ReadyPlanet.com
dot
dot dot
dot
เกี่ยวกับเรา Horauranian.com
dot
bulletรำลึกถึง อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์
bulletเจตนารมณ์
bulletติดต่อเรา
bulletโหราพยากรณ์
dot
บทความ
dot
bulletเกร็ดโหรน่ารู้
bulletเจาะลึกโหรา
bulletโหราศาสตร์บ้านเมือง
bulletBlog อ.วิโรจน์
bulletแนะนำตำรา
bulletไพ่ยิปซี จักรราศี (Celestial Tarot)
bulletกระดานถามตอบ
bulletคลังบทความดวงเมืองเศรษฐกิจ 2550-2552
bulletคลังกระทู้โหราศาสตร์ที่น่าสนใจ
dot
บทความน่าสนใจ
dot
bulletประเทศไทยหลังคดียึดทรัพย์ 2553
bulletReturn of Great Depression?
bulletChange! ผู้นำยุคใหม่ของโลก
bulletเรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน
bulletโหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
bulletเลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง
bullet6 ขั้นตอนเพื่อการดูหมออย่างคุ้มค่า
bulletชนะใจคนรัก 12 ราศี
dot
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
dot
bulletเพจ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletCelestial Strategist Blog
bulletBlog โหราเศรษฐกิจ
bulletเว็บไซต์ที่น่าสนใจ




เลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง article

โดย Pallas

พฤศจิกายน 2550 

บทนำ

เป้าหมายสำคัญข้อหนึ่งของวิชาโหราศาสตร์คือ การชี้แนวทางในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับจังหวะฟ้า อันจะทำให้คนเราได้รับผลดีที่เกิดจากการกระทำของเราเองอย่างเต็มที่ และบรรเทาผลร้ายจากผลการกระทำของเราเช่นกัน วิธีการสำคัญอย่างหนึ่งคือ การเลือกเวลาที่เหมาะสมในการประกอบการนั้นๆที่ต้องการ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “หาฤกษ์มงคล” นั่นเอง

โหราศาสตร์ว่าด้วยการให้ฤกษ์นั้น มีศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Electional Astrology” ซึ่งมาจาก Election หรือการเลือกเวลาที่เหมาะสม (กรณีนี้ไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้ง) โหราศาสตร์สาขานี้ถือว่าเป็นศิลปสูงสุดในวิชาโหราศาสตร์ ที่มีความซับซ้อนและสำคัญอย่างมาก นักโหราศาสตร์ที่จะวางฤกษ์ได้นั้นจะต้องรู้ซึ้งในวิชาการโหราศาสตร์ดีพอ รู้ถึงน้ำหนักคุณและโทษ โดยพยายามให้เกิดโทษน้อยที่สุด

ด้วยความซับซ้อนดังกล่าวทำให้เมื่อไรก็ตามที่เราต้องการที่จะเลือกเวลาที่จะกระทำการบางอย่าง เช่น แต่งงาน, ขึ้นบ้านใหม่, เปิดบริษัท ฯลฯ ให้เกิดความเป็นมงคลหรือพูดเป็นภาษายุคนี้ว่า ให้ประสบความสำเร็จ เราจึงมักจะไปปรึกษานักโหราศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาในเรื่องนี้ ซึ่งผมก็สนับสนุนความคิดนี้เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ในชีวิตประจำวัน เรามีเรื่องราวหลายอย่างที่อาจจะไม่สำคัญถึงขั้นจะต้องไปปรึกษานักโหราศาสตร์ เช่น การโทรศัพท์ติดต่อเรื่องสำคัญ, การติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่, การเริ่มต้นลดน้ำหนัก, การจัดการกองเอกสารให้เป็นระเบียบ, การบอกรักกับแฟน ฯลฯ ซึ่งเราก็อยากให้งานเหล่านี้เป็นไปด้วยดี ในกรณีนี้ เราสามารถนำเทคนิคทางโหราศาสตร์ที่ง่ายๆไม่ซับซ้อนมาใช้ได้ นั่นคือ “ยามสากล (Planetary Hours)”

