ReadyPlanet.com
dot
dot dot
dot
เกี่ยวกับเรา Horauranian.com
dot
bulletรำลึกถึง อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์
bulletเจตนารมณ์
bulletติดต่อเรา
bulletโหราพยากรณ์
dot
บทความ
dot
bulletเกร็ดโหรน่ารู้
bulletเจาะลึกโหรา
bulletโหราศาสตร์บ้านเมือง
bulletBlog อ.วิโรจน์
bulletแนะนำตำรา
bulletไพ่ยิปซี จักรราศี (Celestial Tarot)
bulletกระดานถามตอบ
bulletคลังบทความดวงเมืองเศรษฐกิจ 2550-2552
bulletคลังกระทู้โหราศาสตร์ที่น่าสนใจ
dot
บทความน่าสนใจ
dot
bulletประเทศไทยหลังคดียึดทรัพย์ 2553
bulletReturn of Great Depression?
bulletChange! ผู้นำยุคใหม่ของโลก
bulletเรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน
bulletโหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
bulletเลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง
bullet6 ขั้นตอนเพื่อการดูหมออย่างคุ้มค่า
bulletชนะใจคนรัก 12 ราศี
dot
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
dot
bulletเพจ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletCelestial Strategist Blog
bulletBlog โหราเศรษฐกิจ
bulletเว็บไซต์ที่น่าสนใจ




ความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอนจบ article

โดย Pallas
เมษายน 2550

          ในตอนแรก ผมได้เล่าถึงพัฒนาการของโหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์กหรือโหราศาสตร์ยูเรเนียนในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโหราศาสตร์สำนักนี้ ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงการวางรากฐานอย่างมั่นคงด้วยการก่อตั้งสมาคมโหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์ก ทั้งนี้ ระหว่างที่โหราศาสตร์ระบบนี้ได้เริ่มวางรากฐานและพัฒนาอยู่ในประเทศเยอรมนีนั้น ก็ได้มีการเผยแพร่ความรู้ขยายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังก้าวมามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในระดับโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในบทความตอนจบนี้ จึงขอเล่าพัฒนาการโหราศาสตร์ยูเรเนียนในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย

พัฒนาการโหราศาสตร์ยูเรเนียนในสหรัฐอเมริกา

          Richard Svehla เจ้าของ Phoenix-Bookshop ในคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เป็นนักโหราศาสตร์คนแรกในสหรัฐอเมริกาที่สนใจระบบของท่านวิตเตอ โดยได้ติดต่อผ่านนาย Ludwig Rudolph ใน ค.ศ. 1939 เขาได้แปลคัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 (ค.ศ. 1935) จากภาษาเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษ (ซึ่งเป็นฉบับที่ยังไม่ได้รวมดาวพลูโตและดาวทิพย์ 4 ดวงของท่านซีกกรึน) และเขียนบทเรียนสอนนักศึกษาโหราศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา กล่าวได้ว่า ท่าน Richard Svehla เป็นบุคคลแรกที่เรียกโหราศาสตร์ระบบนี้ว่า “โหราศาสตร์ยูเรเนียน” โดยคำนี้มาจากการที่ท่านลุดวิก รูดอล์ฟ ได้เขียนจดหมายถึงท่าน Richard Svehla ว่า ท่านวิตเตอเป็นชาวยูเรเนียนอย่างแท้จริง เพราะเป็นผู้ซึ่งคิดค้นโหราศาสตร์สำหรับวันพรุ่งนี้ สำหรับยุคราศีกุมภ์ (ซึ่งมีดาวมฤตยูหรือยูเรนัสเป็นดาวเกษตรครองราศี) จากถ้อยคำในจดหมายของท่านรูดอล์ฟนี้เอง ท่าน Svehla จึงได้เรียกโหราศาสตร์ระบบนี้ว่า โหราศาสตร์ยูเรเนียน1 

