เคปเลอร์ (Johannes Kepler ค.ศ. 1571-1630) ผู้ซึ่งพัฒนาทฤษฎีวงโคจรของดาวเคราะห์ใหม่ ทำให้การคำนวณปฏิทินดาวแม่นยำขึ้น และยังเป็นนักโหราศาสตร์ที่พยายามปฏิวัติวงการโหราศาสตร์จากความไม่มีเหตุผลไปสู่ความเป็นเหตุเป็นผลยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดของกลุ่มนี้ที่จะพยายามพัฒนาวงการโหราศาสตร์ไปสู่ความเป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น 

          กระทั่งท่านอัลเฟรด วิตเตอ กลับจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงได้เข้าร่วมกลุ่ม Kepler Circle ในปี ค.ศ. 1919 และได้เริ่มบรรยายทฤษฎีโหราศาสตร์ที่ท่านค้นคว้าพัฒนาขึ้นมาต่อกลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

          จนเมื่อปี ค.ศ. 1923 ท่านฟรีดริชค์ ซีกกรึน ได้นำเสนอเทคนิคของท่านวิตเตอ ในที่ประชุมโหราศาสตร์เยอรมนีครั้งที่ 2 (the Second German Astrological Congress) ระหว่าง 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม ในเมือง Leipzig และมีการตีพิมพ์บทความของ ดร. วิลเฮล์ม ฮาร์ทมานน์ (Wilhelm Hartmann) ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ ชื่อ “แนะนำวิธีการทางโหราศาสตร์ของสำนักฮัมบูร์ก (Introduction to the Astrological Working Methods of the Hamburg School)” ทำให้ “โหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์ก” เป็นที่รู้จักเป็นครั้งแรก

          ระหว่างนั้น ท่านอัลเฟรด วิตเตอ ก็ได้พัฒนาโหราศาสตร์ตามแนวทางใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยได้นำเสนอแนวคิดของท่านลงในนิตยสารโหราศาสตร์ “อาสโตรโลกิชเชอ รุนเชา” และ “อาสโตรโลกิชเช่น เบลทเตอ” ระหว่างปี ค.ศ. 1919-1923

          กระทั่งเมื่อ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1925 เวลา 21:45 น. (เวลา MET หรือ GMT+1:00) ที่บ้านของท่าน ฟรีดริชค์ ซีกกรึน (9E57'24" 53N33'04") จึงได้มีการก่อตั้ง The Astrological Union of the Hamburg School (Astrologen-Verein "Hamburger Schule") ขึ้น เพื่อสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้กับโหราศาสตร์แนวทางใหม่นี้ 

          ในปี 1926 ท่านอัลเฟรด วิตเตอ, ลุดวิก รูดอล์ฟ, ฟรีดริชค์ ซีกกรึน และ ดร.ฮูเบิร์ต คอซช (Dr Hubert Korsch) ได้เข้าร่วมในการประชุมโหราศาสตร์เยอรมนีครั้งที่ 5 (the Fifth German Astrological Congress) ระหว่างวันที่ 20 ถึง 23 กรกฎาคม ในเมืองฮัมบูร์ก
 


(จากรูป ท่านวิตเตอคือบุคคลที่สวมหมวก อยู่ซ้ายมือสุดของแถวบน คนที่สองคือ ดร.คอซช และคนที่สาม คือท่านซีกกรึน ส่วนท่านลุดวิก รูดอล์ฟ คือคนที่อยู่แถวบนคนที่ 2 นับจากขวามือ ซึ่งยืนถือเสื้อโอเวอร์โค้ทอยู่)

          ในปี 1928 ท่านลุดวิก รูดอล์ฟ (Ludwig Rudolph)3 ได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Witte-Press Ludwig Rudolph ขึ้น และได้ตีพิมพ์ คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ (Regelwerk für Planetenbilder) ฉบับแรก ที่จัดทำโดยท่านวิตเตอขึ้น และได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี 1932 และฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี 1935

          ในเดือนมีนาคม ปี 1929 ท่านวิลเฮล์ม เบคมันน์ (Welhelm Beckmann)4 ได้เขียนบทความแนะนำโหราศาสตร์แนวของท่านวิตเตอ โดยใช้ชื่อบทความว่า “โหราศาสตร์สำหรับวันพรุ่งนี้” เป็นการประกาศว่า โหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์กจะเป็นโหราศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งในอนาคต สำหรับท่านเบคมันน์เอง ท่านมีชื่อเสียงอย่างมากเกี่ยวกับการพยากรณ์ผลการชกมวย โดยเฉพาะการพยากรณ์ว่า แม็คซ์ ชเมลิง จะชนะโจหลุยซ์ในยก 12 ได้อย่างแม่นยำ (รายละเอียดอ่านได้ใน คำนำ คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ ของพลตรีประยูร พลอารีย์)