ที่มา

ยามสากล (Planetary Hours) เป็นเทคนิคการเลือกฤกษ์ทำการให้เกิดความเป็นมงคลกับงานนั้นๆ เทคนิคนี้ได้รับการค้นพบและใช้งานมาตั้งแต่ยุคโบราณ สันนิษฐานว่าเกิดในยุคเดียวกับจุดเริ่มต้นของโหราศาสตร์ ณ บริเวณเมโสโปเตเมีย เมื่อกว่า 4,000 ปีก่อน และน่าจะเป็นที่มาของชื่อวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์ (รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดอ่านในบทความ โหราศาสตร์กับที่มาของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์)

ในยุค 4,000 ปีก่อนนั้น นักปราชญ์ได้สังเกตการโคจรของดาวเคราะห์ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั้ง 7 ดวง และพบว่า อัตราการโคจรที่สังเกตเห็น (Apparent Motion) ของดาวเหล่านั้นมีความช้าเร็วไม่เท่ากัน เมื่อนำมาเรียงลำดับจากอัตราการโคจรช้าไปหาเร็ว ก็จะเรียงลำดับได้ดังนี้ เสาร์, พฤหัส, อังคาร, อาทิตย์, ศุกร์, พุธ, และจันทร์ ลำดับเช่นนี้เรียกกันว่า ลำดับคาลเดียน (Chaldean Order) เพราะชาวคาลเดียน กลุ่มชนซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของบาบิโลนและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ เป็นผู้ค้นพบ

เมื่อนักปราชญ์ในยุคนั้นสามารถเรียงลำดับอัตราการโคจรของดาวเคราะห์ทั้ง 7 ได้แล้ว จึงนำมาปรับใช้กับการกำหนดชั่วโมงในแต่ละวันและกำหนดชื่อวันในแต่ละสัปดาห์ กล่าวคือ แบ่งวันแต่ละวันเป็น 24 ชั่วโมง และกำหนดให้มีดาวเคราะห์ประจำชั่วโมง เริ่มต้นจากรุ่งอรุณของวันแรกให้ดาวเสาร์ซึ่งโคจรช้าที่สุดเป็นดาวประจำชั่วโมง ชั่วโมงที่สองให้ดาวพฤหัสเป็นดาวประจำชั่วโมง จากนั้นเป็น ชั่วโมงอังคาร, ชั่วโมงอาทิตย์, ชั่วโมงศุกร์, ชั่วโมงพุธ และชั่วโมงจันทร์ พอขึ้นชั่วโมงที่ 8 ก็เริ่มที่ชั่วโมงเสาร์ใหม่ เมื่อเรียงลำดับตามวิธีนี้ ชั่วโมงที่ 24 ก็คือ ชั่วโมงอังคาร ดังนั้น ชั่วโมงที่ 25 หรือรุ่งอรุณของวันที่สอง ก็คือ ชั่วโมงอาทิตย์ จึงเรียกชื่อวันที่ 2 ว่าวันอาทิตย์นั่นเอง เมื่อวนนับเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะได้วันที่สามเป็นวันจันทร์, ตามด้วยวันอังคาร วันพุธ วันพฤหัส และวันศุกร์ ก็ครบสัปดาห์พอดี เมื่อขึ้นวันใหม่ก็จะวนกลับมาที่วันเสาร์อีกครั้งนั่นเอง ข้อสังเกตของระบบการนับวันแบบนี้ คือการตัดวันใหม่จะเริ่มเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ไม่ใช่ตอนเที่ยงคืนอย่างปฏิทินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การกำหนดความนานของชั่วโมงในระบบยามสากลนี้ จะไม่เหมือนกับชั่วโมงตามนาฬิกาในยุคปัจจุบันที่เท่ากับ 60 นาทีเสมอ โดยในระบบยามสากล ความนานของชั่วโมงจะแบ่งเป็นชั่วโมงกลางวัน (Diurnal Hours) กับชั่วโมงกลางคืน (Nocturnal Hours) ซึ่งในฤดูร้อน ชั่วโมงกลางวันจะนานกว่าชั่วโมงกลางคืน เพราะดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาวที่ดวงอาทิตย์ขึ้นช้า ตกเร็ว ชั่วโมงกลางวันจะสั้นกว่าชั่วโมงกลางคืน ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีวันที่เวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากันเพียง 2 วันเท่านั้น คือ ที่จุดวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ประมาณวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี และที่จุดครีษมายัน (Autumn Equinox) ประมาณวันที่ 23 กันยายนของทุกปี