          แต่บุคคลที่ทำให้โหราศาสตร์ยูเรเนียนเป็นที่แพร่หลายในสหรัฐอเมริกา ต้องยกให้ท่านฮันส์ นิกเกอมันน์ (Hans Niggemann)2  ซึ่งเป็นชาวเยอรมันที่อพยพมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา และได้สนใจในโหราศาสตร์ของท่านวิตเตอ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮันส์ได้แปลตำราจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษหลายเล่ม เช่น “The Key to Uranian Astrology by Hans Niggemann” ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 และได้ร่วมกับ ดร. Wagner ในการสอนโหราศาสตร์ยูเรเนียนในเมืองนิวยอร์ก  

          ในปี ค.ศ. 1975 Roger Jacobsen ได้เขียนหนังสือชื่อ The Language of Uranian Astrology โดยอธิบายหลักการโหราศาสตร์ยูเรเนียนได้อย่างครบถ้วน ทำให้โหราศาสตร์ระบบนี้ได้รับการเผยแพร่กว้างขวางยิ่งขึ้น ถือได้ว่า เป็นตำราโหราศาสตร์ยูเรเนียนคลาสสิคอีกเล่มหนึ่ง

          กระทั่ง ปี ค.ศ. 1980 ได้มีการก่อตั้งกลุ่มยูเรเนียน (The Uranian Society) โดยชาร์ลส อีเมอร์สัน (Charles Emerson) ขึ้นและต่อมาเป็นกลุ่มยูเรเนียน (Uranian Special Interest Group (SIG)) ใน National Council of Geocosmic Research (NCGR) ในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1980 เวลา 17:43 น. (EDT) ในเมืองนิวยอร์ก และได้ออกวารสารชื่อ “Urania” เพื่อเผยแพร่ความรู้โหราศาสตร์ยูเรเนียนจนถึงปัจจุบัน

          กล่าวได้ว่า นอกจากประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดของโหราศาสตร์ยูเรเนียนแล้ว โหราศาสตร์ยูเรเนียนได้เผยแพร่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างกว้างขวางที่สุด นั่นน่าจะเป็นเพราะว่ามีนักโหราศาสตร์ชาวเยอรมันได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานและสอนโหราศาสตร์ระบบนี้หลายท่าน มีการแปลตำราจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่อง และมีนักโหราศาสตร์ชั้นยอดหลายท่านสนใจศึกษาและพัฒนาโหราศาสตร์ระบบนี้ ที่สำคัญมีการก่อตั้งกลุ่มสมาคมขึ้นมาศึกษาเป็นการเฉพาะ จุดที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ไม่ค่อยมีตำรา เว็บไซต์ หรือนักโหราศาสตร์ในระบบยูเรเนียน ในประเทศสหราชอาณาจักร ทั้งๆที่โหราศาสตร์ โดยเฉพาะโหราศาสตร์คลาสสิค มีความก้าวหน้าอย่างมากในอังกฤษ นั่นอาจเป็นเพราะว่าไม่มีนักโหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์กไปลงหลักปักฐานในอังกฤษก็เป็นได้

พัฒนาการโหราศาสตร์ยูเรเนียนในประเทศไทย

          จุดเริ่มต้นของโหราศาสตร์ยูเรเนียนในประเทศไทย เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) เมื่ออาจารย์จรัญ พิกุล ได้อ่านบทความเกี่ยวกับโหราศาสร์ยูเรเนียนในนิตยสารโหราศาสตร์ภาษาอังกฤษชื่อ “In Search” บทความดังกล่าวได้แนะนำโหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์ก ซึ่งเป็นโหราศาสตร์ระบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นในประเทศเยอรมนีช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และเกิดความสนใจในศาสตร์สาขานี้ ต่อมา ได้รับหนังสือ “Introduction to Uranian Astrology” (พิมพ์ปี ค.ศ. 1933) ซึ่งเป็นหนังสือแนะนำโหราศาสตร์ระบบนี้อย่างย่อ เขียนโดย Richard Svehla จากคุณอุดม ปัทมินทร์ ทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติม

