ReadyPlanet.com
dot
dot dot
dot
เกี่ยวกับเรา Horauranian.com
dot
bulletรำลึกถึง อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์
bulletเจตนารมณ์
bulletติดต่อเรา
bulletโหราพยากรณ์
dot
บทความ
dot
bulletเกร็ดโหรน่ารู้
bulletเจาะลึกโหรา
bulletโหราศาสตร์บ้านเมือง
bulletBlog อ.วิโรจน์
bulletแนะนำตำรา
bulletไพ่ยิปซี จักรราศี (Celestial Tarot)
bulletกระดานถามตอบ
bulletคลังบทความดวงเมืองเศรษฐกิจ 2550-2552
bulletคลังกระทู้โหราศาสตร์ที่น่าสนใจ
dot
บทความน่าสนใจ
dot
bulletประเทศไทยหลังคดียึดทรัพย์ 2553
bulletReturn of Great Depression?
bulletChange! ผู้นำยุคใหม่ของโลก
bulletเรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน
bulletโหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
bulletเลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง
bullet6 ขั้นตอนเพื่อการดูหมออย่างคุ้มค่า
bulletชนะใจคนรัก 12 ราศี
dot
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
dot
bulletเพจ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletCelestial Strategist Blog
bulletBlog โหราเศรษฐกิจ
bulletเว็บไซต์ที่น่าสนใจ




Horoscope Symbols article

แนะนำโดย Pallas
กุมภาพันธ์ 2551

          จากประสบการณ์ส่วนตัวในการศึกษาค้นคว้าตำราโหราศาสตร์ภาษาอังกฤษ ผมตั้งข้อสังเกตว่า ตำราโหราศาสตร์ฝั่งอเมริกันมักอยู่ในแนวทาง How to หรือการอธิบายเทคนิคทางโหราศาสตร์เพื่อนำไปใช้งานทันที มากกว่าจะเป็นการอธิบายปรัชญาหรือแนวคิดที่เป็นที่มาของเทคนิคนั้นๆ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะสังคมอเมริกันเป็นสังคมที่เน้นผลลัพธ์เป็นสำคัญ การค่อยๆอธิบายปรัชญาที่มาดูจะไม่ทันอกทันใจคนทั่วไปนัก ส่วนตำราแนวทาง How-to นี้มีข้อดีตรงที่ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้โดยเร็ว ดังเช่นตำรา Dial Detective ที่ผมเคยแนะนำไว้ อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยสำคัญของตำรา How to คือขาดความลึกของวิชา ทำให้การนำไปพลิกแพลงประยุกต์ใช้ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะผู้อ่านไม่ทราบปรัชญาที่มาของเทคนิคเหล่านั้น ตำราเล่มใดที่ผสมผสานทั้ง 2 ส่วนได้อย่างลงตัวก็จะทำให้เป็นตำราคลาสสิคได้ไม่ยากนัก คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิเป็นตัวอย่างตำราที่มีเนื้อหาทั้งสองส่วนอยู่ในเล่มเดียวกัน ทำให้กลายเป็นตำราคลาสสิคของโหราศาสตร์ยูเรเนียนเมืองไทย

          ตำราโหราศาสตร์ที่ผมจะแนะนำในครั้งนี้ เป็นตำราโหราศาสตร์จากฝั่งอเมริกา ที่เน้นหนักไปทางการอธิบายปรัชญาที่มาของสัญลักษณ์ที่ใช้งานในโหราศาสตร์ โดยไม่ได้กล่าวถึงเทคนิคการพยากรณ์เหมือนตำราโหราศาสตร์อเมริกันทั่วไป ผู้เขียนได้รวบรวมเนื้อหาจากโหราศาสตร์แนวคลาสสิค นำมาสังเคราะห์กับโหราศาสตร์ยุคใหม่ที่ได้พัฒนาในศตวรรษที่ 20 กลายเป็นตำราที่ถือว่าโดดเด่นในยุคปลายศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว ตำราเล่มนี้ชื่อว่า “Horoscope Symbols” แต่งโดย Robert Hand นักโหราศาสตร์ชั้นนำของโลกในยุคปัจจุบัน

