ReadyPlanet.com
dot
dot dot
dot
เกี่ยวกับเรา Horauranian.com
dot
bulletรำลึกถึง อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์
bulletเจตนารมณ์
bulletติดต่อเรา
bulletโหราพยากรณ์
dot
บทความ
dot
bulletเกร็ดโหรน่ารู้
bulletเจาะลึกโหรา
bulletโหราศาสตร์บ้านเมือง
bulletBlog อ.วิโรจน์
bulletแนะนำตำรา
bulletไพ่ยิปซี จักรราศี (Celestial Tarot)
bulletกระดานถามตอบ
bulletคลังบทความดวงเมืองเศรษฐกิจ 2550-2552
bulletคลังกระทู้โหราศาสตร์ที่น่าสนใจ
dot
บทความน่าสนใจ
dot
bulletประเทศไทยหลังคดียึดทรัพย์ 2553
bulletReturn of Great Depression?
bulletChange! ผู้นำยุคใหม่ของโลก
bulletเรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน
bulletโหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
bulletเลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง
bullet6 ขั้นตอนเพื่อการดูหมออย่างคุ้มค่า
bulletชนะใจคนรัก 12 ราศี
dot
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
dot
bulletเพจ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletCelestial Strategist Blog
bulletBlog โหราเศรษฐกิจ
bulletเว็บไซต์ที่น่าสนใจ




โหราศาสตร์กับเพลงคลาสสิค article

โดย Pallas
7 กรกฎาคม 2550

          สำหรับนักโหราศาสตร์ยูเรเนียนนั้น ดนตรีกับโหราศาสตร์เป็นเรื่องที่มีความใกล้ชิดกัน และมีความสอดคล้องกันในเชิงปรัชญา ซึ่งเห็นได้จากบทความแรกของปรมาจารย์อัลเฟรด วิตเตอ (ผู้คิดค้นโหราศาสตร์ยูเรเนียน) ที่ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารโหราศาสตร์ เมื่อปี ค.ศ. 1913 นั้น มีชื่อว่า “ข้อสังเกตเกี่ยวกับ สี ตัวเลข และเสียง (Observations of Color, Numbers, and Tones)” ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นความสอดคล้องกลมกลืนของความถี่ธรรมชาติของดวงดาวกับความถี่จากทฤษฎีส้อมเสียง บทความนี้ท่านวิตเตอได้รับอิทธิพลมาจากท่านโจฮันส์ เคปเลอร์ นักดาราศาสตร์และนักโหราศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้ซึ่งคำนวณความสัมพันธ์ของการโคจรของดาวเคราะห์ทั้ง 6 กับความถี่ของเสียง ซึ่งเรียกว่า “The Harmony of a symphony of the worlds”  

          เช่นเดียวกับคอเพลงดนตรีคลาสสิคแล้ว หากถามว่ามีเพลงคลาสิคชุดใดบ้างที่พูดถึงดวงดาวและโหราศาสตร์ ทุกคนก็ต้องคิดถึงเพลงชุด (Suite) ที่โด่งดังมากที่สุดชุดหนึ่ง นั่นคือ “The Planets” ซึ่งประพันธ์โดยคีตกวีชื่อดังแห่งอังกฤษ กุสตาฟ โฮลส์ (Gustav Holst) และบรรเลงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1918 (ใกล้เคียงกับยุคของท่านวิตเตอ)

          ในเพลงชุดนี้ ประกอบด้วยเพลง (Movement) ทั้งหมด 7 เพลง ซึ่งหมายถึงดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาลทั้ง 7 ที่ค้นพบแล้วในขณะนั้น (พลูโต ค้นพบในปี 1930) ยกเว้นโลก ได้แก่

1. Mars, the Bringer of War
2. Venus, the Bringer of Peace
3. Mercury, the Winged Messenger
4. Jupiter, the Bringer of Jollity
5. Saturn, the Bringer of Old Age
6. Uranus, the Magician
7. Neptune, the Mystic