นอกจากนี้ เวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตกในแต่ละวันยังมีความแตกต่างกันไปตามละติจูดและลองจิจูดของสถานที่ที่เราอยู่ด้วย เช่น ในวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ณ กรุงเทพมหานคร (ละติจูด 13 องศา 45 ลิบดา เหนือ, ลองจิจูด 100 องศา 31 ลิบดา ตะวันออก) ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลา 6:20 น. และตกเวลา 17:47 น. แต่หากเราอยู่ที่จังหวัดสงขลา (ละติจูด 7 องศา 12 ลิบดา เหนือ, ลองจิจูด 100 องศา 36 ลิบดา ตะวันออก) ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 6:12 น. และตกเวลา 17:55 น. เป็นต้น (เวลาที่อ้างถึงเป็นเวลาที่ได้ปรับเป็นเวลานาฬิกาหรือเวลามาตรฐานประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ต้องปรับเวลาท้องถิ่นอีก)

วิธีการคำนวณ

การคำนวณหายามสากลนั้น เริ่มต้นเราต้องทราบเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตกของวันนั้น ณ สถานที่ที่เราอยู่ ก่อน จากนั้น หาความนานของชั่วโมงกลางวันด้วยการนำเวลาดวงอาทิตย์ตก ลบด้วย เวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้น แล้วนำมาหารด้วย 12 จะได้ระยะเวลาในแต่ละชั่วโมงของกลางวัน ส่วนการหาความนานของชั่วโมงกลางคืนหาได้ด้วยการนำเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นของวันถัดไป ลบด้วย เวลาที่ดวงอาทิตย์ตกของวันนี้ หารด้วย 12

ลองมาดูตัวอย่างกัน ในวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ณ กรุงเทพมหานคร (ละติจูด 13 องศา 45 ลิบดา เหนือ, ลองจิจูด 100 องศา 31 ลิบดา ตะวันออก) ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลา 6:20 น. และตกเวลา 17:47 น. และดวงอาทิตย์จะขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ย. เวลา 6:20 น. เมื่อเราจะหาชั่วโมงกลางวันของวันเสาร์ที่ 10 พ.ย. เรานำเวลา 17:47 น. ลบด้วยเวลา 6:20 น. ได้ผลลัพธ์คือ 11 ชั่วโมง 27 นาที หารด้วย 12 ได้ระยะเวลาของชั่วโมงกลางวันเท่ากับ 57 นาที 15 วินาที เมื่อนำเวลา 57 นาที 15 วินาที บวกเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นของวันเสาร์ที่ 10 ก็จะได้ชั่วโมงเสาร์ นั่นคือ 6:20 – 7:17 น. และเรียงลำดับชั่วโมงตามลำดับคาลเดียน จนถึงเวลาดวงอาทิตย์ตก 17:47 น.

สำหรับชั่วโมงกลางคืน ก็นำเวลา 6:20 น.ซึ่งเป็นเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นของวันอาทิตย์ที่ 11 ลบด้วยเวลา 17:47 น. ซึ่งเป็นเวลาดวงอาทิตย์ตกของวันเสาร์ที่ 10 ได้ผลลัพธ์คือ 12 ชั่วโมง 33 นาที หารด้วย 12 ได้ระยะเวลาของชั่วโมงกลางคืนเท่ากับ 62 นาที 45 วินาที เมื่อนำเวลา 62 นาที 45 วินาที บวกเวลาดวงอาทิตย์ตกของวันเสาร์ที่ 10 ก็จะได้ชั่วโมงที่ 13 ของวันนั้นหรือชั่วโมงพุธ นั่นคือ 17:47 – 18:50 น. จากนั้นเรียงลำดับชั่วโมงกลางคืนตามลำดับคาลเดียน จนถึงชั่วโมงอังคาร ระหว่างเวลา 4:14 – 6:20 น. ซึ่งเป็นชั่วโมงสุดท้ายของวันเสาร์ตามระบบยามสากล