          โรเบิร์ต แฮนด์ (Robert Hand) หรือร็อบ แฮนด์เริ่มศึกษาโหราศาสตร์มาตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี โดยเรียนการคำนวณดวงชะตาขั้นพื้นฐานจากพ่อของเขา วิลเฟรด แฮนด์ ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำโหราศาสตร์มาใช้พยากรณ์ตลาดหุ้น ร็อบจบปริญญาทางด้านประวัติศาสตร์ระดับเกียรตินิยมจาก Brandeis University และศึกษาต่อสาขาประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย พรินซตัน ร็อบเริ่มเรียนรู้โหราศาสตร์ตั้งแต่ปี 1972 และเมื่อเขามั่นใจว่ามีความเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ เขาก็ได้เดินทางไปทั่วโลกในฐานะ นักโหราศาสตร์อาชีพแบบเต็มเวลา (Full Time Professional Astrologer) ร็อบเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงโหราศาสตร์ เมื่อเขาเป็นนักโหราศาสตร์คนแรกๆที่เขียนโปรแกรมโหราศาสตร์สำหรับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ และก่อตั้ง Astro-Graphics Services หรือ ACS ในปี 1979 ซึ่งต่อมากลายเป็น Astrolabe, Inc. บริษัทผู้สร้างโปรแกรม Solar Fire และ Nova Chartwheel อันโด่งดัง เขาเคยดำรงตำแหน่งประธานของ National Council of Geocosmic Research (NCGR) ระหว่างปี 1990-1999 ซึ่งเป็นสมาคมโหราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเคยได้รับรางวัล Regulus ด้านการวิจัยและนวัตกรรมทางโหราศาสตร์ จากที่ประชุม United Astrology Congress ในปี 1989, รางวัล Southern Cross จาก Federation of Australian Astrologers, รางวัล Neil Michelsen Award จาก Global Research Forum และได้เป็นศาสตราจารย์อุปถัมภ์ (Patron) ของ Faculty of Astrological Studies in Great Britain เทคนิคทางโหราศาสตร์ที่ร็อบใช้นั้น ครอบคลุมทั้งโหราศาสตร์แบบสายนะ, Heliocentric, นิรายนะ, ยูเรเนียน, คอสโมไบโอโลจี รวมถึงเทคนิคในยุคโบราณและยุคกลาง ในปี 1997 ร็อบได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์, ห้องสมุดเพื่อศึกษามุ่งเน้นในเรื่องประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของโหราศาสตร์ ชื่อว่า ARHAT ผู้สนใจสามารถติดตามงานของเขาได้ที่ www.robhand.com งานเขียนของเขามีจุดเด่นอยู่ตรงที่ไม่ยึดติดกับสำนักใดสำนักหนึ่ง แต่เปิดกว้างกับความรู้ทุกสำนัก นำมาพิจารณาอย่างมีเหตุมีผล นำไปทดลองใช้ แล้วจึงนำมาสังเคราะห์แต่งเป็นหนังสือ เนื้อหาที่เขาเขียนเป็นการวิเคราะห์เจาะลึกไปถึงแก่นของหัวข้อที่เขานำเสนอ จนคนอ่านรับรู้ได้ว่า โหราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีการศึกษา วิจัย ค้นคว้า อย่างจริงจัง ไม่แพ้ศาสตร์ใดๆในโลกนี้ จนกล่าวได้ว่าโหราศาสตร์ได้ก้าวข้ามจากความงมงายลุ่มหลงในเรื่องเหนือธรรมชาติ มาสู่การศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผลยิ่งกว่าบางศาสตร์ในศึกษากันในมหาวิทยาลัยเสียอีก

          เนื้อหาของ Horoscope Symbols นั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 6 ภาค แต่ละภาคมีบทย่อยอีก 15 บท รวมทั้งหมด 362 หน้า ดังนี้

ภาคที่ 1: บทนำ (Introduction)

บทที่ 1: Horoscope: A Map of the Psyche (ดวงชะตา: แผนที่แห่งจิตวิญญาณ)

          บทที่ 1 ร็อบเริ่มต้นด้วยการปูพื้นฐานแนวคิดของเขาที่มีต่อโหราศาสตร์ ทั้งปรัชญาพื้นฐาน การนำไปใช้งาน ระดับการแสดงผลของโหราศาสตร์ และโหราศาสตร์กับศาสนา ผมอ่านบทนี้ครั้งแรกด้วยความประทับใจเพราะแนวคิดส่วนใหญ่ของร็อบค่อนข้างตรงกับแนวคิดของผม อย่างไรก็ตาม ด้วยสำนวนภาษาที่ร็อบใช้ ทำให้อ่านทำความเข้าใจค่อนข้างยาก ดังนั้น ผู้อ่านควรอ่านผ่านไปซักหนึ่งรอบ เพื่อทำความเข้าใจกับแนวคิดของร็อบอย่างคร่าวๆก่อนที่จะอ่านบทต่อไป มิฉะนั้น อาจทำให้งุนงงกับแนวทางการอธิบายเรื่องราวต่างๆของร็อบในบทต่อๆไป และผมแนะนำให้กลับมาอ่านบทนี้อีกครั้งหลังจากอ่านบทอื่นๆผ่านไป แล้วจะพบว่า เข้าใจมุมมองของเขามากยิ่งขึ้น

