โดย Pallas
9 มิถุนายน 2550
เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักโหราศาสตร์ที่รู้จักโหราศาสตร์ยูเรเนียน หรือ โหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์ก ว่า ข้อแตกต่างสำคัญที่ทำให้โหราศาสตร์สำนักนี้โดดเด่นไปจากสำนักอื่นๆ นั่นคือ การใช้ดาวทิพย์ (Transneptunian Planets) ซึ่งคิดค้นโดยท่านอัลเฟรด วิตเตอ และท่านฟรีดริชค์ ซีกกรึน บทความนี้ ผมตั้งใจที่จะรวบรวมข้อมูลประวัติ ที่มา ตำนาน และความหมายของดาวทิพย์แต่ละดวง ให้ครอบคลุมกว้างขวางที่สุด เพื่อให้นักโหราศาสตร์สามารถศึกษาเรียนรู้ได้อย่างครบถ้วน หลายๆเรื่องที่ปรากฏในบทความนี้ ผมเชื่อว่ายังไม่มีตำราภาษาไทยเล่มใดกล่าวถึง เพราะส่วนใหญ่มักมุ่งไปที่ความหมายของดาวทิพย์เพื่อใช้ในการพยากรณ์เลย แต่ผมคิดว่า การศึกษาที่มาของดาวทิพย์แต่ละดวงอย่างรอบด้าน ทั้งประวัติการค้นพบ คุณสมบัติทางดาราศาสตร์ (จากการคำนวณ) การตีความหมายจากสัญลักษณ์ และความหมายเชิงปรัชญา จะทำให้นักโหราศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวางและพิสดาร ไม่จำกัดอยู่เพียงคำที่ปรากฏอยู่ในตำราเท่านั้น
ดาวทิพย์นี้ได้รับการค้นพบจากการคำนวณโดยท่านอัลเฟรด วิตเตอ ผู้ก่อตั้งโหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์ก หรือโหราศาสตร์ยูเรเนียน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากการสังเกตพบว่ามีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามรบ แต่ไม่สามารถอธิบายได้โดยปัจจัยทางโหราศาสตร์ที่มีอยู่ในขณะนั้น ท่านจึงได้ค้นคว้าวิจัยโดยตั้งสมมติฐานว่า ต้องมีปัจจัยทางโหราศาสตร์ที่ยังไม่ถูกค้นพบในขณะนั้น ซึ่งมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ท่านวิตเตอได้สร้างกราฟ Declining Curve ของระยะทางจากดวงอาทิตย์ไปยังดาวเคราะห์ กับระยะเชิงมุมระหว่างดาวเคราะห์ ทำให้ค้นพบปัจจัยที่มีอิทธิพลในทางโหราศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้น (ค.ศ.1923) ดาวเนปจูนเป็นดาวเคราะห์ที่ไกลที่สุดที่มนุษย์ค้นพบ (ดาวพลูโตถูกค้นพบในปี 1930) ท่านวิตเตอจึงได้ตั้งชื่อปัจจัยเหล่านี้ว่า Transneptunian Planets แปลว่า ดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลไปจากดาวเนปจูน ซึ่งในประเทศไทย อาจารย์จรัญ พิกุล ตั้งชือไว้ว่า ดาวทิพย์ ซึ่งได้ความหมายที่กระชับสั้นแต่ลึกซึ้ง
หลังจากที่ท่านวิตเตอได้ค้นพบดาวทิพย์แล้วนั้น ท่านก็พบว่า การตั้งชื่อให้กับดาวเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยท่านได้เรียกร้องนักโหราศาสตร์ในขณะนั้นช่วยกันตั้งชื่อที่เหมาะสม แต่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างจริงจัง ในที่สุด ท่านวิตเตอและท่านซีกกรึน จึงได้ร่วมกันตั้งชื่อโดยมีที่มาจากตำนานเทพนิยายของกรีกโรมัน เช่นเดียวกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ดังนั้น การศึกษาตำนานเหล่านี้ย่อมส่งผลให้เข้าใจความหมายของดาวทิพย์ได้ดียิ่งขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ความหมายจากตำนานดังกล่าวจะเหมือนกับความหมายของดาวทิพย์ทั้ง 100%
