เรื่องที่ 1 กบฏวังหลวง 2492 ถึง สงกรานต์เดือด เมษายน 2552
วิโรจน์ กรดนิยมชัย
5 พฤษภาคม 2552
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กบฏวังหลวง ชื่อเรียกการกบฏที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เกิดขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์นำกองกำลังส่วนหนึ่งจากประเทศจีนร่วมกับคณะนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" นำกำลังยึดพระบรมมหาราชวังและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการ (จึงเป็นที่มาของชื่อกบฏในครั้งนี้) ในเวลาประมาณ 16.00 น. และเมื่อเวลา 21.00 น. ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย และได้ประกาศแต่งตั้ง นายดิเรก ชัยนาม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยที่นายดิเรกมิได้มีส่วนรู้เห็นอันใดกับการกบฏครั้งนี้ ในส่วนนายปรีดีที่หลบหนีออกจากประเทศไปตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้แอบเดินทางกลับมาโดยปลอมตัวเป็นทหารเรือและติดหนวดปลอมปะปนเข้ามาพร้อมกับกลุ่มกบฏ แต่มีผู้พบเห็นและจำได้ ซึ่งความจริงแล้ว ทางฝ่ายรัฐบาลก็รู้ตัวก่อนแล้ว เพราะ จอมพล ป.ก่อนหน้านั้นได้พูดทิ้งท้ายไว้เป็นนัยทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่า "เลือดไทยเท่านั้น ที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้" และได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าก่อนถึง 3 วันเกิดเหตุ
ในระยะแรก ฝ่ายกบฏดูเหมือนจะเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ เพราะสามารถยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด แต่ทว่าตกค่ำของคืนวันนั้นเอง ทหารฝ่ายรัฐบาลก็ตั้งตัวติดและสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้ อีกทั้งกองกำลังทหารเรือฝ่ายสนับสนุนกบฏจากฐานทัพเรือสัตหีบก็ติดอยู่ที่ท่าน้ำบางปะกง เพราะน้ำลดขอดเกินกว่าปกติ แพขนานยนต์ไม่สามารถที่จะลำเลียงอาวุธและกำลังคนข้ามฟากไปได้ เมื่อน้ำขึ้นก็เป็นเวลาล่วงเข้ากลางคืน กองกำลังทั้งหมดมาถึงพระนครในเวลา 2 ยาม ถึงตอนนั้นฝ่ายกบฏก็เพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาลแล้ว
จุดที่มีการปะทะกันระหว่างทหารบกฝ่ายรัฐบาล และทหารเรือฝ่ายกบฏ เช่น ถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 สาทร เป็นต้น มีการยิงกระสุนข้ามหลังคาบ้านผู้คนในละแวกนั้นไปมาเป็นตับ ๆ
พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปราม มีการสู้รบกันในเขตพระนครอย่างหนักหน่วง โดย พล.ต.สฤษดิ์เป็นผู้ยิงปืนจากรถถังทำลายประตูวิเศษไชยศรีของพระบรมมหาราชวังพังทลายลง จนในที่สุด เวลาเย็นของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทั้ง 2 ฝ่ายก็หยุดยิง เมื่อรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง และหลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ได้มีการสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองลงหลายคน เช่น พล.ต.ต. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต. โผน อินทรทัต ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบและอดีตเสรีไทย รวมทั้งการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 13 คือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งเป็นนักการเมืองในสายของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
ผมนำเหตุการณ์กบฏวังหลวง ซึ่งสามารถอ่านได้จาก WIKIPEDIA มาให้อ่านกันเพื่อต้องการให้ผู้อ่านได้นำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี 2552 นอกจากนั้น ผู้อ่านควรจะต้องค้นหาเหตุการณ์การก่อกบฏ 23 กุมภาพันธ์ 2492 มาอ่านประกอบอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความพยายามที่จะสังหารคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นเหตุการณ์แรกที่นำมาสู่กบฏวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ 2492 ซึ่งมีความเหมือนกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในการประชุม อาเซียน + 3 + 6 พัทยา ที่ได้บุกเข้าไปในสถานที่จัดประชุม และความพยายามที่จะทำร้ายนายกรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทยในวันที่ 