          ระหว่างปี 1930-1935 บทความด้านโหราศาสตร์จากสำนักฮัมบูร์กได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารด้านโหราศาสตร์อยู่เป็นจำนวนมาก เป็นการพิสูจน์ความแม่นยำของโหราศาสตร์แนวทางนี้ และทำให้เกิดนักโหราศาสตร์แนวทางนี้อย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่า ในยุคก่อกำเนิดของโหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์กหรือโหราศาสตร์ยูเรเนียนนั้น มีบุคคลสำคัญ 3 ท่านที่ทำให้เกิดโหราศาสตร์ระบบนี้มีรากฐานที่เข้มแข็ง นั่นคือ ท่านอัลเฟรด วิตเตอ ผู้คิดค้น, ท่านฟรีดริชค์ ซีกกรึน ผู้จัดตั้งกลุ่ม Kepler Circle และท่านลุดวิก รูดอล์ฟ ผู้จัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่

          ในปี 1936 คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ ได้ถูกระบุให้เป็นหนังสือต้องห้ามจากรัฐบาลนาซีในขณะนั้นของเยอรมนี เพื่อไม่ให้สาธารณชนสนใจในสิ่งที่อาจมีผลกระทบทางการเมือง ทำให้โหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์กต้องยุติกิจกรรมลง และตำราโหราศาสตร์ทั้งหมดก็ถูกเผาทำลายไป ที่สำคัญ รัฐบาลนาซีได้สั่งให้ท่านวิตเตอ และท่านรูดอล์ฟต้องเข้าค่ายกักกัน การคุกคามของนาซีครั้งนั้น ทำให้ท่านวิตเตอตัดสินใจฆ่าตัวตายก่อนที่จะเข้าค่ายกักกัน ในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1941 เวลา 4:01 น. (เวลา MET) เพื่อหยุดยั้งการคุกคามของนาซีที่มีต่อครอบครัวของท่าน ถือเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่หลวงต่อวงการโหราศาสตร์โลก อย่างไรก็ตาม โหราศาสตร์สำหรับวันพรุ่งนี้ก็ไม่ได้สูญสลายไปด้วยว่า ท่านรูดอล์ฟผู้ซึ่งเข้าค่ายกักกันไป และรักษาชีวิตให้อยู่รอดผ่านความโหดร้่ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้

          หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านแฮร์มันน์ เลเฟลด์ท5 ได้รวบรวมคัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิของท่านวิตเตอขึ้นมาใหม่ โดยแต่งเติม ขยาย และเพิ่มเติม ด้วยสูตร ดาวพลูโต และดาวทิพย์อีกสี่ดวงซึ่งค้นพบโดยท่านฟรีดริชค์ ซีกกรึน ตีพิมพ์ในช่วงคริสตมาส ปี ค.ศ. 1946 ถือว่าเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 ต่อมา ได้มีการปรับปรุงและพิมพ์ครั้งที่ 5 ในปี ค.ศ. 1959 (เป็นต้นฉบับที่ท่านอาจารย์ พล.ต.ประยูร พลอารีย์ ใช้ในการแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย) และท่านเลเฟลด์ทนี้เองที่เป็นผู้แต่งตำรา คัมภีร์สูตรเรือนชะตา ที่อาจารย์ประยูรได้แปลและเรียบเรียนเป็นภาษาไทย

          ในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1947 กลุ่มลูกศิษย์ของท่านวิตเตอ อาทิ วิลเฮล์ม เบคมันน์ (Wilhelm Beckmann), คอนราด (Conrad), เฮลล์เบอร์ก (Hellberg), แฮร์มันน์ เลเฟลด์ท (Hermann Lefeldt), คาร์ล เพิร์ช (Karl Perch), เฮอร์เบอร์ท โพเอลส์ (Herbert Pauels), ลุดวิก รูดอล์ฟ (Ludwig Rudolph), Heinz Schlaghecke, Wilms, และ Schacht ได้หารือและก่อตั้งสมาคมโหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์ก (Astrologische Studiengesellschaft Hamburger Schule E.V. : ASHS) ขึ้น เพื่อศึกษาค้นคว้าโหราศาสตร์ระบบของท่านวิตเตอ และได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1948 เวลา 14:45 น. (GMT + 2) ในเมืองฮัมบูร์ก และเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษา ค้นคว้า พัฒนา และเผยแพร่โหราศาสตร์ระบบของท่านวิตเตอจนถึงปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง
1. Albert R. Timashev, “Alfred Witte Biography”, http://www.astrologer.ru/Witte/biography_eng.html
2. Bruce Scofield, “Uranian Astrology for the Complete Idiot”, The Mountain Astrologer Magazine (Issue #123 Oct/Nov 2005)
3. http://www.solsticepoint.com/astrologersmemorial/uranians.html#Witte
4. Otto Wilms, “The Uranian System”
5. Richard Svehla, “Introduction to the Uranian System of Astrology”
6. Ruth Brummund and Udo Rudolph, “Handbook of Techniques for the Hamburg School”, Penelope Publications, 1992.
7. Udo Rudolph, “The 25th anniversary of the URANIAN SOCIETY” on July 26, 2005 in New York
8. คำกราบบังคมทูล สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ฯ โดย พลตรี ประยูร พลอารีย์ 17 ม.ค. 2518
9. พลตรี ประยูร พลอารีย์, “คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ”, โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ, 2521.

เชิงอรรถ
1. โดยวิชาชีพแล้ว ท่านอัลเฟรด วิตเตอ เป็นนายช่างสำรวจ (Surveyor) โดยมีผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของท่านคือ สนามบินฮัมบูร์ก เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1878 เวลา 21:12 ่น. (เวลา LMT) เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1941 เวลา 4:01 น. (เวลา MET) เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี
2. ท่านฟรีดริชค์ ซีกกรึน มีวิชาชีพเป็นนักเดินเรือ (Navigator) เกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1877 เวลา 8:41 น. (เวลา LMT) ในเมือง Luebeck ประเทศเยอรมนี ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1951 เวลา 2:15 น. (เวลา MET) เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี
3. ท่านลุดวิก รูดอล์ฟ เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1893 เวลา 1:30 น. (เวลา LMT) เมือง Uelzen ประเทศเยอรมนี ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1982 เวลา 0:30 น. (เวลา MET) เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เจ้าของสำนักพิมพ์ ผู้เป็นกำลังหลักในการก่อตั้งและเผยแพร่โหราศาสตร์ระบบนี้
4. ท่าน Welhelm Beckmann  เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1892 เวลา 4:00 น. (เวลา LMT) เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1956 เวลา 9:30 น. (เวลา MET) เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี อาชีพทนายความ
5. ท่านแฮร์มันน์ เลเฟลด์ท เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1899 เวลา 17:30 น. (เวลา MET) เมืองBornhoevel ประเทศเยอรมนี ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1977 เวลา 21:05 น. (เวลา MET) เมืองBornhoevel ประเทศเยอรมนี




เจาะลึกโหรา

ธาตุทั้งสี่ และการนำไปใช้เชิงจิตวิทยา
ไฟ ดิน ลม น้ำ ปฐมบทของโหราศาสตร์
ดวงจีโอเดติก ดาวพลูโต และวงรอบเสียกรุง 2310
โหราศาสตร์กับเงินตราสกุลหลักของโลก article
คัมภีร์เตตราบิโบลส ต้นธารของโหราศาสตร์ไทยและยูเรเนียน? article
บ้านเหนือ บ้านใต้ ตอนจบ article
บ้านเหนือ บ้านใต้ ตอน 1 article
เรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน article
การกลับมาของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Return of Great Depression?) article
พลูโตในยุคสมัยต่างๆ article
เรือนชะตา 24 ระบบ article
โหราศาสตร์ธุรกิจ: กรณีศึกษาอัตราเงินเฟ้อและตลาดหลักทรัพย์ไทย article
ข่าวล่า เกี่ยวกับการประชุมโหราศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ article
การประชุมทางวิชาการโหราศาสตร์ระหว่างชาติประจำปี ๒๕๑๘ article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 4: เซอุส article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 3: ฮาเดส article
เลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 2: คิวปิโด article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 1: ที่มาของดาวทิพย์ article
ความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอนจบ article
Daylight Saving Time หรือ Summer Time ปัญหากวนใจของนักพยากรณ์ article
คอมพิวเตอร์ในวงการโหราศาสตร์ article
วิวัฒนาการ ของ โหราศาสตร์ article
โหราศาสตร์ กับที่มาของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์ article
จารึกมรกต : ที่มาของ ปรัชญามูลฐาน แห่ง โหราศาสตร์ article



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
eXTReMe Tracker