          จะเห็นว่า ความหมายของดาวเคราะห์แต่ละดวงที่ Holst ให้ไว้ในชื่อเพลงมีความสอดคล้องกับความหมายทางโหราศาสตร์ นั่นเป็นเพราะว่า โฮลส์ได้ศึกษาโหราศาสตร์อย่างมือสมัครเล่นจากโหราจารย์ชื่อดังในอังกฤษขณะนั้นคือ อลัน ลีโอ (Alan Leo ซึ่งเป็นนามแฝงของ William Frederick Allan) ผู้ซึ่งตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับโหราศาสตร์ที่ได้รับความนิยมหลายต่อหลายเล่มในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แนวคิดทางโหราศาสตร์ว่าด้วยอิทธิพลของเทหวัตถุบนท้องฟ้าที่มีต่อมนุษย์ได้ถ่ายทอดมายังโฮลส์ นำไปสู่การตั้งชื่อและประพันธ์ท่วงทำนองดนตรีของแต่ละ movement ได้อย่างลึกซึ้ง

          เพลงแรกของชุดนี้เริ่มต้นด้วย Mars เทพเจ้าแห่งสงคราม เป็นการแสดงปฏิกิริยาของ Holst ที่มีต่อการเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเราฟังเพลงนี้แล้ว เราจะรู้สึกถึงความรุนแรง การต่อสู้ และสงคราม อย่างชัดเจน ผมฟังเพลงนี้ครั้งแรกแล้วนึกถึงฉากต่อสู้ในเรื่อง Star Wars ของจอร์จ ลูคัส พอไปค้นดูก็พบว่า ในเรื่องสตาร์วอร์ส Episode IV : New Hope ตอนที่กลุ่มกบฏเข้าโจมตีดาวมรณะในสมรภูมิยาวิน (The Battle of Yavin) มีเพลงคล้ายๆกับ Mars ของ Holst และพบว่า John Williams ผู้แต่งเพลงประกอบสตาร์วอร์สได้รับโจทย์จากลูคัสว่าให้ใช้ Mars เป็น Temp Track (เพลงต้นแบบ) ในการประพันธ์ ท่วงทำนองจึงคล้ายกันอย่างมาก

          เพลงที่ 2 คือ Venus ดาวศุกร์ เทพีแห่งความรัก ซึ่งก็หมายถึงสันติภาพอีกด้วย ตรงกับชื่อ movement ว่า the Bringer of Peace เพลงท่อนนี้ค่อนข้างช้าและงดงาม ด้วยเครื่องดนตรีฟลุตและฮาร์ป เมื่อถึงเพลงที่ 3 Mercury ดาวพุธ เทพเจ้าแห่งการสื่อสาร หรือในชื่อ movement ว่า ผู้นำสารติดปีก (the Winged Messenger) ท่อนนี้บรรเลงในจังหวะ Scherzo ซึ่งเป็นการสลับเล่นระหว่างเครื่องสาย (Strings) และเครื่องเป่า (Woodwind) ให้ความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเหมือนลม นอกจากนี้ ดาวพุธยังหมายถึงความเฉลียวฉลาด (Intelligence) โฮลส์จึงได้แต่งให้มีการเดี่ยวไวโอลินกับวงออร์เคสตราทั้งวงเพื่อแสดงออกถึงอัจฉริยภาพในท่วงทำนองของดาวพุธได้อย่างไพเราะ

