โดย Pallas
14 ธันวาคม 2550
ฮาเดส (Hades)
ดาวทิพย์ดวงที่สองที่ท่านอัลเฟรด วิตเตอค้นพบ คือ ดาวฮาเดส (Hades) คำว่า Hades นี้ ถ้าออกเสียงตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษ จะออกเสียงว่า เฮดีส อย่างไรก็ตาม ในวงการโหราศาสตร์ยูเรเนียนเมืองไทยนิยมเรียกว่า ฮาเดส มากกว่า ดาวทิพย์ดวงนี้เป็นดาวที่หลายๆท่านไม่สู้จะชอบใจเท่าไหร่ เนื่องจากมีความหมายในเชิงของทุกขเวทนา ความขาดแคลน ความต้อยต่ำ อย่างไรก็ตาม ดาวทุกดวงมีทั้งด้านดีและด้านร้าย ดังนั้น ไม่ใช่ว่าคนที่มีดาวฮาเดสสัมพันธ์กับจุดเจ้าชะตาจะแปลว่าเป็นคนจนหรือคนเก็บขยะไปเสียหมด บ่อยครั้งจะพบในอาชีพแพทย์ พยาบาล หรือแม้แต่วิศวกรสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineer)
ท่านวิตเตอ ได้จัดให้ดาวฮาเดสเป็นดาวเกษตรประจำราศีกันย์ แต่ท่านแฮร์มันน์ เลเฟลด์ท เห็นว่า ควรให้เป็นเกษตรราศีมีนร่วมกับเนปจูนมากกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องดาวเกษตรที่นำมาแสดงไว้ตรงนี้เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงมากกว่าที่จะให้นำไปใช้งานจริง เพราะโหราศาสตร์ยูเรเนียนไม่นิยมใช้ดาวเกษตรในการพยากรณ์
อัตราการโคจร
จากการคำนวณของท่านอัลเฟรด วิตเตอ ท่านพบว่า ระยะทางโดยเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ถึงดาวคิวปิโด เท่ากับ 50.667 AU (Astronomical Unit หรือหน่วยดาราศาสตร์) ต่อมาเมื่อเจมส์ นีลีย์ได้ทบทวนการคำนวณปฏิทินดาวทิพย์ก็ยังคงยืนยันอัตราโคจรตามที่ท่านวิตเตอคำนวณไว้
สำหรับระยะเวลาโคจรรอบจักรราศีนั้น ท่านวิตเตอคำนวณไว้เท่ากับ 360.66 ปี ส่วนเจมส์ นีลีย์ปรับแก้เป็น 360.656 ปี หรืออาจจะประมาณได้ว่า ดาวฮาเดสโคจรผ่านแต่ละราศีจะใช้เวลาประมาณ 30 ปี หรือคิดเป็นอัตราโคจรประมาณปีละ 1 องศา
ตำนานเทพกรีก-โรมัน
ฮาเดส (Hades) คือชื่อกรีกของเทพเจ้าแห่งยมโลก มีชื่อในภาษาโรมันว่า พลูโต (Pluto) ซึ่งชื่อดาวพลูโตนี้เป็นชื่อของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะ (ปัจจุบัน ทางสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ลงมติลดชั้นดาวพลูโตจากดวงเคราะห์เป็นดาวเคราะห์แคระแล้วเมื่อปี พ.ศ.2549) ส่วนชื่อฮาเดสนั้น ท่านวิตเตอได้นำมาใช้เป็นชื่อดาวทิพย์ที่ท่านค้นพบจากการคำนวณ และน่าจะตั้งขึ้นก่อนดาวพลูโต เนื่องจากดาวพลูโตถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1930 ภายหลังจากที่ท่านวิตเตอได้ค้นพบดาวทิพย์ 4 ดวงแรกเรียบร้อยแล้ว