          ในปี พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) อาจารย์จรัญได้พบกับ พ.อ.จง แปลกบรรจง และร่วมกันศึกษาโหราศาสตร์ระบบนี้เพิ่มเติมจากบทความโหราศาสตร์ยูเรเนียนในนิตยสาร Indian Astrology ซึ่งเป็นนิตยสารโหราศาสตร์ของอินเดียที่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และได้ตั้งชื่อระบบใหม่นี้ว่า “โหรารังสีนิยม” เนื่องจากโหราศาสตร์ระบบนี้ใช้จุดกึ่งกลางระหว่างดาว 2 ดวงหรือศูนย์รังสี (Midpoint) เป็นสำคัญ ต่อจากนั้น ทั้งคู่ได้สั่งซื้อตำรา “Rules for Planetary Pictures (Uranian System)” (พิมพ์ปี ค.ศ. 1959) ซึ่งเป็นตำราที่นาย Hans Niggemann แปลและขยายความจากฉบับภาษาเยอรมัน

          ในปี พ.ศ. 2510 อาจารย์จรัญได้เขียนบทความแนะนำโหราศาสตร์ยูเรเนียนเป็นครั้งแรกชื่อ “วิวัฒนาการของโหราศาสตร์ในศตวรรษที่ 20” ตีพิมพ์ใน “พยากรณ์สาร” ของสมาคมโหรแห่งประเทศไทย ฉบับเดือนพฤษภาคม 2510 โดยได้เขียนติดต่อกันจนถึงปี 2511 และได้เริ่มเผยแพร่ความรู้โหราศาสตร์ระบบนี้ในประเทศไทยเป็นต้นมา เช่น ทำเอกสารศึกษาประกอบกับจานคำนวณ 360 องศา ทำด้วยกระดาษ ออกขาย, ปลายปี 2510 เขียนหนังสือ “แนะนำโหรายูเรเนียน” พิมพ์แจกในงานศพ และนำออกขายในปี 2511, จัดทำจดหมายข่าว “ยูเรเนียนสัมพันธ์”, ต้นปี 2511 ร่วมกับ พ.อ.จง แปลกบรรจง เรียบเรียงหนังสือชื่อ “พจนานุกรมศูนย์รังสีดาว” ซึ่งเป็นการเรียบเรียงโดยย่อ ไม่ใช่การแปลและไม่รวมดาวทิพย์ 8 ดวงของโหราศาสตร์ยูเรเนียน, ปลายปี 2513 พิมพ์ตำราชื่อ “โหราศาสตร์ไทยระบบรังสีดาว” ซึ่งเป็นการอธิบายเรื่องศูนย์รังสีและการผสมความหมายของปัจจัย 3 ปัจจัย ไม่รวมดาวทิพย์

          ในช่วงนั้นเอง พันโท ประยูร พลอารีย์ (ยศในขณะนั้น) สอบชิงทุนได้ไปศึกษาวิชาเสนาธิการทหารที่ประเทศเยอรมนีในปี 2511 โดยได้เข้าไปศึกษาโหราศาสตร์สากลแนวคลาสสิคที่เมือง Hannover อยู่หนึ่งปี ก่อนจะย้ายมาที่เมือง Hamburg และได้เข้าศึกษาโหราศาสตร์ยูเรเนียนที่โรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์ก (Hamburger Schule) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโหราศาสตร์ระบบนี้เป็นเวลา 2 ปี โดยได้รู้จักสนิทสนมกับครอบครัวของ Ludwig Rudolph ประธานโรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์กในขณะนั้น และได้รับมอบสิทธิการแปลตำราของสำนักฮัมบูร์กทั้งหมดจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาไทย อีกทั้งได้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของโรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์ก และเป็นผู้แทนโหราศาสตร์ระบบนี้ในประเทศไทยอีกด้วย

          เมื่อกลับจากประเทศเยอรมนี อาจารย์จรัญได้ไปพบอาจารย์ประยูรและปรึกษาหารือร่วมกัน และได้ก่อตั้งโรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ ขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2515 เปิดอบรมนักศึกษาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีอาจารย์จรัญเป็นประธาน และอาจารย์ประยูรเป็นผู้อำนวยการและอาจารย์ใหญ่

