ReadyPlanet.com
dot
dot dot
dot
เกี่ยวกับเรา Horauranian.com
dot
bulletรำลึกถึง อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์
bulletเจตนารมณ์
bulletติดต่อเรา
bulletโหราพยากรณ์
dot
บทความ
dot
bulletเกร็ดโหรน่ารู้
bulletเจาะลึกโหรา
bulletโหราศาสตร์บ้านเมือง
bulletBlog อ.วิโรจน์
bulletแนะนำตำรา
bulletไพ่ยิปซี จักรราศี (Celestial Tarot)
bulletกระดานถามตอบ
bulletคลังบทความดวงเมืองเศรษฐกิจ 2550-2552
bulletคลังกระทู้โหราศาสตร์ที่น่าสนใจ
dot
บทความน่าสนใจ
dot
bulletประเทศไทยหลังคดียึดทรัพย์ 2553
bulletReturn of Great Depression?
bulletChange! ผู้นำยุคใหม่ของโลก
bulletเรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน
bulletโหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
bulletเลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง
bullet6 ขั้นตอนเพื่อการดูหมออย่างคุ้มค่า
bulletชนะใจคนรัก 12 ราศี
dot
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
dot
bulletเพจ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletCelestial Strategist Blog
bulletBlog โหราเศรษฐกิจ
bulletเว็บไซต์ที่น่าสนใจ




โหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอน 2 article

โดย Pallas
กันยายน 2550

          ในตอนแรก ผมได้เล่าเรื่องราวของโหราศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในนวนิยายเด็กชื่อดัง แฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยหยิบยกมา 2 ประเด็นคือ บ้านทั้งสี่ในโรงเรียนฮอกวอตส์ และ บุคลิกของตัวละครตามวันเกิด อย่างไรก็ดี ยังคงมีประเด็นเกี่ยวกับโหราศาสตร์ในนวนิยายดังกล่าวอีก 3 ประเด็นที่ผมขอยกยอดมาเล่าในตอนที่ 2 เชิญติดตามได้เลยครับ

ประเด็นที่ 3 วิชาพยากรณ์ศาสตร์ (Divination) ในฮอกวอตส์

          ในโรงเรียนฮอกวอตส์ วิชาพยากรณ์ศาสตร์ (Divination) เป็นวิชาเลือกที่นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป (ทั้งนี้ นักเรียนทุกคนจะได้รับการปูพื้นฐานด้วยการเรียนวิชาดาราศาสตร์ (Astronomy) ในปีที่ 1 ซึ่งก็ตรงกับหลักที่อาจารย์อารี สวัสดีเคยสอนไว้หลายครั้งว่า “โหร ถ้าไม่รู้จักดาว ก็ไปได้ไม่ไกล”) ในวิชาพยากรณ์ศาสตร์ นักเรียนจะได้เรียนเทคนิคการพยากรณ์ต่างๆ ตั้งแต่ โหราศาสตร์ (Astrology), การอ่านกากใบชา (Tea leaves), ไพ่ (Cartomancy), อ่านลายมือ (Palmistry), การพยากรณ์จากความฝัน (Dream Interpretation), การพยากรณ์จากลูกแก้ว (Crystal Ball), ทำนายกองไฟ (Fire-omens) ฯลฯ ในนวนิยายเรื่องนี้ เราพบว่า เจเค โรว์ลิ่ง มีความเข้าใจในความแตกต่างของพยากรณ์ศาสตร์ (Divination) และโหราศาสตร์ (Astrology) เป็นอย่างดี เมื่อเธอใช้คำว่าโหราศาสตร์ (Astrology) ก็จะหมายถึงการใช้ปัจจัยบนฟ้ามาพยากรณ์ แต่เมื่อพูดรวมๆทุกวิธีแล้ว ก็จะใช้คำว่า พยากรณ์ศาสตร์ (Divination) นั่นเอง