บทที่ 2: The Symbol: System of Astrology (สัญลักษณ์: ระบบของโหราศาสตร์)

          บทที่ 2 ร็อบได้ฉายภาพกว้างของโหราศาสตร์ว่า ประกอบจากสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งเขาได้แบ่งกลุ่มของสัญลักษณ์ที่ใช้ในดวงชะตาออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ และใช้เป็นโครงสร้างของหนังสือเล่มนี้เช่นกัน สัญลักษณ์ 4 กลุ่มนี้ ได้แก่

1. ปัจจัยในดวงชะตา ได้แก่ ดาวเคราะห์ จุดเจ้าชะตา (ลัคนา เมอริเดียน เวอร์เท็กซ์ อีสต์พอยท์ จุดเมษ ราหูจันทร์ ราหูดาวเคราะห์) และปัจจัยอื่นๆ (ดาวเคราะห์น้อย ดาวทิพย์ ดาวฤกษ์)

2. ความสัมพันธ์เชิงมุม คือ การทำมุมต่างๆของปัจจัยในดวงชะตา และโครงสร้างดาวเข้ารูปต่างๆ (ศูนย์รังสี พระเคราะห์สนธิ)

3. ตำแหน่งในจักรราศี คือการให้ความหมายของปัจจัยเมื่ออยู่ในราศีต่างๆ

4. ตำแหน่งในเรือนชะตา คือ การให้ความหมายของปัจจัยเมื่ออยู่ในเรือนชะตาต่างๆ

ภาคที่ 2: ปัจจัยในดวงชะตา (Points in the Chart)

บทที่ 3: ดาวเคราะห์: บทนำ (The Planets: Introduction)

          ร็อบเริ่มต้นอธิบายเรื่องดาวเคราะห์ โดยอธิบายความแตกต่างทางโหราศาสตร์ระหว่างดาวเคราะห์ชั้นใน และดาวเคราะห์ชั้นนอก จากนั้นอธิบายถึงการจับคู่และความหมายของดาวเคราะห์ (อาทิตย์กับโลก, พุธกับจันทร์, อังคารกับศุกร์, พฤหัสกับเสาร์, มฤตยู เนปจูน กับพลูโต) ตอนท้ายของบท ร็อบได้อธิบายเรื่องดาวเคราะห์เดินถอยหลังหรือโคจรพักร์ ทั้งในแง่ดาราศาสตร์และโหราศาสตร์

บทที่ 4: ดาวเคราะห์: ความหมายหลัก (The Planets: Core Meanings)

          บทที่ 4 เป็นการอธิบายความหมายของดาวเคราะห์แต่ละดวงอย่างละเอียด ตั้งแต่ อาทิตย์ จันทร์ พุธ ศุกร์ อังคาร พฤหัส เสาร์ มฤตยู เนปจูน พลูโต อย่างไรก็ตาม การอธิบายความหมายตามสไตล์โรเบิร์ต แฮนด์นั้น จะไม่ใช่การบอกว่า พฤหัส แปลว่า ความสำเร็จ แต่ร็อบจะอธิบายปรัชญาของดาวแต่ละดวงในเชิงนามธรรมอย่างละเอียด ทำให้เข้าใจได้ยาก ไม่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาโหราศาสตร์ แต่จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ที่มีพื้นฐานทางโหราศาสตร์มาบ้างแล้ว เพราะเมื่อเข้าใจธรรมชาติของดาวแต่ละดวงแล้ว ย่อมสามารถประยุกต์แปลความหมายไปได้อย่างพิสดาร

บทที่ 5: ปัจจัยอื่นๆในดวงชะตา (Other Points in the Chart)