เราสามารถสรุปชั่วโมงตามระบบยามสากลของตัวอย่างที่ยกขึ้นมาได้ตามภาพด้านล่าง ดังนี้

อ่านดูแล้ว อาจจะรู้สึกว่าการคำนวณค่อนข้างยุ่งยาก อย่างไรก็ตาม ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ความยุ่งยากดังกล่าวสามารถดำเนินการโดยให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณให้ โปรแกรมโหราศาสตร์ชั้นนำหลายโปรแกรมจะมีฟังก์ชั่น Planetary Hours ให้ เช่น โปรแกรม Nova Chartwheel, Solar Fire ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีอีกโปรแกรมที่สร้างขึ้นมาสำหรับใช้งานระบบยามสากลโดยเฉพาะ เช่น Sundial Software แต่โปรแกรมที่ผมนิยมที่สุด เพราะเป็น Freeware ที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ นั่นคือ โปรแกรม ChronosXP ซึ่งสามารถดาวน์โหลดมาลงที่เครื่องคอมพิวเตอร์ได้ โดยโปรแกรมจะฝังตัวเองอยู่ที่ Startup Program และจะปรากฏสัญลักษณ์ดาวที่เป็นเจ้าของชั่วโมงนั้นๆที่มุมขวาล่างของ Desktop ทำให้สะดวกในการดูได้ตลอดเวลาที่เปิดคอมพิวเตอร์ และยังมีฟังก์ชั่นพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษได้อีกด้วย (ทุกท่านสามารถไปดาวน์โหลดได้ตาม weblink ด้านล่าง)

การนำไปใช้งาน

เมื่อเราทราบตารางการเปลี่ยนชั่วโมงยามในแต่ละวัน คราวนี้ก็มาถึงขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการนำไปประยุกต์ใช้งานจริง หลักการนำไปใช้เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน โดยเป็นการนำปรัชญาความหมายของดาวที่เป็นเจ้าของชั่วโมงนั้นๆในการเลือกเวลาให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่จะดำเนินการ ดังนี้

ชั่วโมงเสาร์ (Hour of Saturn)

ธรรมชาติของดาวเสาร์ คือ ความจริงจัง กฎระเบียบ ความนาน ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับงานที่ต้องการการจัดการอย่างเป็นระเบียบ ต้องการความจริงจัง มีวินัยและความรับผิดชอบ งานที่ต้องการ เช่น การจัดเก็บเอกสารที่ระเกะระกะให้เป็นระเบียบ, การเริ่มต้นเลิกบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ งานที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ก็มีความหมายสอดคล้องกับดาวเสาร์เช่นกัน ทำให้บางท่านใช้ชั่วโมงเสาร์ในการเซ็นสัญญาซื้อขายบ้านที่ดิน แต่สำหรับเรื่องอื่นๆแล้ว ไม่ควรที่จะเซ็นสัญญาในชั่วโมงเสาร์ เพราะอาจส่งผลให้งานมีอุปสรรคได้

ชั่วโมงพฤหัส (Hour of Jupiter)

เหมาะสมสำหรับงานที่ต้องการความสำเร็จ มีการขยายตัว โดยทั่วไปแล้วชั่วโมงพฤหัสจะเป็นชั่วโมงที่ดี เหมาะสำหรับการเริ่มโครงการ เปิดบริษัท หรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น แต่ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกันเพราะข้อเสียของดาวพฤหัสคือการขยายตัวจนอาจเกินความต้องการ จึงไม่เหมาะกับกิจกรรมบางอย่าง เช่น หากเริ่มต้นลดน้ำหนักในชั่วโมงนี้ มักจะไม่ได้ผล เพราะมักจะลดอาหารไม่ได้ เป็นต้น

ชั่วโมงอังคาร (Hour of Mars)

เหมาะสำหรับทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง ออกเหงื่อ อาศัยความเข้มแข็ง กล้าหาญ เช่น การออกกำลังกาย กิจกรรมกลางแจ้ง อย่างไรก็ตาม ในชั่วโมงอังคารจะต้องระมัดระวังการติดต่อประสานงาน เพราะอังคารหมายถึงการเผชิญหน้า และอาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งได้

ชั่วโมงอาทิตย์ (Hour of Sun)

ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลและเป็นแหล่งพลังงานของโลก ดังนั้น ในทางโหราศาสตร์ อาทิตย์จะหมายถึง ความเป็นผู้นำ ความโดดเด่น เป็นที่รักใคร่ของผู้อื่น ดังนั้น ชั่วโมงอาทิตย์จึงเหมาะสำหรับดำเนินการเกี่ยวกับหน้าที่การงานให้ประสบความสำเร็จ การจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง การนำเสนองาน การพูดในที่สาธารณะ การเข้าพบบุคคลที่มียศมีตำแหน่ง รวมไปถึงการเก็งกำไรและการลงทุนอีกด้วย

ชั่วโมงศุกร์ (Hour of Venus)

เหมาะสำหรับงานสังคม งานเกี่ยวกับความบันเทิง ศิลปะ ความงาม ความรัก สร้างความสมานฉันท์ การแก้ไขข้อขัดแย้ง รวมถึงการพักผ่อนด้วย ดังนั้น หากจะบอกรักใคร ก็ควรที่จะบอกในชั่วโมงนี้ แต่ไม่ควรไปบอกในชั่วโมงเสาร์ เพราะความรักอาจจะต้องถึงคราวยุติลงก็ได้ นอกจากนี้ ชั่วโมงศุกร์ยังเหมาะสำหรับการตัดผมเสริมสวยและกิจกรรมเสริมความงามทั้งหลายอีกด้วย

ชั่วโมงพุธ (Hour of Mercury)

ในทางโหราศาสตร์ ดาวพุธเป็นดาวแห่งการติดต่อสื่อสาร การใช้ความคิด การพูดคุยเจรจาแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ดังนั้น ชั่วโมงพุธจึงเหมาะสำหรับการใช้ความคิดอย่างมีเหตุมีผล การศึกษา การสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็น การลงนามในเอกสารสำคัญ การติดต่อสื่อสาร การโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การแก้ไขปัญหาเครื่องคอมพิวเตอร์ และการส่ง E-mail สำคัญๆอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากดาวพุธมีการโคจรถอยหลังอยู่บ่อยครั้ง ในช่วงนั้นจะส่งผลให้การติดต่อสื่อสารมักจะมีปัญหาหรือล่าช้า ดังนั้น ในช่วงดาวพุธโคจรถอยหลัง เราต้องระมัดระวังการติดต่อสื่อสาร หรือทำข้อตกลงใดๆ โดยควรมีการตรวจทานซ้ำให้มั่นใจว่าไม่ผิดพลาด

ชั่วโมงจันทร์ (Hour of Moon)

เหมาะสำหรับการกระทำการที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง งานที่ไม่ต้องการความยั่งยืนถาวร ไม่ผูกมัด งานที่ใช้สัญชาตญาณหรือจินตนาการ งานที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง งานเกี่ยวกับเรื่องราวในบ้านและครอบครัว เช่น ออกไปซื้อของเพื่อนำมาตกแต่งบ้าน, ทดลองทำอาหารสูตรใหม่เพื่อทานกับครอบครัว

ตัวอย่างการใช้งาน

เพื่อเป็นตัวอย่างการประยุกต์นำความรู้เรื่องนี้ไปใช้งานในชีวิตประจำวัน ผมขอยกตัวอย่างวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2550 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวันครบรอบการเปิดเว็บไซต์ Horauranian.com พอดี และได้คำนวณชั่วโมงยามไว้เรียบร้อยแล้วในหัวข้อ วิธีการคำนวณ

หากเราต้องการจะไปตัดผมเพื่อให้ออกมาดูดี เราก็ควรที่จะเลือกไปหาช่างตัดผมในชั่วโมงของดาวศุกร์ ซึ่งในเวลากลางวันจะมี 2 ช่วงคือ เวลา 10:09-11:06 น. และเวลา 16:50-17:47 น. สมมุติว่าเราเลือกช่วงเวลา 5 โมงเย็น เราก็อาจจะโทรไปนัดช่างผมก่อนเพื่อความแน่นอน แล้วไปถึงที่ร้านช้ากว่าเวลาฤกษ์สัก 5-10 นาทีเผื่อนาฬิกาเราเดินไม่ตรง (ตำราโบราณบางเล่มให้ทำการหลังเริ่มชั่วโมงยามนั้นไปแล้วประมาณ 15 นาที เผื่อความผิดพลาดของการคำนวณและนาฬิกา เนื่องจากยังไม่มีคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้การคำนวณเที่ยงตรงได้)