เนื่องจากดาวทั้งสองดวงมีชื่อจากเทพเจ้าองค์เดียวกัน ตำนานเทพกรีก-โรมันจึงไม่แตกต่างกัน ทำให้ความหมายในทางโหราศาสตร์ของดาวทั้ง 2 ดวงนี้มีความคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน ดาวพลูโตมีความหมายเกี่ยวกับพัฒนาการ การเปลี่ยนรูป การเกิดใหม่ ซึ่งมาจากการที่เทพพลูโตเป็นเจ้าแห่งยมโลก เมื่อคนเราตายไปก็จะลงไปยังยมโลกเพื่อรับคำตัดสินที่จะถูกลงโทษในขุมนรกหรือได้รับรางวัลด้วยการส่งไปยังทุ่งอิลิเซียม (Elysium Field สวรรค์ของชาวกรีกโบราณ) การกลายสภาพจากมนุษย์บนพื้นโลกไปสู่ยมโลกก็สะท้อนถึงการเกิดใหม่หรือการเปลี่ยนรูป หรือถ้าจะเรียกว่าพัฒนาการก็ได้เช่นกัน ส่วนดาวฮาเดสจะเน้นความหมายถึงสภาพทุกขเวทนาในยมโลกมากกว่า ตำนานเทพเจ้ากรีกที่จะเล่าในบทความนี้ต่อไป จะเล่าเฉพาะส่วนที่สะท้อนความหมายของดาวฮาเดสเป็นสำคัญ
เทพฮาเดสเป็นโอรสของเทพโครนัส (Cronus) และเทพีรีอา (Rhea) เป็นพี่น้องร่วมท้องกับ เทพโพไซดอน (Poseidon), เทพีเฮสเทีย (Hestia), เทพีดิมีเตอร์ (Demeter), เทพีฮีรา (Hera) และมหาเทพซุส (Zeus) เมื่อมหาเทพซุสโค่นเทพโครนัสบิดาของตนลงจากบัลลังก์แล้ว เทพซุสได้แต่งตั้งเทพโพไซดอนปกครองมหาสมุทรและแม่น้ำทั้งปวง และให้เทพฮาเดสปกครองดินแดนใต้โลกหรือยมโลกนั่นเอง
อาณาจักรยมโลกของฮาเดสนั้นเป็นดินแดนเร้นลับ อยู่ภายใต้พื้นโลกที่แสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง คำว่า ฮาเดส เป็นภาษากรีกโบราณแปลว่า มองไม่เห็น ดังนั้น ความหมายหนึ่งของดาวทิพย์ดวงนี้คือ ความเร้นลับ ลักษณะของยมโลกในตำนานของทุกชาติมีความคล้ายคลึงกันตรงเป็นสถานที่ที่ไม่มีใครอยากไปเยี่ยมชม ผู้ถูกลงทัณฑ์อยู่ในยมโลกก็อยู่ในสภาพถูกทรมาน เจ็บป่วย เต็มไปด้วยทุกขเวทนา ซึ่งก็สะท้อนความหมายของดาวฮาเดสเช่นกัน
ครั้งหนึ่งเมื่อเทพฮาเดสได้เสด็จขึ้นมาบนพื้นโลก ได้พบกับเทพีเปอร์เซโฟนี (Persephone) เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ และเป็นธิดาของเทพีดิมีเตอร์ เทพีแห่งธัญญาหาร หรือพระแม่โพสพ กับมหาเทพซุส หรือเป็นหลานของเทพฮาเดสเอง อย่างไรก็ตาม เทพฮาเดสหลงรักเทพีเปอร์เซโฟนีทันที และฉุดคร่าลงไปสู่ดินแดนใต้พิภพเพื่อครองคู่ด้วยความไม่เต็มใจของนาง
เมื่อเทพีดิมีเตอร์ทราบว่าธิดาของตนถูกลักพาตัวก็ร้องเรียนต่อมหาเทพซุสให้ช่วยนำธิดาของเธอคืนมา มหาเทพจึงส่งเทพเฮอร์มีส (Hermes) เป็นทูตไปเจรจากับเทพฮาเดส การเจรจาคราวนั้นมีเงื่อนไขว่า ถ้าเทพีเปอร์เซโฟนีไม่ได้เสวยอะไรในยมโลก เทพฮาเดสต้องส่งนางคืนเทพีดิมีเตอร์โดยเด็ดขาด แต่หากเทพีเปอร์เซโฟนีเสวยของในยมโลก เทพฮาเดสก็จะมีสิทธิในตัวพระนาง ปรากฏว่าเทพีเปอร์เซโฟนีได้เสวยเมล็ดผลทับทิมไป 6 เม็ด จึงตกลงกันว่า แต่ละปี เทพีเปอร์เซโฟนีจะกลับขึ้นมาอยู่กับพระมารดาบนพื้นโลก 6 เดือน และต้องกลับไปอยู่กับเทพฮาเดสในยมโลกอีก 6 เดือน ช่วงที่เทพีเปอร์เซโฟนีขึ้นมาอยู่บนพื้นโลกนั้น เทพีดิมีเตอร์มีความยินดีอย่างยิ่ง ทำให้แผ่นดินและพืชคืนสู่ความเขียวขจีเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน และเมื่อเทพีเปอร์เซโฟนีต้องกลับไปอยู่ยังยมโลก พืชพรรณและแผ่นดินที่เขียวขจีจะกลายเป็นอับเฉา เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว การที่เทพฮาเดสได้อยู่ร่วมกับมเหสีของเธอเพียง 6 เดือนในแต่ละปีนั้น ก็สะท้อนความหมายหนึ่งของดาวฮาเดส นั่นคือ ความเปล่าเปลี่ยว ความเป็นหม้าย อีกด้วย