          อาจารย์สอนวิชานี้ในฮอกวอตส์คือ ศาสตรารย์ ซีบิลล์ ทรีลอว์นีย์ ซึ่งเป็นลูกของเหลนของผู้พยากรณ์ที่มีชื่อเสียงและมีพรสวรรค์มากๆ (คาสซานดร้า ทรีลอว์นีย์) แม้ว่าคำพยากรณ์ของทรีลอว์นีย์หลายครั้งจะดูเหมือนการเดาสุ่ม แต่เธอก็มีคำพยากรณ์ที่แม่นยำอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะคำพยากรณ์ที่สำคัญที่สุดของเรื่องที่เธอกล่าวกับดับเบิลดอร์ในร้านหัวหมู ซึ่งคำพยากรณ์นั้นถูกเก็บไว้ในกองปริศนา กระทรวงเวทมนตร์ (รายละเอียดอยู่ในเล่มที่ 5 ตอนภาคีนกฟีนิกซ์) นอกจากนี้ จากหลายๆเหตุการณ์ที่เธอเข้าไปเกี่ยวข้องพอจะบอกได้ว่า ทรีลอว์นีย์จะเน้นไปในทางการพยากรณ์ที่ไม่ใช้โหราศาสตร์มากกว่า (เธอมักจะกล่าวอ้างถึงญาณวิเศษหรือตาพยากรณ์ของเธออยู่เสมอ) พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ทรีลอว์นีย์เน้นการพยากรณ์ในแนวทางพรหมลิขิต (Fate) คือโชคชะตาถูกลิขิตไว้เรียบร้อยแล้ว

          นอกจากศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์แล้ว ยังมีอาจารย์อีกคนหนึ่งที่สอนวิชาพยากรณ์ศาสตร์ นั่นคือ ฟีเรนซี (Firenze) ผู้ซึ่งเป็นเซ็นทอร์ (Centaur) หรือสัตว์ที่มีส่วนล่างเป็นม้า ส่วนบนเป็นมนุษย์ อีกนัยหนึ่งก็คือราศีธนูในจักรราศีนั่นเอง ฟีเรนซีสอนวิชาพยากรณ์ศาสตร์โดยเน้นไปในทางโหราศาสตร์ ให้นักเรียนดูดวงดาวจริงๆ ตอนหนึ่งฟีเรนซีกล่าวว่า “ฉันรู้ว่าพวกเธอได้เรียนชื่อของดาวเคราะห์ต่างๆและดวงจันทร์ของดาวเหล่านั้นในวิชาดาราศาสตร์ แล้วเธอยังทำแผนที่การโคจรไปบนสรวงสวรรค์ของดวงดาวทั้งหลายด้วย เซ็นทอร์สามารถไขปริศนาของการโคจรเหล่านี้ได้นานหลายศตวรรษมาแล้ว การค้นพบของเราสอนเราว่าอนาคตนั้นสามารถมองเห็นได้จากท้องฟ้าเบื้องบน” ที่น่าสนใจมากกว่านั้น ก็คือการที่ฟีเรนซีบอกว่า บางครั้งเซ็นทอร์ก็อ่านสัญญาณต่างๆผิดพลาดได้ ดังนั้น เรื่องสำคัญที่เขาต้องการทำไม่ใช่สอนสิ่งที่เขารู้ให้พวกนักเรียน แต่เป็นการปลูกฝังพวกเขาว่า ไม่มีอะไรเลย แม้กระทั่งความรู้ของพวกเซ็นทอร์ ที่ไม่มีที่ผิดเลย เรื่องนี้ก็ข้อคิดที่ดีสำหรับนักโหราศาสตร์ว่า อย่าไปยึดมั่นกับคำพยากรณ์จนมากเกินไป หลายๆครั้ง นักโหราศาสตร์เองเป็นผู้แปลความหมายดวงดาวผิดพลาด เรื่องนี้ผมมองว่าคล้ายๆกับศาสตร์อื่นๆ เช่น การแพทย์ ที่การวินิจฉัยโรคใดๆที่เป็นเรื่องสำคัญ คนไข้ควรที่จะได้รับความเห็นที่ 2 จากแพทย์คนอื่น (Second Opinion) มาประกอบการตัดสินใจด้วย เป็นต้น ดังนั้น หากจะตัดสินใจในเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเกี่ยวกับธุรกิจ ผมแนะนำว่าควรปรึกษาจากนักโหราศาสตร์มากกว่า 1 ท่าน เพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้