12 เมษายน ก่อนเกิดเหตุการณ์สงกรานต์เดือด 13 เมษายน 2552 ที่ซึ่งอาจจะบอกว่ามีความพยายามที่จะทำให้เหมือน แต่ก็ไม่เหมือน หากจะบอกว่าคนละเรื่องแต่ก็เหมือน เรื่องเดียวกัน เป็นเพราะตัวละคร ณ วันนั้น มีทายาท หรือมีการผูกสายสัมพันธ์สืบทอดมาถึงวันนี้ แต่ในความเหมือนที่แตกต่างนั้น ผลลัพธ์ของเหตุการณ์เป็นสิ่งเดียวที่เหมือนกันก็คือ ผู้กุมอำนาจรัฐ หรือฝ่ายรัฐบาล ณ วันนี้ ปี 2552 สามารถรักษาสถานภาพการเป็นรัฐบาลได้เหมือนกับรัฐบาลเมื่อ ปี 2492 และแม้ว่าประตูของพระบรมมหาราชวังในปี 2552 จะไม่ได้ถูกทำลายอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนปี 2492 แต่ก็ได้รับผลกระทบด้วยแรงสั่นสะเทือนที่เป็นนามธรรมไม่น้อยทีเดียว

ในภาพดวงชะตาที่ซ้อนกันอยู่นั้นจะแสดงให้เห็น ดวงชะตาวันกบฏวังหลวง อยู่วงใน และดวงชะตาสงกรานต์เดือด อยู่วงนอก จะพบความสัมพันธ์ ดังนี้
1. ปัจจัยที่หมายถึง การก่อกบฏ (Mo + Ur - Ar ) ของเหตุการณ์กบฏวังหลวง ทำมุม สัมพันธ์ 45 องศากับจุดเมษ และปัจจัยที่หมายถึง การก่อกบฏของวันสงกรานต์เดือด กลับไปสัมพันธ์ทำมุม 90 องศากับ M หรือเมอริเดียนของกบฏวังหลวง (ซึ่งเมอริเดียนนั้นหมายถึง จิตวิญญาณ หรือธาตุแท้ของบุคคลหรือผู้นำของดวงชะตานั้น) แสดงว่า บุคคลที่มีส่วนในเหตุการณ์วันสงกรานต์เดือดในปี 2552นั้น มีสายสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญในเหตุการณ์กบฏวังหลวง ไม่ว่าจะเป็นทายาทสายตรง หรือเป็นเขย หรือสะใภ้ ก็ตาม ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นตามแผนการ หรือเป็นด้วยความบังเอิญก็ไม่รู้ได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจต้องหาคำตอบเหล่านี้กันเอาเอง
2. ดาวเสาร์ของทั้ง 2 ดวงชะตานั้นโคจรอยู่ในราศีกันย์ ซึ่ง โหราศาสตร์การเมือง ราศีกันย์จะหมายถึง การเมือง เมื่อเสาร์โคจรในราศีกันย์จึงหมายถึง ความทุกข์ หรือวิกฤติการณ์ทางการเมือง ผู้ที่มีชีวิตอยู่ ณ วันนี้ สามารถบอกได้ถึงความวิตกกังวลและ เป็นทุกข์ ได้อย่างดี และคงไม่ต้องไปย้อนถามว่าผู้ที่มีชีวิตอยู่ ณ ปี 2492 ว่าในปีนั้น มีความวิตกกังวล และเป็นทุกข์เพียงใด
ในมุมมองทางโหราศาสตร์นั้นสามารถอธิบายเหตุการณ์นี้ได้ว่า เป็นเหตุการณ์การเกิดซ้ำ 60 ปี เป็นการเกิดซ้ำของวงรอบการโคจร 2 รอบจักรราศีของดาวเสาร์ ซึ่งจะโคจรครบรอบจักรราศีประมาณรอบละประมาณ 29 - 30 ปี และโดยปรัชญา อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน เหตุการณ์ใดๆที่เคยเกิดขึ้นแล้วมีโอกาสที่จะเกิดซ้ำได้อีกภายใต้สถานการณ์ เงื่อนไข ที่สามารถอุปมาอุปมัยเดียวกันได้ ซึ่งจะพบว่า เมื่อปี 2522 ครบรอบดาวเสาร์นั้นไม่เกิดเหตุการณ์เหมือนที่เกิดขึ้นในปีนี้ เนื่องจาก ปัจจัยต่างๆทางการเมืองไม่ครบเงื่อนไข เช่น ไม่มีการแบ่งฝ่ายของผู้คนในสังคม ไม่มีบุคคลที่เป็นทายาท หรือมีสายสัมพันธ์ใดๆกับบุคคลในเหตุการณ์เมื่อปี 2492 ที่มีบทบาทในทางการเมืองในขณะนั้น
มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ เมื่อปี 2520 มีการรัฐประหารโดยพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ ทำให้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมนันท์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2520 และดำรงตำแหน่ง 3 วาระ ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 จึงยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ และมีผลทำให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต้องเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ วันที่ 10 มีนาคม 2523 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2531 ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่าวงรอบการเกิดซ้ำนี้ก็คือ การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ก็ล้อมาจากการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2520 ถึงปี 2523 ที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมนันท์เป็นนายกรัฐมนตรี 3 วาระ เช่นเดียวกับที่ หลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ประเทศไทยก็เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีแล้ว 3 คน 3 คณะรัฐมนตรี เช่นกัน