อีกตำนานหนึ่งที่แม้ไม่ใช่เรื่องของเทพฮาเดสโดยตรง แต่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความหมายของดาวทิพย์ดวงนี้เช่นกัน โดยเป็นตำนานต่อมาจากเรื่องราวของเทพคิวปิดกับนางไซคี (อ่านตอนต้นของเรื่องนี้ได้ในบทความ รู้จักดาวทิพย์ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน ตอน 2: คิวปิโด) หลังจากที่นางไซคีลอบจุดตะเกียงเพื่อมองเห็นตัวเทพคิวปิด ซึ่งเป็นการละเมิดคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ทำให้เทพคิวปิดหนีจากเธอไป นางไซคีก็เที่ยวติดตามค้นหาสามีของเธอไปตามที่ต่างๆ ผ่านภารกิจหลายอย่าง จนไปวิงวอนขอความกรุณาจากเทพีวีนัสให้ช่วยเหลือเธอ เทพีวีนัสที่ยังคงริษยาในความงามของไซคีจึงหาวิธีกลั่นแกล้งนางด้วยการให้ไปทำภารกิจซึ่งยากที่มนุษย์ปุถุชนจะทำได้ แต่ด้วยความช่วยเหลืออย่างลับๆของคิวปิด เธอก็สามารถปฏิบัติได้ จนเทพีวีนัสต้องคิดแผนการร้ายอย่างสุดท้าย โดยให้ไซคีเดินทางไปยังยมโลกดินแดงแห่งเทพฮาเดส ไปเฝ้าเทพีเปอร์เซโฟนีเพื่อขอเครื่องประกอบความงามมาบรรจุในผอบทองคำ นางไซคีก็สามารถดำเนินการตามคำสั่งของเทพีวีนัสได้ด้วยความช่วยเหลืออย่างลับๆของเทพคิวปิดเช่นเคย จนได้รับมอบผอบทองคำจากเทพีเปอร์เซโฟนี ซึ่งย้ำเตือนไซคีว่า ห้ามเปิดดูผอบเป็นอันขาด อย่างไรก็ตาม ไซคีไม่สามารถอดใจได้ เพราะคิดว่าเครื่องประกอบความงามนั้นจะทำให้เธองดงามกว่าเดิม เพื่อว่าสามีของเธอจะเกิดความยินดีเมื่อได้พบหน้าเธออีกครั้ง เมื่อเปิดผอบขึ้น เธอก็ล้มสลบลงทันที เพราะเครื่องประกอบความงามที่อยู่ในผอบก็คือเวทมนตร์แห่งความหลับใหลในยมโลก (ตรงนี้เป็นการบอกว่าเคล็ดลับรักษาความงามก็คือการได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอนั่นเอง)
เมื่อนางไซคีสลบไปดังกล่าว เทพคิวปิดที่เฝ้ามองอยู่ก็รีบเข้ามาช่วยเหลือนำเวทมนตร์แห่งความหลับใหลนั่นเก็บใส่ผอบอย่างเดิม และปลุกไซคีให้ฟื้นขึ้น และชี้ให้ไซคีเห็นโทษของความอยากรู้อยากเห็นที่เกิดขึ้นกับนางถึงสองครั้งแล้ว จากนั้นคิวปิดได้ทูลขอมหาเทพซุสช่วยเกลี้ยกล่อมให้เทพีวีนัสยกโทษให้ไซคีและบันดาลให้นางไซคีได้ความเป็นอมตะเช่นเหล่าทวยเทพทั้งหลาย ตั้งแต่นั้นเทพคิวปิดและนางไซคีจึงได้ครองคู่อย่างเป็นสุขเป็นต้นมา
เรื่องของนางไซคีนี้ เป็นการอธิบายลักษณะของอิทธิพลของดาวฮาเดส นั่นคือ ขณะที่ดาวฮาเดสแสดงอิทธิพลในด้านร้าย ทำให้คนเกิดทุกขเวทนาอยู่นั้น ท้ายที่สุดแล้วเราก็ได้เรียนรู้จากประสบการณ์อันโหดร้ายดังกล่าวและนำไปสู่หนทางแก้ปัญหาและความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้น การหลับของนางไซคีก่อนที่จะตื่นขึ้นมาพบกับความสุขนั้น ก็คล้ายกับประโยคของนักปราชญ์สำนักปีธาโกรัสที่กล่าวไว้ว่า วิญญาณจะฟื้นตื่นขึ้นในร่างกายที่หลับใหล ในช่วงที่ดาวฮาเดสกำลังแสดงผลอยู่นั้น เราอาจพบทางออกจากความฝันก็เป็นได้