          นอกจากดาวเคราะห์ต่างๆแล้ว ปัจจัยในดวงชะตายังมีอยู่อีกหลายปัจจัย ร็อบได้แนะนำให้รู้จักปัจจัยเหล่านี้อย่างย่อๆ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดของความหมายมากนัก โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. ปัจจัยที่มีลักษณะคล้ายราหู (Node-Type Point) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ ลัคนา เมอริเดียน จุดเวอร์เท็กซ์ จุดอีสต์พอยต์ ราหูจันทร์ ราหูดาวเคราะห์ และจุดเมษ (เพื่อป้องกันความสับสน ขอเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับศัพท์ที่ใช้ในภาษาอังกฤษว่า Node แปลว่า จุดเชื่อมต่อ ดังนั้น Node-Type Point จึงหมายถึงปัจจัยที่มีลักษณะเป็นจุดเชื่อมต่อ เช่น ลัคนา คือจุดเชื่อมต่อหรือจุดตัดระหว่างรวิมรรคกับขอบฟ้าตะวันออก ส่วนในภาษาไทยมักใช้คำแปลว่า ราหู ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดได้ เพราะความหมายตรงๆของ ราหู นั้นไม่ได้แปลว่า จุดเชื่อมต่อ)

2. ปัจจัยทีมีลักษณะทางกายภาพ (Body-Type Point) ได้แก่ ดาวเคราะห์น้อย, ดาวไครอน (Chiron), กลุ่มดาวฤกษ์, ดาวทิพย์ (Hypothetical Planets) ซึ่งครอบคลุมทั้งดาวทิพย์ของยูเรเนียน, ชาร์ลส์ เจย์น, จาคอบเซน, ดาวทรานสพลูโต, ดาววัลแคน ฯลฯ

3. ปัจจัยประเภทพระเคราะห์สนธิ (Planetary Picture-Type Points) ได้แก่ Arabian Parts, พระเคราะห์สนธิแบบ A+B-C = D, ศูนย์รังสี และจุดสะท้อน

ภาคที่ 3: ความสัมพันธ์เชิงมุม (Angular Relationships)

บทที่ 6: มุม: บทนำ (The Aspects: Introduction)

          ร็อบอธิบายเรื่องมุม โดยการท้าวความไปตั้งแต่ยุคปโตเลมี, เรอเนสซองส์ จนถึงปัจจุบัน แล้วได้สรุปความหมายของตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึง 9 ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาตระกูลของมุมต่างๆ โดยการแบ่งวงกลม 360 องศาด้วยตัวเลขต่างๆ เช่น อนุกรมของสองหรือ Hard Aspects คือการหารด้วยเลข 2 และอนุกรมของ 2 ได้แก่ เล็ง (360/2 = 180 องศา) ตั้งฉาก (360/(2*2) = 90 องศา) มุม 45 และ 135 (360/(2*2*2) = 45 องศา เป็นต้น

          จากนั้น ร็อบได้อธิบายเรื่องระยะวังกะ (Orbs of Aspects) ซึ่งมีแนวทางการใช้อยู่หลายแนวทาง ไม่ว่ากำหนดระยะวังกะตามขนาดของมุม หรือปัจจัยที่เกี่ยวข้อง, การใช้ระยะวังกะของ Applying vs Separating Aspects และระยะวังกะที่เขาแนะนำและใช้ในหนังสือเล่มนี้ ต่อมา ร็อบอธิบายถึง ความสัมพันธ์แบบขนาน (Parallels and Contraparallels), เดคลิเนชันและสะท้อน และระยะวังกะสำหรับ Parallels

บทที่ 7: มุม: ความหมายหลัก (The Aspects: Core Meanings)

          หลังจากแนะนำเรื่องมุมอย่างย่อๆในบทที่ 6 ร็อบได้อธิบายความหมายของมุมแต่ละอนุกรมอย่างละเอียด ตั้งแต่ มุมกุม, Hard Aspects, Soft Aspects และอนุกรมอื่นๆ รวมไปถึงหลักการของทฤษฎีฮาร์โมนิค, ฮาร์โมนิคซินโดรม (Harmonic Syndromes) ซึ่งก็คือโครงสร้างดาวประเภท กลุ่มดาวกุมกันหรือเล็งกัน (Multiple Conjunction and Oppositions), โครงสร้างตรีโกณ, โครงสร้างจตุโกณ, โครงสร้างกางเขนใหญ่และที-สแควร์ ฯลฯ

บทที่ 8: ศูนย์รังสี: บทนำ (Midpoints: Introduction)

          ในบทที่ 8 ร็อบแนะนำเรื่องศูนย์รังสีในแง่มุมต่างๆ ทั้งเรื่องทำไมควรใช้ศูนย์รังสี, เรขาคณิตของศูนย์รังสี, ปัญหาในการใช้งาน, มุมและระยะวังกะ, จานคำนวณ 360 และ 90 องศา และเทคนิคการอ่านตาราง Midpoint Listing