          ในทางโหราศาสตร์ เซ็นทอร์เป็นตัวแทนของราศีธนู มาจากเซ็นทอร์ที่ชื่อว่า ไครอน ผู้เปรื่องปราด เชี่ยวชาญวิชาการต่างๆ ทั้งดนตรี เภสัชกรรม การยิงธนู การใช้สมุนไพรทำยา ฯลฯ ที่สำคัญยังเป็นอาจารย์ของวีรบุรุษในตำนานกรีก-โรมันที่สำคัญๆ เช่น อคีลิส เฮอร์คิวลีส เจสัน พีลูส อีเนียส เป็นต้น ต่อมา มหาเทพซีอุสได้บันดาลให้ไครอนกลายเป็นกลุ่มดาวรูปเซ็นทอร์ถือธนูอยู่บนท้องฟ้า เรียกว่า กลุ่มดาวแซชจิเตเรียส (Sagittarius) หรือกลุ่มดาวประจำราศีธนูนั่นเอง ความหมายของราศีธนู หมายถึง นักวางแผน ผู้มองการณ์ไกล เป็นคนที่มองภาพใหญ่มากกว่าจะสนใจภาพย่อย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ฟีเรนซีจะกล่าวว่า “แต่ส่วนใหญ่เธอเสียเวลาไปเปล่าๆกับเรื่องไร้สาระเพื่อเยินยอตัวเองที่มนุษย์เรียกขานกันว่า การทำนายโชคชะตา แต่ฉันเอง มาที่นี่เพื่ออธิบายถึงปัญญาของพวกเซ็นทอร์ ซึ่งไม่ได้หมายความเจาะจงที่ใครคนใดคนหนี่งและไม่เข้าข้างใครเลย เราเฝ้าดูฟากฟ้าเพื่อหาแนวโน้มของความชั่วร้ายหรือการเปลี่ยนแปลงที่บางครั้งบางคราวได้จารึกไว้บนนั้น อาจต้องใช้เวลาถึงสิบปีที่จะแน่ใจว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นคืออะไร” นี่เป็นอีกครั้งที่เจเคซ่อนความหมายของจักรราศีไว้ในตัวละครของเธออย่างแนบเนียน

ประเด็นที่ 4 ชื่อตัวละครและความหมายแฝง

          อัจฉริยภาพของเจเค โรว์ลิ่ง ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้แสดงออกมาให้เห็นส่วนหนึ่งจากการตั้งชื่อตัวละครต่างๆ ที่แฝงความหมายจากตำนานเทพนิยายและดาราศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์อย่างแยกไม่ออก เริ่มจาก ชื่อของอาจารย์ประจำวิชาพยากรณ์ศาสตร์ ศาสตราจารย์ ซีบิลล์ ทรีลอว์นีย์ (Sibyll Trelawney1) คำว่า “ซีบิล (Sibyll)” มาจากภาษาละติน แปลว่า นักพยากรณ์ ลักษณะการพยากรณ์ของซีบิลจะอยู่ในรูปแบบของการถ่ายทอดคำพยากรณ์จากพระเจ้าหรือเทพเจ้ามาสู่มนุษย์ เช่นจากเทพอพอลโล ฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องให้มีคนมาปรึกษาหรือสอบถาม ลักษณะก็คงตรงกับศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์ ที่มักพยากรณ์อนาคตให้นักเรียนทั้งๆที่ไม่มีใครถาม ในตำนาน ซีบิลที่มีชื่อเสียงมีอยู่หลายคน แต่ที่โด่งดังมากมีอยู่ 3 คน ได้แก่ Delphic Sibyl ที่พยากรณ์ในอำนาจแห่งเทพอพอลโล ณ วิหารเดลฟี เชิงเขา Parnassus ประเทศกรีซ, Erythraean Sibyl ผู้พยากรณ์การเกิดสงครามกรุงทรอย, และ Cumaean Sibyl ผู้พยากรณ์การมาของพระเยซู 

          บรรพบุรุษของศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์ (Grand-great-grandmother) ชื่อว่า คาสซานดร้า (Cassandra) เป็นแม่มดที่เป็นนักพยากรณ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุคของเธอ ซึ่งชื่อของเธอก็ตรงกับคาสซานดร้า ธิดาของท้าวเพรียม ผู้ซึ่งมีความสามารถในการพยากรณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ ในตำนานสงครามเมืองทรอย เธอได้พยากรณ์ผลของสงครามกรุงทรอยได้อย่างถูกต้อง และเตือนไม่ให้ชาวทรอยนำม้าไม้ (Trojan horse) เข้ามาในเมือง แต่เทพอพอลโลสาปไว้ไม่ให้มีใครเชื่อคำพยากรณ์ของเธอ ในที่สุดเมืองทรอยก็ล่มสลาย

          อาจารย์อีกท่านหนึ่งในฮอกวอตส์ ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำบ้านกริฟฟินดอร์ คือศาสตราจารย์ มิเนอร์ว่า มักกอนนากัล (Minerva McGonagall) คำว่า มิเนอร์ว่า นั้นเป็นชื่อโรมันของเทพีอธีนาซึ่งเป็นชื่อกรีก2 เทพีมิเนอร์ว่าเป็นเทพีผู้ครองปัญญาและวิทยาการ ทำให้บรรดามหาวิทยาลัยต่างๆมักนำรูปของเธอเป็นตราสัญลักษณ์, อนุสาวรีย์ หรือรูปแบบอื่นๆ เช่น La Sapienza University ในโรม, Columbia University สหรัฐอเมริกา, University of Lincoln สหราชอาณาจักร ฯลฯ นอกจากนี้แล้ว ชื่อของเธอยังเป็นที่มาของเมืองเอเธนส์ (Athena => Athens) อีกด้วย ในฐานะที่ชนะเทพเจ้ามาร์สในการแข่งขัน ศาสตราจารย์มักกอนนากัลก็มีบุคลิกตรงกับเทพีมิเนอร์ว่าอยู่มาก เนื่องจากเป็นคนฉลาด มีความเป็นผู้ใหญ่ รวมถึงในด้านการต่อสู้ก็ไม่แพ้ใคร ทำให้สามารถรับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่แทนศาสตราจารย์ดับเบิลดอร์ได้อย่างเหมาะสม
  

          พ่อบุญธรรมของแฮร์รี่ คือ ซิเรียส แบล็ค (Sirius Black) ชื่อซิเรียส มาจากชื่อของดาวฤกษ์ซิริอุส (Sirius) ซึ่งเป็นดาวที่สุกสว่างที่สุดในกลุ่มดาวหมาใหญ่ (Canis Major) ในเรื่องนี้ เจเค โรวลิ่ง นำมาใช้อย่างแนบเนียนด้วยการให้ซิเรียสแปลงร่างเป็นสุนัขดำ และใช้นามแฝงในกลุ่มเพื่อนว่า เท้าปุย (Padfoot) นั่นเอง