ความหมายจากสัญลักษณ์ดาว

สัญลักษณ์ของฮาเดส ประกอบด้วย พระจันทร์เสี้ยวข้างแรม และกางเขน (Cross) จันทร์เสี้ยวหมายถึงการรับรู้ จิตสำนึก การอยู่ในสถานะข้างแรมหมายถึงการถดถอย การเสื่อมลง เมื่อรวมกับกางเขนที่หมายถึงความเป็นจริงของชีวิต ก็จะมีความหมายโดยรวมคือ การรับรู้เรื่องราวในโลกแห่งความเป็นจริงที่กำลังอยู่ในภาวะเสื่อมลง
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า สัญลักษณ์ของฮาเดสจะคล้ายกับสัญลักษณ์ของดาวพฤหัส ที่ประกอบด้วยพระจันทร์เสี้ยวกับกางเขนเช่นเดียวกัน แต่สัญลักษณ์ของพฤหัสนั้นเป็นพระจันทร์เสี้ยวข้างขึ้น จึงหมายถึงการรับรู้เรื่องราวที่กำลังอยู่ในภาวะขยายตัวนั่นเอง
ความหมายโดยย่อ
ความเปล่าเปลี่ยว, ความขาดแคลน, ความสกปรก ความยากจน, ความไม่ราบรื่น ขยะมูลฝอย ความเจ็บป่วยชนิดเรื้อรังหรืออยู่ในสภาพที่ไม่ปกติหรือยุ่งยาก เหตุการณ์ที่สร้างความระทมขมขื่น พ่อหม้าย ความลับ ความเก่าแก่
คำอธิบาย
โดยทั่วไป ดาวฮาเดสจะมีความหมายในแง่ร้าย เพราะกล่าวถึงทุกขเวทนา ความขาดแคลน ความต้อยต่ำ ในทางพระพุทธศาสนามีหลักคำสอนเรื่อง ไตรลักษณ์ หรือลักษณะโดยธรรมชาติ 3 ประการของสรรพสิ่งทั้งหลาย นั่นคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดาวฮาเดสจะตรงกับลักษณะของทุกข์นั่นเอง ความหมายของคำว่าทุกข์ในไตรลักษณ์นั้นสามารถแปลตรงตัวได้ว่า สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไป และไม่จำกัดอยู่แต่สภาพที่เกิดขึ้นกับมนุษย์หรือสัตว์เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีชีวิตและไม่มีชิวิตด้วย ที่ต่างก็มีลักษณะร่วมกันคือ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่อาจที่จะทนตั้งอยู่ในสภาพนั้น ๆได้ตลอดไป ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นเด็กจะให้ทรงสภาพเป็นเด็กเช่นนั้นตลอดไปหาได้ไม่ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนหนุ่มและสาวแล้วก็เฒ่าแก่ จนในที่สุดก็ต้องตายไป ฮาเดสก็เช่นกันโดยมีความหมายในเชิงของสภาวะที่เสื่อมถอยลงไป ดังนั้นการจะก้าวพ้นปัญหาแบบฮาเดสนั้น สามารถนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ได้เลย คือต้องรู้เท่าทันความจริงว่าสิ่งทั้งหลายย่อมเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจนเกิดความทุกข์ขึ้นมา เรียนรู้ที่จะอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติด้วยปัญญานั่นเอง
การที่ฮาเดสบอกถึงสภาพทุกขเวทนาหรือการด้อยความสามารถนั้น ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ก็มักจะมีดาวฮาเดสสัมพันธ์ถึงจุดเจ้าชะตาด้วย เช่น แพทย์ พยาบาล ครู เป็นต้น สูตรพระเคราะห์สนธิ ลัคนา + ฮาเดส แปลว่า ผู้อื่นไม่สามารถ ก็มีความหมายย้อนกลับว่า เจ้าชะตามีความสามารถเหนือผู้อื่น เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ฮาเดสยังมีความหมายเกี่ยวกับความเก่าแก่ ความเร้นลับ จึงหมายถึงประวัติศาสตร์ โบราณคดี และโหราศาสตร์ รวมไปถึงการค้าของเก่าอีกด้วย