          ในปี พ.ศ. 2517 อาจารย์ประยูร ในนามของโรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ ร่วมกับสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำโดยพ.ต.ท. ประสิทธิ์ ลีละยูวะ นายกสมาคมฯในขณะนั้น และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพจัด “การประชุมโหราศาสตร์โลกปี 1974 (World Astrological Conference - 74” ขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 โดยได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบูร์ก ในการนำของท่านลุดวิก รูดอล์ฟ ได้จัดให้นายอูโด รูดอล์ฟ (Udo Rudolph) ประธานสมาคมการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ (Astrologische Studiengesellschaft e.V.) เป็นผู้แทนและผู้บรรยาย และประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นการนำวงการโหราศาสตร์ของประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทในระดับโลกเป็นครั้งแรก

          นอกจากงานสอนนักศึกษาโหราศาสตร์ที่โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพและสมาคมโหรแห่งประเทศไทยฯ แล้ว อาจารย์ประยูร ได้สร้างคุณูปการอันสำคัญยิ่งต่อวงการโหราศาสตร์ยูเรเนียนในเมืองไทยด้วยการเขียนตำราโหราศาสตร์ระบบนี้ไว้ 3 เล่ม (ไม่รวมเอกสารประกอบการสอน บทความในนิตยสารต่างๆ และตำรา “ทฤษฎีการพยากรณ์” ซึ่งเป็นตำราที่อาจารย์ประยูรเขียนในแนวที่ประยุกต์ได้ทั้งโหราศาสตร์ไทย โหราศาสตร์คลาสสิค และโหราศาสตร์ยูเรเนียน) ได้แก่ “คู่มือการพยากรณ์ดวงชะตาเอง” (2516) แนะนำเทคนิคพื้นฐานของระบบยูเรเนียน คือศูนย์รังสี และคัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิฉบับย่อ, “คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ” (2521) สุดยอดตำราโหราศาสตร์ยูเรเนียนของไทย ซึ่งเป็นการถอดความจากต้นฉบับภาษาเยอรมันคือ “Regelwerk für Planetenbilder” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 (ค.ศ. 1959) พร้อมปรัชญา แนวคิด และเทคนิคต่างๆของอาจารย์, และ “คัมภีร์สูตรเรือนชะตา” (2536) ซึ่งเป็นตำราเล่มสุดท้ายก่อนอาจารย์ประยูรจะจากโลกนี้ไปเมื่อ 14 มีนาคม 2536

          ถือได้ว่า โหราศาสตร์ยูเรเนียนในประเทศไทย ได้รับการวางรากฐานอย่างมั่นคงจากปรมาจารย์โหรทั้ง 2 ท่าน คือ พล.ต.ประยูร พลอารีย์ และอาจารย์จรัญ พิกุล ทำให้โหราศาสตร์ระบบนี้เป็นที่แพร่หลายโดยทั่วไป และได้รับความนิยมสูงกว่าโหราศาสตร์สากลแนวคลาสสิคอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆทั่วโลก ปัจจุบันได้มีการสอนโหราศาสตร์ระบบนี้มากมายหลายสำนัก อีกทั้งมีการเปิดเว็บไซต์ภาษาไทยเพื่อเผยแพร่ความรู้ระบบนี้อยู่มากกว่า 10 แห่ง เท่าที่สังเกตพบว่า เป็นการเผยแพร่ความรู้โหราศาสตร์ยูเรเนียนในลักษณะที่เป็นโหราศาสตร์แนววิทยาศาสตร์ มากกว่าจะเป็นเรื่องงมงาย ทำให้ผู้เรียบเรียงหวังไว้ว่า สักวันหนึ่ง ความฝันของ อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์ ที่เคยเขียนไว้ว่า “..ที่จะบุกเบิกต่อไปในความลึกซึ้งของวิชาโหราศาสตร์และศาสตร์อนาคตอื่นๆ และพร้อมแล้วที่จะขจัดการขาดความรู้จริงและความงมงายทั้งหลายอันเป็นเสมือนมะเร็งร้ายที่เกาะกินสังคมเรามานาน ให้หมดสิ้นไป และก้าวไปสู่ความแจ่มใสแห่งโลกในทางปัญญา ถ้าหากเราละความเห็นแก่ตัวลงเสียบ้าง เพื่อเห็นแก่ความเจริญของส่วนรวมและของลูกหลายเราในอนาคตแล้ว ประเทศของเราก็คงจะกลายเป็น บาบิโลเนียแห่งตะวันออกไกล เข้าสักวันหนึ่ง”  จะกลายเป็นความจริงในอนาคตอันใกล้นี้