ดาวทิพย์ที่ใช้ในโหราศาสตร์ยูเรเนียนนั้นมีทั้งหมด 8 ดวง ประกอบด้วย ดาวทิพย์ 4 ดวงแรกที่ค้นพบโดยท่านวิตเตอ นั่นคือ คิวปิโด (Cupido), ฮาเดส (Hades), เซอุส (Zeus), โครโนส (Kronos) และดาวทิพย์อีก 4 ดวงที่ค้นพบโดยท่านซีกกรึน ได้แก่ อพอลลอน (Apollon), แอดเมตอส (Admetos), วัลคานุส (Vulcanus), โพไซดอน (Poseidon)
เนื่องจากดาวทิพย์ทั้งแปดดวงเป็นดาวที่มาจากการคำนวณ แต่ยังไม่พบในทางดาราศาสตร์ ดังนั้น การที่สำนักฮัมบูร์กสามารถจัดทำปฏิทิน (Ephemeris) เพื่อใช้คำนวณตำแหน่งของดาวทิพย์ในจักรราศีย่อมเป็นงานระดับอัจฉริยะเลยทีเดียว หลังจากการค้นพบโดยท่านวิตเตอและท่านซีกกรึน นักโหราศาสตร์สำนักฮัมบูร์กหลายท่านได้ช่วยกันพัฒนาปฏิทินดาวทิพย์ขึ้นมาจากหลักการของทั้ง 2 ท่าน เริ่มจากวิลเฮล์ม เบคมันน์ (นักโหราศาสตร์ผู้ทำนายว่า แม็คซ์ ชเมลิง จะชนะโจหลุยซ์ในยก 12 อย่างแม่นยำ), เอ็ดเวิร์ด อาร์เธอร์ สโตน ผู้จัดทำปฏิทินดาวทิพย์สำหรับปีค.ศ. 1928-1970 และ รูธ บรุมมุนด์ (Ruth Brummund) ได้จัดทำปฏิทินดาวทิพย์สำหรับปี 1890-2000
ปลายทศวรรษที่ 70 เจมส์ นีลีย์ (James Neeley) ชาวอเมริกัน ได้ค้นพบว่า วงโคจรของดาวทิพย์ที่คำนวณไว้แต่เดิมมีความคลาดเคลื่อนอยู่ โดยเฉพาะดาวทิพย์ของท่านซีกกรึน เช่น ระยะโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวอพอลลอน ที่คำนวณโดยท่านซีกกรึน ได้เท่ากับ 576.00 ปี แต่นีลีย์คำนวณได้เท่ากับ 589.424 ปี ฯลฯ (ดูตารางเปรียบเทียบค่าที่คำนวณโดยท่านวิตเตอ & ซีกกรึน และโดยเจมส์ นีลีย์) จึงได้ปรับแก้ และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เป็นผลให้ปฏิทินดาวทิพย์ที่ใช้ในปัจจุบันต่างยึดผลการปรับแก้จากเจมส์ นีลีย์ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นของรูธ บรุมมุนด์, นีล มิเคลเสน (Neil F. Michelsen) หรือ Swiss Ephemeris ของ Astrodienst AG
ดาวเคราะห์ |
ระยะห่างจากดวงอาทิตย์เฉลี่ย (หน่วยดาราศาสตร์: AU) |
ระยะเวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ (ปี) |
คำนวณโดย Witte & Sieggrün |
คำนวณโดย เจมส์ นีลีย์ |
คำนวณโดย Witte & Sieggrün |
คำนวณโดย เจมส์ นีลีย์ |
คิวปิโด |
41.000 |
40.998 |
262.50 |
262.512 |
ฮาเดส |
50.667 |
50.667 |
360.66 |
360.656 |
เซอุส |
59.210 |
59.214 |
455.64 |
455.659 |
โครโนส |
64.800 |
64.817 |
521.80 |
521.834 |
อพอลลอน |
70.362 |
70.299 |
576.00 |
589.424 |
แอดเมตอส |
73.736 |
73.628 |
617.00 |
631.773 |
วัลคานุส |
77.446 |
77.256 |
663.00 |
679.040 |
โพไซดอน |
83.494 |
83.669 |
740.00 |
765.327 |