จะเห็นว่าหากเราสามารถนำความหมายของฮาเดสมาใช้ในทางสร้างสรรค์ ย่อมทำให้เกิดความหมายที่ดีจำนวนมาก เช่น ฮาเดส + อาพอลลอน หมายถึง การค้าเศษขยะหรือของทิ้งแล้ว เช่นการรีไซเคิล หรืออาจหมายถึงการค้าโบราณวัตถุก็ได้, ฮาเดส+โครโนส หมายถึง ตำรวจสันติบาล ก็ได้ ฯลฯ ดังนั้น หากพบว่าดาวฮาเดสสัมพันธ์ถึงจุดเจ้าชะตาก็อย่าเพิ่งไปทายว่าเจ้าชะตาจะยากจนข้นแค้นทันที ให้ดูภาพรวมของดวงชะตาก่อน แล้วดูว่าฮาเดสนั้นให้อิทธิพลไปทิศทางใด จึงพยากรณ์ออกไป
การสำแดงผล
ลักษณะที่ตรงกันข้ามกับฮาเดสคือ โครโนส ดาวทั้งสองดวงนี้ไม่ได้แสดงผลในเชิงทิศทางด้านใน-ด้านนอกเหมือนกับคู่ของศุกร์-คิวปิโด แต่จะแสดงผลในลักษณะเบื้องต่ำ (ฮาเดส) กับเบื้องสูง (โครโนส), ต่ำต้อยกับสูงส่ง, ความมัวหมองกับความเด่น, ด้อยความสามารถกับมีความสามารถ
อาจารย์ประยูรได้เขียนไว้ว่า อาทิตย์หรือเมอริเดียนกับฮาเดส คือเสียงที่ 1 ของชีวิต คู่กับ อาทิตย์หรือเมอริเดียนกับโครโนส เป็นกุญแจสำคัญในการวินิจฉัยถึง ความสูงส่ง ของโชคชะตาของบุคคลว่าเขาจะมีชีวิตพุ่งไปสู่ความสูงส่งหรือจะดิ่งลงสู่นรกทั้งๆที่โครงสร้างอื่นๆนั้นอะไรๆก็ดีหมด ผู้ใดทราบความหมายและเข้าใจได้ถูกต้อง ผู้นั้นเป็นผู้รู้จริง และมีความสามารถที่จะวินิจฉัยดวงชะตา โดยโหราศาสตร์ระบบใดๆก็ตามไม่มีทางเทียบติดได้เลย
ความหมายในมิติเวลา (กาละ หรือ Time)
ดาวฮาเดสเป็นหนึ่งในดวงเคราะห์ทั้ง 4 แห่งเวลานั้น อาจารย์ประยูรได้เขียนไว้ว่า ฮาเดส คือ พลังงานการทำลาย ของอดีต ซึ่งต่างจากพลูโตที่เป็นพลังงานการสร้างของอดีต จะเห็นว่า ทั้งฮาเดสและพลูโตมีความหมายในมิติของเวลาคือ อดีต แต่ฮาเดสให้ความหมายของการทำลายหรือด้านลบ ส่วนพลูโตให้ความหมายของการสร้างหรือด้านบวก โดยชื่อของทั้งคู่ต่างก็มาจากเทพเจ้าองค์เดียวกันนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
1. พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, มูลนิธิพุทธรรม, 2541.
2. พล.ต. ประยูร พลอารีย์, คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ, โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ.
3. มาลัย (จุฑารัตน์), ตำนานกรีก-โรมัน (ฉบับสมบูรณ์), สำนักพิมพ์พิมพ์คำ, 2548.
4. Ruth Brummund and Udo Rudolph, Handbook of Techniques for the Hamburg School, Witte-Verlag, 1992.
5. Penelope Bertucelli, Uranian Astrology Manual : Cosmobiology Conference August 17-20, Penelope Publications, 1995.
6. L Blake Finley, Astronomical Data for the Transneptunian factors of Alfred Witte and Friedrich Sieggrün, The Uranian Institute, March 2007
7. http://en.wikipedia.org/wiki/Main_Page
8. http://www.astrologic.de