          เพลงที่ 4 เป็นเพลงโปรดของผม และอาจจะพูดได้ว่าเป็น Movement ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเพลงชุดนี้ นั่นคือ Jupiter ดาวพฤหัส เทพแห่งความสุขสมหวัง มีความไพเราะมาก ฟังแล้วรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของมหาเทพจูปิเตอร์ ประธานแห่งเทพทั้งปวง รู้สึกถึงความสุข ความสำเร็จ และความสมหวังซึ่งเป็นความหมายทางโหราศาสตร์ของดาวเคราะห์ดวงนี้ ท่อนโปรดของผมจะเริ่มต้นในนาทีที่ 3 ผมเชื่อว่าหลายท่านก็คงจะคุ้นเคยกับทำนองช่วงนี้ดี เพราะถูกนำมาใช้หลายต่อหลายครั้ง เช่น ในเพลงเปิดสารคดีโครงการในพระราชดำริ หรือโฆษณาของธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ ในประเทศอังกฤษนั้น โฮลส์ได้นำบทกวีของ Cecil Spring-Rice ซึ่งเขียนไว้ในปี 1918 เพื่อสรรเสริญวีรกรรมของทหารหาญของอังกฤษที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 มาใส่ในทำนองเพลง Jupiter ในปี 1925 และกลายมาเป็นเพลงสรรเสริญความเสียสละของทหารหาญหรือกล่าวได้ว่าเป็นเพลงปลุกใจของประเทศอังกฤษเลยทีเดียว (ถ้าเป็นบ้านเราคงประมาณเพลง ความฝันอันสูงสุด ทำนองนั้น) โดยมีชื่อเพลงว่า “I Vow to Thee, My Country” 

          ว่ากันว่าเวอร์ชันที่ไพเราะที่สุดของเพลงนี้คือการนำมาร้องคอรัสในพระราชพิธีมงคลสมรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส กับเจ้าหญิงไดอานา ตามคำขอของเจ้าหญิง เพราะเป็นเพลงที่พระองค์ทรงร้องตั้งแต่เป็นนักเรียน (“always been a favourite since schooldays”) ท่อนแรกของเพลงนี้ไพเราะจับใจ สามารถเรียกน้ำตาแ ห่งความปีติยินดีของชาวอังกฤษที่มีต่องานอภิเษกสมรสครั้งนี้

I vow to thee, my country, all earthly things above,
Entire and whole and perfect, the service of my love;
The love that asks no question, the love that stands the test,
That lays upon the altar the dearest and the best;
The love that never falters, the love that pays the price,
The love that makes undaunted the final sacrifice.

          เพลงเดียวกันนี้ได้นำมาร้องอีกครั้งในปี 1997 ในงานศพของเลดี้ไดอาน่า สเปนเซอร์ (ปีนี้ก็ครบรอบ 10 ปีแห่งการจากไปของเจ้าหญิงอันเป็นที่รักของประชาชนมากที่สุดคนหนึ่ง เพิ่งจะมีคอนเสิร์ตระลึกถึงเธอเมื่อ 1 ก.ค. ที่ผ่านมานี้เอง) ท่อนหลังของเพลงเป็นท่อนที่เรียกน้ำตาแห่งความเศร้าโศกของชาวอังกฤษได้ไม่น้อยเช่นกัน

And there’s another country, I’ve heard of long ago,
Most dear to them that love her, most great to them that know;
We may not count her armies, we may not see her King;
Her fortress is a faithful heart, her pride is suffering;
And soul by soul and silently her shining bounds increase,
And her ways are ways of gentleness, and all her paths are peace.

          เพลงที่ 5 คือ Saturn ดาวเสาร์ ผู้นำมาซึ่งความชรา มีความหมายตรงกับโหราศาสตร์ที่กล่าวได้ว่า ดาวเสาร์คือ ความจำกัด ความพลัดพราก และความแก่ เพลงนี้เริ่มต้นด้วยเสียงทุ้มต่ำ ฟังแล้วรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ตามด้วยความตระหนกในช่วงกลางเพลงเพราะตระหนักในความชรา แล้วค่อยๆเข้าสู่ความสงบในตอนจบ เพลงที่ 6 คือ Uranus ดาวมฤตยู เจ้าแห่งเวทมนต์ ความหมายทางโหราศาสตร์ของดาวมฤตยูคือ ความตื่นเต้น ความประหลาดใจ ปุบปับฉับพลัน ความทันสมัย ดังนั้น ท่วงทำนองของเพลงนี้จะเริ่มต้นด้วยปี่บาสซูนกระหึ่ม ตามด้วยเสียงดนตรีแปลกๆ เป็นระยะ แต่ให้ความรู้สึกคึกคัก ตื่นเต้น ช่วงท้ายจบลงด้วยความสงบ