อีกตัวอย่างหนึ่ง หากเราคิดว่าจะโทรไปบอกยกเลิกบัตรเครดิตที่มีอยู่หลายใบเหลือเกิน (ส่งผลให้เราใช้จ่ายเกินกว่าที่ควรจะเป็น) และเกรงว่าทาง Call Center ของบัตรเครดิตจะยื่นข้อเสนอดีๆให้เราจนเราอาจใจอ่อนไม่ยกเลิก เราก็ควรจะเลือกชั่วโมงเสาร์ เพราะจะทำให้เราหนักแน่น ตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งในวันที่ 10 พ.ย. 50 ก็จะมีชั่วโมงเสาร์อยู่หลายรอบ เราก็อาจจะเลือกชั่วโมงเสาร์ในเวลา 13:01-13:58 น. เพราะไม่เช้า ไม่ค่ำจนเกินไป

ยามสากล vs ยามอัฏฐกาล

ในโหราศาสตร์ไทย มีระบบยามที่เรียกว่า “ยามอัฏฐกาล” ซึ่งเป็นคัมภีร์เก่าแก่ใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่โบราณ ส่วนใหญ่นิยมเอามาใช้ในการทายของหาย ข่าวคราว หรือการเจ็บไข้ ซึ่งเป็นลักษณะของกาลชะตา (Horary) คือใช้เวลาขณะที่คนมาหาเป็นตัวตั้งในการพยากรณ์โดยไม่ต้องคำนวณดวงชะตาของผู้มาดูเลย อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ก็มีให้ดูประกอบการให้ฤกษ์ยามเช่นกัน แต่เท่าที่ผมสังเกตพบว่าไม่ค่อยได้รับความนิยมในการให้ฤกษ์ยามเท่าไรนัก ตรงนี้แตกต่างกับยามสากลที่คนมักนิยมใช้ในการกำหนดฤกษ์ยามง่ายๆมากกว่าใช้พยากรณ์กาลชะตา

คำว่า “อัฏฐ” แปลว่า แปด ดังนั้น ยามอัฏฐกาลคือการแบ่งเวลากลางวันหรือกลางคืนออกเป็น 8 ช่วงเท่าๆกัน ดังนั้น แต่ละช่วงจะมีความนานเท่ากับ 1 ชั่วโมง 30 นาที (มาจากนำ 12 ชั่วโมงตั้งหารด้วย 8) ระบบยามอัฏฐกาลของไทยเรานี้ไม่ต้องคำนวณเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตก แต่จะใช้เวลา 6:00 น.เป็นเวลาเริ่มต้นยามกลางวัน และ 18:00 น. เป็นเวลาเริ่มต้นยามกลางคืน เหตุผลที่ทำเช่นนี้ได้ ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรทำให้เวลาดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตกจะอยู่ประมาณ 6 โมงเช้าหรือ 6 โมงเย็นไม่แตกต่างมากนัก โหราจารย์ของไทยในอดีตจึงใช้เวลาประมาณไปเลย ซึ่งทำให้สะดวกอย่างมากในการนำไปพยากรณ์

ระบบยามอัฏฐกาลจะเริ่มยามแรกของวันด้วยดาวประจำวันนั้นๆ เมื่อนับไปแปดลำดับก็ครบยามกลางวัน และเริ่มต้นยามกลางคืนด้วยดาวประจำวันนั้นๆอีกที ซึ่งไม่เหมือนกับยามสากลที่นับต่อเนื่องกันไปเลย นอกจากนั้นชื่อยามของดาวเคราะห์เดียวกันสำหรับยามกลางวันกับยามกลางคืนจะไม่เหมือนกัน เช่น อาทิตย์ ยามกลางวันเรียกว่า สุริชะ ยามกลางคืนเรียกว่า รวิ, จันทร์ ยามกลางวันเรียกว่าจันเทา ยามกลางคืนเรียกว่าศศิ เป็นต้น ลำดับของยามอัฏฐกาลสามารถสรุปได้ดังตารางด้านล่าง

 