เอกสารอ้างอิง
1. Bruce Scofield, “Uranian Astrology for the Complete Idiot”, The Mountain Astrologer Magazine (Issue #123 Oct/Nov 2005)
2. Udo Rudolph, “The 25th anniversary of the URANIAN SOCIETY” on July 26, 2005 in New York
3. Otto Wilms, “The Uranian System”
4. Richard Svehla, “Introduction to the Uranian System of Astrology”
5. คำกราบบังคมทูล สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ฯ โดย พลตรี ประยูร พลอารีย์ 17 ม.ค. 2518
6. Ruth Brummund and Udo Rudolph, “Handbook of Techniques for the Hamburg School”, Penelope Publications, 1992.
7. พลตรี ประยูร พลอารีย์, “คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ”, โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ, 2521.
8. ดร. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, “โหราศาสตร์วิพากษ์ : โหราศาสตร์การเมือง”, สำนักพิมพ์น้ำไท, 2537.

เชิงอรรถ
1. จากการค้นคว้าจากข้อมูลหลายแหล่ง พบว่า มีหลายท่านมักเข้าใจผิดว่าฮันส์ นิกเกอมันน์ เป็นผู้ตั้งชื่อนี้ขึ้นมา นอกจากนี้ ผมตั้งข้อสังเกตว่า การที่นักโหราศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาตั้งชื่อโหราศาสตร์ระบบนี้ว่าโหราศาสตร์ยูเรเนียน น่าจะมาจากความตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อสำนักฮัมบูร์ก ซึ่งเป็นชื่อเมืองในเยอรมนี ที่เป็นผู้นำฝ่ายอักษะ ศัตรูของสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านในหมู่นักโหราศาสตร์ชาวอเมริกัน
2. ท่านฮันส์ นิกเกอมันน์ เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1891 เวลา 7:00 น. (เวลา GMT) เมือง Paderborn ประเทศเยอรมนี ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1985 เวลา 6:00 น. (เวลา MET) เมือง Bronx รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา




เจาะลึกโหรา

ธาตุทั้งสี่ และการนำไปใช้เชิงจิตวิทยา
ไฟ ดิน ลม น้ำ ปฐมบทของโหราศาสตร์
ดวงจีโอเดติก ดาวพลูโต และวงรอบเสียกรุง 2310
โหราศาสตร์กับเงินตราสกุลหลักของโลก article
คัมภีร์เตตราบิโบลส ต้นธารของโหราศาสตร์ไทยและยูเรเนียน? article
บ้านเหนือ บ้านใต้ ตอนจบ article
บ้านเหนือ บ้านใต้ ตอน 1 article
เรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน article
การกลับมาของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Return of Great Depression?) article
พลูโตในยุคสมัยต่างๆ article
เรือนชะตา 24 ระบบ article
โหราศาสตร์ธุรกิจ: กรณีศึกษาอัตราเงินเฟ้อและตลาดหลักทรัพย์ไทย article
ข่าวล่า เกี่ยวกับการประชุมโหราศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ article
การประชุมทางวิชาการโหราศาสตร์ระหว่างชาติประจำปี ๒๕๑๘ article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 4: เซอุส article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 3: ฮาเดส article
เลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 2: คิวปิโด article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 1: ที่มาของดาวทิพย์ article
ความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 1 article
Daylight Saving Time หรือ Summer Time ปัญหากวนใจของนักพยากรณ์ article
คอมพิวเตอร์ในวงการโหราศาสตร์ article
วิวัฒนาการ ของ โหราศาสตร์ article
โหราศาสตร์ กับที่มาของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์ article
จารึกมรกต : ที่มาของ ปรัชญามูลฐาน แห่ง โหราศาสตร์ article



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
eXTReMe Tracker