บทที่ 9: ความหมายอย่างย่อของการผสมดาว (Brief Meanings of Planetary Pairs)

          ในบทนี้ ร็อบได้ให้ความหมายจากการผสมดาวอย่างย่อๆ คล้ายๆกับคัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ แต่มีเฉพาะดาวเคราะห์ ลัคนา ราหู เมอริเดียน และจุดเมษเท่านั้น ผมคิดว่าบทนี้เป็นการให้แนวทางกว้างๆไว้มากกว่าจะใช้เป็น Reference เหมือนกันคัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ

ภาคที่ 4: ตำแหน่งในจักรราศี (Zodiacal Position)

บทที่ 10: ราศี: บทนำ (The Signs: Introduction)

          ร็อบอธิบายเรื่องราศี โดยเริ่มต้นจากการแบ่งราศีออกตามธาตุทั้งสี่ ไฟ ดิน ลม น้ำ โดยอธิบายไว้ค่อนข้างละเอียด และนำไปจับคู่ธาตุกับดาวเคราะห์ต่างๆ รวมไปถึงทฤษฎีบุคลิกภาพทั้งสี่ (Intuition, Sensation, Thinking และ Feeling) ของคาร์ล จุง นักจิตวิทยาชื่อดังที่ได้อิทธิพลจากหลักการของธาตุทั้งสี่ จากนั้นร็อบได้อธิบายจักรราศีโดยหารด้วย 4 หรือแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ จรราศี, สถิรราศี และอุภยราศี รวมไปถึงนำไปเปรียบเทียบกับฤดูกาลด้วย นอกจากนี้ ร็อบได้อธิบายเรื่องขั้ว (Polarities), ราศีเฉพาะบุคคลกับราศีที่เกี่ยวข้องกับสังคม (Individual vs Social Signs), คุณภาพของดาวเคราะห์ (Dignities) ได้แก่ เกษตร ประ อุจจ์ นิจ และแนวทางการใช้งาน

บทที่ 11: ราศี: ความหมายหลัก (The Signs: Core Meanings)

          บทนี้เป็นการอธิบายความหมายของแต่ละราศีอย่างละเอียด ซึ่งก็เป็นไปตามสไตล์ของร็อบ ที่จะเน้นในเรื่องปรัชญาที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมของแต่ละราศีมากกว่าจะเป็นไปในลักษณะให้ท่องจำ คล้ายๆกับความหมายของดาวเคราะห์ในบทที่ 4

ภาคที่ 5: ตำแหน่งในเรือนชะตา (Mundane Position)

บทที่ 12: มุมในดวงชะตา (The Horoscope Angles)

          มุมในดวงชะตาที่ร็อบหมายถึงในบทนี้ คือจุดสำคัญ 4 จุดในดวงชะตา ได้แก่ ลัคนา (Ascendant), อัสตลัคนา (Descendant) เมอริเดียนบน (Midheaven) และเมอริเดียนล่าง (I.C.) ซึ่งเป็นจุดแบ่งดวงชะตาออกเป็น 4 quadrants นอกจากนี้ร็อบยังอธิบายถึง ซีกฟ้าบน (Upper Hemisphere), ซีกฟ้าล่าง (Lower Hemisphere), ซีกฟ้าตะวันออก (Eastern Hemisphere) ซีกฟ้าตะวันตก (Western Hemisphere), แกนระนาบ (Horizon Axis) และแกนเมอริเดียน (Meridian Axis)

บทที่ 13: เรือนชะตา: บทนำ (The Houses: Introduction)

          เรือนชะตาเป็นทฤษฎีทางโหราศาสตร์ที่มีการถกเถียงในหมู่นักโหราศาสตร์มากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้สามารถเลือกใช้ระบบเรือนชะตาได้อย่างเหมาะสม ร็อบจึงปูพื้นความเข้าใจของเรือนชะตาด้วยการอธิบาย ปัญหาในการแบ่งเรือนชะตา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณ เช่น แบ่งที่ระนาบรวิมรรคหรือระนาบศูนย์สูตรฟ้าหรือแบบอื่น?, จะแบ่งเรือนชะตาเป็นกี่เรือน 8 เรือน หรือ 12 เรือน เป็นต้น ต่อมาร็อบจึงตั้งคำถามว่า ถ้ามีปัญหามาก เราควรใช้เรือนชะตาหรือไม่ ซึ่งสำหรับร็อบ เขายังคงใช้เรือนชะตาอยู่ และนำไปสู่แนวทางการเลือกใช้เรือนชะตา