           เพลงสุดท้ายของเพลงชุดนี้คือ Neptune ดาวเนปจูน ผู้ลึกลับ ความหมายทางโหราศาสตร์ของดาวเนปจูนคือ ความเวิ้งว้าง การสลายตัว ความลึกลับ ความไม่ชัดเจน ดังนั้น ทำนองในเพลงนี้จะมีลักษณะลอยๆ เคว้งคว้าง ไม่มีทิศทางชัดเจน ตอนท้ายจบด้วยเสียงคอรัสหญิงที่ฟังไม่ออกว่าร้องว่าอะไร และเสียงเพลงก็ค่อยๆจางหายไป สมดังลักษณะของเนปจูน 

          แม้ว่าบั้นปลายชีวิตของโฮลส์จะทราบว่ามีการค้นพบดาวพลูโตในปี 1930 ท่านก็ไม่ได้ประพันธ์เพิ่มแต่ประการใด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าความหมายทางโหราศาสตร์ของพลูโตในขณะนั้นยังไม่เป็นที่ลงตัว และว่ากันว่าท่านเหนื่อยกับการแต่งเพลงชุดนี้และเบื่อกับผลงานชุดนี้ เพราะว่าคนส่วนใหญ่พูดถึงแต่ผลงานชุดนี้ แต่ไม่พูดถึงผลงานชุดอื่นเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีมานี้ Collin Matthews ได้ประพันธ์ Pluto Movement เพิ่มเติม โดยให้ชื่อว่า Pluto, the Renewer พลูโต ผู้สร้างใหม่ ซึ่งความหมายก็ใกล้เคียงกับทางโหราศาสตร์ แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก

          สำหรับท่านที่อ่านบทความมาถึงตรงนี้ ก็คงอยากที่จะฟังเพลงชุดนี้ด้วยหูของท่านเอง ซึ่งไม่ยากเลยครับ เพียงแต่เข้าไป search คำว่า the planets holst ใน search engine ก็คงจะหาฟังได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม ของฟรีส่วนใหญ่มักเป็นไฟล์ MIDI ซึ่งผมว่าไม่ค่อยจะไพเราะนัก ถ้าจะซื้อเพลงออนไลน์ บ้านเรามีขายที่ www.trueworld.net เป็นเวอร์ชั่นบรรเลงโดย Royal Philharmonic Orchestra ค่าย Warner Music http://truemusic.truelife.com/artist/album.jsp?guid=20061106153800276554&album_guid=20061106153744230839  รู้สึกว่าเพลงละ 25 บาทครับ ลอง click ฟังตัวอย่างเพลง Jupiter ตาม link นี้เลยครับ http://truemusic2.truelife.com/home/player/player_song.php?songguid=20061106153940481642 