ในหมู่นักโหราศาสตร์ตะวันตกได้มีข้อถกเถียงถึงความมีอยู่จริงของดาวทิพย์เหล่านี้อยู่เสมอ เช่น ผู้จัดทำ Swiss Ephemeris ได้ตั้งข้อสังเกตว่า วงโคจรของดาวทิพย์มีลักษณะเป็นวงกลม มากกว่าจะเป็นวงรี ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก โดยเฉพาะเมื่อพบว่า ความรีของวงโคจรน้อยกว่าดาวศุกร์ซึ่งโคจรแทบจะเป็นวงกลมอยู่แล้ว อีกทั้ง สูตรคำนวณวงโคจรดาวทิพย์นั้นใช้ปัจจัยแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้ใช้อิทธิพลแรงดึงดูดของดาวเคราะห์ดวงอื่น ซึ่งอาจทำให้มีค่าคลาดเคลื่อนในระดับ 1 องศาสำหรับปฏิทินในศตวรรษที่ 20
อย่างไรก็ตาม กว่า 90 ปีที่นักโหราศาสตร์ยูเรเนียนได้นำดาวทิพย์เหล่านี้มาใช้งาน พบว่า สามารถใช้พยากรณ์ได้อย่างแม่นยำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนไม่สามารถปฏิเสธถึงอิทธิพลที่ดาวเหล่านี้มีต่อดวงชะตา อาจารย์พลตรี ประยูร พลอารีย์ได้เขียนไว้ครั้งหนึ่งว่า นักศึกษาอย่าได้หลงคิดว่า ดาวทรานส์เนปจูน ซึ่งค้นพบโดยวิชาโหราศาสตร์ (ยูเรเนียน) มีความสำคัญหรือมีอิทธิพลด้อยกว่าดาวพระเคราะห์ทั้ง 7 ในสมัยโบราณเป็นอันขาด เพราะล้วนให้ความศักดิ์สิทธิในการพยากรณ์เหมือนๆกันทุกดวง บางดวงดูคล้ายจะให้ผลในการพยากรณ์รุนแรงกว่าดาวพระเคราะห์ทั้ง 7 ดังกล่าวนั้นเสียอีก ตัวอย่างเช่น แอดเมตอส เป็นต้น ซึ่งมีอิทธิพลคือ การพลัดพรากจากกัน หรือการถึงแก่กรรม ฯลฯ เป็นต้น ปรากฏว่า อิทธิพลของแอดเมตอสที่ก่อให้เกิดการพลัดพรากจากกันนั้น แรงกว่าเสาร์ เสียอีก และเห็นผลชัดเจน ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ทีเดียว ทั้งๆที่ดาวพระเคราะห์นี้โคจรช้ามาก คือประมาณปีละ 1-2 องศาเท่านั้น
ในการสัมมนาทางโหราศาสตร์เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2549) อาจารย์อารี สวัสดี ได้ตั้งข้อสังเกตในทางดาราศาสตร์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ดาวทิพย์เหล่านี้เป็นดาวเคราะห์ในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ซึ่งมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ในช่วง 30-50 AU (หน่วยดาราศาสตร์: Astronomical Unit โดย 1 AU = ระยะห่างของโลกกับดวงอาทิตย์ = 93 ล้านไมล์ = 150 ล้านกิโลเมตร) หรือเมฆออร์ต (Oort Cloud) ชั้นเมฆในอวกาศรูปทรงกลม ซึ่งมีระยะห่างระหว่าง 50-50,000 AU จากดวงอาทิตย์) ซึ่งเรื่องนี้ก็คงเป็นหน้าที่ของนักโหราศาสตร์ยุคปัจจุบันที่จะทำการค้นคว้าต่อไป

ตอนต่อไป พบกับ ดาวคิวปิโด ดาวแห่งชีวิตสมรสและการสมาคม
เอกสารอ้างอิง
1. พล.ต. ประยูร พลอารีย์, คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ, โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ.
2. Ruth Brummund and Udo Rudolph, Handbook of Techniques for the Hamburg School, Witte-Verlag, 1992.
3. L Blake Finley, Astronomical Data for the Transneptunian factors of Alfred Witte and Friedrich Sieggrün, The Uranian Institute, March 2007
4. http://en.wikipedia.org
5. http://www.astrologicpc.de/
6. http://www.astro.com/swisseph/