          การแบ่งเรือนชะตานั้น สามารถแบ่งกลุ่มของเรือนแต่ละเรือนได้คล้ายกับราศี เช่นหารด้วย 3 แล้วแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ เรือนส่วนบุคคล เรือนปฏิบัติ เรือนสังคม และเรือนจิตใต้สำนึก หรือหารด้วย 4 แล้วแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ เรือนต้น (Angular House), เรือนกลาง (Succedent House), เรือนปลาย (Cadent House) หรือการแบ่งตามขั้ว รวมไปถึง การนำผลการวิจัยของ Michael Gauquelin เกี่ยวกับเรือนชะตามาประกอบ

บทที่ 14: เรือนชะตา: ความหมายหลัก (The Houses: Core Meanings)

          บทนี้เป็นการอธิบายความหมายของเรือน 12 เรือนอย่างละเอียด ซึ่งก็เช่นเดิมที่ร็อบอธิบายเน้นในเชิงปรัชญาที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่ทำให้เข้าใจความหมายเรือนชะตาในเชิงลึก บทที่ 15: เรือนชะตาในอีก 2 มุมมอง (The Houses: Two Alternative Views) ร็อบปิดท้ายเรื่องเรือนชะตาด้วยการประยุกต์ใช้งานเรือนชะตาที่ซับซ้อนขึ้นในอีก 2 แนวทาง เริ่มจาก ความหมายของเรือนที่พัฒนาจากเรือนอื่นๆ (Derived House Meanings) เช่น เรือนที่ 8 สามารถแปลได้ว่า รายได้ของคู่ครอง เพราะเป็นเรือนที่ 2 ของเรือนที่ 7 ได้อีกด้วย ร็อบจึงได้ให้แนวทางการประยุกต์แปลความหมายเรือนอีก 3 เทคนิค คือแปลจากความหมายของเรือนที่สัมพันธ์กัน, แปลจากความหมายของความสัมพันธ์เชิงมุม, แปลจากความหมายของเรือนที่ถอดความจากความสัมพันธ์เชิงมุม ตรงนี้ค่อนข้างซับซ้อน แต่เท่าที่ผมพบก็มีใช้แพร่หลายในหมู่นักโหราศาสตร์บ้านเรา อาจารย์วิโรจน์ก็สอนเรื่องนี้ในทุกหลักสูตร

          อีกแนวทางหนึ่งคือ การถอดความเรือนชะตาตามทิศตามเข็มนาฬิกา ซึ่งจะต่างจากเรือนชะตาปกติที่นับเรือนย้อนเข็มนาฬิกา เรื่องนี้คือการแบ่งเรือนชะตาเป็น 4 ควอดแดรนต์ (ถ้าใครได้เรียนวิชา ดารา-โหราศาสตร์ จะนึกออกว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับที่อาจารย์อารี สวัสดี สอนไว้)

ท้ายเล่ม

          ท้ายเล่ม ร็อบได้สรุปความหมายหลักอย่างย่อของปัจจัย, มุม, ราศี และเรือนชะตา ทำให้สะดวกในการกลับมาค้นอีกครั้ง และได้สรุปรายชื่อหนังสือที่ควรอ่านเพิ่มเติมไว้อีกด้วย

สรุป

          ผมเชื่อว่า นักโหราศาสตร์ที่เอาจริงเอาจังกับการศึกษาวิชานี้ ควรที่จะได้อ่านตำราเล่มนี้ เพื่อที่จะได้เข้าใจโครงสร้างของวิชาโหราศาสตร์ในยุคปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองพบว่า การอ่านตำราเล่มนี้แต่ละครั้ง จะได้รับความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ คล้ายกับตอนที่อ่านคัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ เป็นการยืนยันแนวคิดที่ว่า “ยิ่งศึกษา ยิ่งรู้ว่าตัวเราโง่” นั่นเป็นเพราะความรู้ในโลกนี้มีอยู่มากมายจริงๆ ใครก็ตามที่อ้างว่าเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในวิชาโหราศาสตร์แล้ว เชื่อเถอะว่า กว่า 99% คนเหล่านั้นยังคงเป็นกบในกะลาอยู่นั่นเอง




แนะนำตำรา

Dial Detective สืบด้วยจานคำนวณ article
คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
eXTReMe Tracker