          ส่วนตัวผมเอง ชอบฟังเพลงจาก CD มากกว่า เพราะรู้สึกเอาเองว่าน่าจะไพเราะกว่า MP3 หรือ AAC format เคยเดินหาซื้อแผ่น CD ชุดนี้ตามร้านต่างๆในกรุงเทพฯ ก็ไม่เจอซักที บางร้านอย่าง CD Warehouse บอกว่าหมดไปแล้ว ก็ไม่ทราบว่าเมื่อไรจะสั่งมาอีก จึงไม่ได้ซื้อฟังเสียที จนกระทั่งวันก่อนได้ไปเที่ยวสิงคโปร์ เข้าร้าน HMV ร้านขาย CD ชื่อดัง เขาจัดห้องเพลงคลาสสิคเป็นห้องใหญ่ เป็นสวรรค์ของคนฟังเพลงคลาสสิคเลยครับ ไม่เหมือนบ้านเราหาฟังยากเหลือเกิน เดินหาก็ได้อัลบั้ม The Planets & Asteroids บรรเลงโดย Berliner Philharmoniker ซึ่งคอนดักต์โดย Sir Simon Rattle ของค่าย EMI Classics ในอัลบั้มนี้ประกอบด้วย 2 แผ่น แผ่นที่ 1 นอกจากเพลงชุด The Planets ของ Holst 7 เพลงแล้ว ยังบรรเลงเพลง Pluto - the Renewer ของ Collin Matthews ด้วย และในแผ่นที่ 2 เป็นเพลงของดาวเคราะห์น้อย (Asteroids) ทั้งหลาย เช่น Osiris, Ceres, Toutatis เป็นต้น ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงครั้งแรกของเพลงดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ อัลบั้มนี้เพิ่งอัดเสียงในปี 2006 ที่ผ่านมานี้เอง จึงถือว่าเป็นอัลบั้มที่ใหม่มาก แต่ว่าการบรรเลงโดยวงดนตรีชื่อดังอย่างเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิค และคอนดักเตอร์อย่าง Sir Simon Rattle ย่อมประกันความไพเราะได้อย่างดีครับ ท่านใดสนใจลองเข้า website ของอัลบั้มนี้ได้ที่ http://www.emiclassics.com/releaseabout.php?rid=11323 

          อ่านดูแล้ว ลองไปหาฟังกันนะครับ นักศึกษาโหราศาสตร์บางท่านอ่านตำรายังไม่เข้าใจความหมายดาว ก็ลองฟังเพลงชุดนี้ดู อาจจะทำให้เข้าใจความหมายดวงดาวทั้ง 7 นี้มากขึ้นก็ได้

เอกสารอ้างอิง
1. ต่อพงษ์ เศวตามร์, เพลงของ...มหาเทพ “จูปิเตอร์”, 2549.
2. Sir Simon Rattle & Berliner Philharmoniker, “HOLST: THE PLANETS”, EMI Classics, 2006.
3. 
http://en.wikipedia.org/wiki/Main_Page
4. http://www.emiclassics.com/releaseabout.php?rid=11323 




เกร็ดโหรน่ารู้

รัก 7 ปี ดี 7 หน
ลงทุนให้รวยด้วยธาตุสี่
ต้อนรับวันศารทวิษุวัต 22 ก.ย.55 article
ปฏิทิน 24 ฤดูกาลของจีนกับจักรราศีตะวันตก
โหราศาสตร์ใน The Lost Symbol ตอน 1
มารู้จักวันพาย (Pi Day) กันเถอะ article
แวดวงโหราโลก ฉบับที่ 1/2551 article
ใครคือ ด็อกเตอร์ดี ในภาพยนตร์เรื่อง Elizabeth: The Golden Age article
โหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอน 2 article
แวดวงโหราโลก ฉบับที่ 1/2550 article
โหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอน 1 article
อัญมณีกับสิบสองราศี article
เลือกซื้อของขวัญให้ถูกใจแต่ละราศี article
ธาตุทั้งสี่กับการบริหารจัดการ article
ชนะใจคนรัก 12 ราศี article
6 ขั้นตอนเพื่อการ ดูดวง อย่างคุ้มค่า article
จักรราศี กับ พฤติกรรมการช้อปปิ้ง article



[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (102699)
ขอบคุณนะค่ะที่บอกค่ะ^__^ เพราะยูกิไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้ค่า^-^
ผู้แสดงความคิดเห็น Yuki วันที่ตอบ 2011-05-28 22:55:49



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
eXTReMe Tracker