จากตารางที่แสดง เราจะพบว่า ลำดับของยามกลางวันของยามอัฏฐกาลเป็นไปตามลำดับคาลเดียน (Chaldean Order) เช่นเดียวกับยามสากล นั่นคือ เสาร์ (๗) พฤหัส (๕) อังคาร (๓) อาทิตย์ (๑) ศุกร์ (๖) พุธ (๔) และจันทร์ (๒) แต่ลำดับยามอัฏฐกาลภาคกลางคืนจะเป็นการนับถอยหลังข้ามไป 1 ลำดับ นั่นคือ เสาร์ (๗) พุธ (๔) อาทิตย์ (๑) พฤหัส (๕) จันทร์ (๒) ศุกร์ (๖) และอังคาร (๓) จากจุดนี้เองทำให้ผมเชื่อว่าต้นกำเนิดของยามอัฏฐกาลของไทยเราก็น่าจะมาจากเมโสโปเตเมียเช่นกัน เพียงแต่โหรโบราณท่านได้นำมาปรับแก้เพิ่มเติมจนพัฒนากลายมาเป็นยามอัฏฐกาลดังที่เห็น

สรุป

หลักการเรื่อง ยามสากล นี้ถือว่าเป็นเทคนิคทางโหราศาสตร์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี แม้ว่าการคำนวณชั่วโมงยามในแต่ละวันอาจจะดูยุ่งยาก แต่ยุคสมัยนี้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ช่วยลดเวลาและความยุ่งยากจากการคำนวณได้ ทำให้ภาระที่เหลือสำหรับผู้ที่ต้องการกำหนดฤกษ์มงคลอย่างง่ายก็เหลือเพียงแต่การแปลความหมายของดาวประจำชั่วโมงนั้นๆให้สอดคล้องกับกิจการงานที่เราจะดำเนินการเท่านั้น ซึ่งบทความนี้ก็ได้ให้กรอบแนวคิดกว้างๆไว้เป็นแนวทางแล้ว จึงอยากเชิญชวนให้ผู้สนใจที่จะเลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเองทดลองนำไปใช้งานเพื่อให้เกิดความเป็นมงคลในชีวิตของท่านเอง

เอกสารอ้างอิง

1. http://chronosxp.sourceforge.net/en/, โปรแกรม Planetary Hours ที่เป็น Freeware
2. Maria Kay Simms, “A Time for Magick”,
3. Christopher Warnock, Esq., “Planetary Hours & Days”.
4. Arlene Kramer, “Planetary Hours”.
5. พลูหลวง, “ยามอัฏฐกาลแบบง่ายๆ”, เกษมบรรณกิจ.
6. พลูหลวง, “การให้ฤกษ์ฉบับง่าย”, เกษมบรรณกิจ.




เจาะลึกโหรา

ธาตุทั้งสี่ และการนำไปใช้เชิงจิตวิทยา
ไฟ ดิน ลม น้ำ ปฐมบทของโหราศาสตร์
ดวงจีโอเดติก ดาวพลูโต และวงรอบเสียกรุง 2310
โหราศาสตร์กับเงินตราสกุลหลักของโลก article
คัมภีร์เตตราบิโบลส ต้นธารของโหราศาสตร์ไทยและยูเรเนียน? article
บ้านเหนือ บ้านใต้ ตอนจบ article
บ้านเหนือ บ้านใต้ ตอน 1 article
เรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน article
การกลับมาของเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Return of Great Depression?) article
พลูโตในยุคสมัยต่างๆ article
เรือนชะตา 24 ระบบ article
โหราศาสตร์ธุรกิจ: กรณีศึกษาอัตราเงินเฟ้อและตลาดหลักทรัพย์ไทย article
ข่าวล่า เกี่ยวกับการประชุมโหราศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ article
การประชุมทางวิชาการโหราศาสตร์ระหว่างชาติประจำปี ๒๕๑๘ article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 4: เซอุส article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 3: ฮาเดส article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 2: คิวปิโด article
รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 1: ที่มาของดาวทิพย์ article
ความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอนจบ article
ความเป็นมาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 1 article
Daylight Saving Time หรือ Summer Time ปัญหากวนใจของนักพยากรณ์ article
คอมพิวเตอร์ในวงการโหราศาสตร์ article
วิวัฒนาการ ของ โหราศาสตร์ article
โหราศาสตร์ กับที่มาของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์ article
จารึกมรกต : ที่มาของ ปรัชญามูลฐาน แห่ง โหราศาสตร์ article



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
eXTReMe Tracker