          เดรโก มัลฟอย นักเรียนร่วมรุ่นของแฮร์รี่ ชื่อของเขา เดรโก (Draco) ก็จะตรงกับกลุ่มดาวมังกร (Draco) ซึ่งอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ (กลุ่มดาวนี้มักถูกเรียกสับสนกับกลุ่มดาวในแถบจักรราศีที่เรียกว่า มกร เพราะมังกรหมายถึงงูใหญ่ ส่วนมกรหมายถึงแพะภูเขา ซึ่งไม่เหมือนกัน ดังนั้นในโหราศาสตร์จะมีแต่ราศีมกรเท่านั้น ไม่มีราศีมังกร) กลุ่มดาวมังกรก็หมายถึงงูใหญ่ ซึ่งก็ตรงกับสัญลักษณ์ของบ้านสลิธีริน ที่เดรโก มัลฟอย สังกัดอยู่

          เพื่อนอีกคนหนึ่งของแฮร์รี่ที่มีบุคลิกแปลกๆ นั่นคือ ลูน่า เลิฟกู๊ด (Luna Lovegood) หรือเลิฟกู๊ดสติเฟื่องนั่นเอง คำว่า ลูน่า (Luna) นั้นหมายถึงพระจันทร์ในภาษาละติน ซึ่งในตำนานกรีกหมายถึงเทพีซีลีนี ผู้ลึกลับและนำเราไปสู่ห้วงจินตนาการเพื่อเปิดเผยความจริง บ่งบอกถึงด้านในของชีวิต (รายละเอียดสามารถอ่านได้ในบทความ ไพ่ยิปซีจักรราศี หมายเลข 2 The High Priestess ราชินีพระจันทร์) ซึ่งคล้ายคลึงกับบุคลิกของลูน่าที่มักจะมองโลกด้วยแง่มุมแปลกๆ เต็มไปด้วยจินตนาการ และเชื่อว่าทุกเรื่องมีความลี้ลับซ่อนอยู่ ทำให้ค่อนข้างแปลกแยกจากคนอื่น ไม่ค่อยมีใครกล้ามาคุยด้วย

ประเด็นที่ 5 พรหมลิขิตหรือกรรมลิขิต (Fate or Freewill)

          นวนิยายเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้แตะประเด็นสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในโหราศาสตร์ นั่นคือ พรหมลิขิต หรือ กรรมลิขิต (Fate or Freewill) ในอดีต มักมีความเชื่ออยู่ว่า ชะตาชีวิตของมนุษย์ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าตั้งแต่กำเนิดแล้ว ดังนั้น เหตุการณ์ต่างๆในชีวิตมนุษย์จะสามารถบอกได้อย่างชัดเจนจากดวงชะตากำเนิด มนุษย์ไม่สามารถฝืนชะตาฟ้าลิขิตไปได้ ทัศนคตินี้ยังคงฝังรากลึกในความเชื่อของคนทั่วไปจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อลักษณะนี้เรียกได้ว่า “เชื่อในพรหมลิขิต (Fate)”

          อย่างไรก็ตาม โหราศาสตร์แนวใหม่ โดยเฉพาะโหราศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์ ดังเช่น โหราศาสตร์ยูเรเนียน มีแนวคิดที่แตกต่างออกไป โดยเชื่อว่า มนุษย์มีทางเลือก และสามารถเลือกดำเนินชีวิตตามความต้องการของแต่ละคนได้ แต่คงอยู่ในภายใต้กรอบของกฎแห่งกรรม ดังนั้น โหราศาสตร์ในแนวคิดจึงเป็นเพียงเครื่องมือในการบอกแนวโน้มของชีวิต ซึ่งมนุษย์สามารถนำไปประกอบในการตัดสินใจเรื่องต่างๆในชีวิตต่อไป ความเชื่อนี้ผมขอเรียกว่า “เชื่อในกรรมลิขิต (Freewill)”

          นวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ กล่าวถึงเรื่องนี้หลายตอน เช่นในเล่มที่ 2 ตอนห้องแห่งความลับ บทที่ 18 แฮร์รี่ได้ถามศาสตราจารย์ดับเบิลดอร์ว่า หมวกคัดสรรบอกว่าแฮร์รี่จะทำได้ดีทีเดียวถ้าอยู่บ้านสลิธีริน เพราะพูดภาษาพาร์เซลได้ (ภาษาที่พูดคุยกับงู) อีกทั้งได้รับถ่ายทอดพลังบางอย่างจากโวลเดอมอร์ในคืนที่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้แฮร์รี่ รวมถึงมีคุณสมบัติหลายอย่างที่ซัลลาซาร์ สลิธีริน ผู้ก่อตั้งบ้านสลิธีรินให้ความสำคัญมาก แล้วทำไมหมวกยังส่งแฮร์รี่ไปอยู่บ้านกริฟฟินดอร์  คำตอบก็คือ แฮร์รี่เลือกที่จะไม่ไปอยู่บ้านสลิธีรินนั่นเอง ดับเบิลดอร์ได้สรุปว่า สิ่งที่ทำให้แฮร์รี่แตกต่างจากโวลเดอมอร์ นั่นคือ การเลือกของคนเรานั่นเองที่จะแสดงให้เห็นว่าจริงๆแล้วเราเป็นคนอย่างไร ยิ่งไปเสียกว่าความสามารถของเรามากนัก 

          อีกตอนหนึ่งในเล่มที่ 5 ตอนภาคีนกฟีนิกซ์ บทที่ 37 เมื่อดับเบิลดอร์ได้ให้แฮร์รี่ได้ฟังคำพยากรณ์ของซีบิลล์ ทรีลอว์นีย์ว่า “ผู้มีอำนาจจะปราบเจ้าแห่งศาสตร์มืดใกล้เข้ามาแล้ว...เกิดกับคนที่ท้าทายเขาถึงสามหน เกิดเมื่อเดือนที่เจ็ดวางวาย...และเจ้าแห่งศาสตร์มืดจะทำเครื่องหมายเขาในฐานะผู้เท่าเทียม แต่เขานั้นจะมีอำนาจที่เจ้าแห่งศาสตร์มืดหารู้จักไม่...และคนหนึ่งจะต้องตายด้วยน้ำมือของอีกคน  เพราะทั้งสองจะไม่อาจอยู่ได้ถ้าอีกคนยังอยู่รอด” ตอนที่โวลเดอมอร์ได้ยินคำพยากรณ์นี้จากบริวารของเขา เขาได้ยินเพียงแค่ถึงตอนที่ว่า เกิดเมื่อเดือนที่เจ็ดวางวาย เท่านั้น ซึ่งเด็กที่เกิดวันสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม และเกิดกับพ่อแม่ที่ได้ท้าทายโวลเดอมอร์มาแล้วสามครั้ง มีอยู่ 2 คน นั่นคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ และเนวิลล์ ลองบัตท่อม อย่างไรก็ดี โวลเดอมอร์นั่นเองเป็นผู้เลือกที่จะทำเครื่องหมายเขาในฐานะผู้เท่าเทียมกับแฮร์รี่ ไม่ใช่เนวิลล์ นี่เป็นอีกครั้งที่ การเลือกของมนุษย์ส่งผลมากกว่าคำพยากรณ์เพียงอย่างเดียว

          ตอนที่ผมชอบมากอีกตอนหนึ่งอยู่ในเล่มที่ 6 ตอนเจ้าชายเลือดผสม บทที่ 23 ตอนนี้ดับเบิลดอร์พยายามที่จะสอนให้แฮร์รี่เข้าใจถึงอำนาจที่เจ้าแห่งศาสตร์มืดหารู้จักไม่ นั่นคือ ความรัก ดับเบิลดอร์พูดตอนหนึ่งว่า “แต่แฮร์รี่ อย่าลืมเด็ดขาดว่า สิ่งที่คำพยากรณ์บอกจะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อโวลเดอมอร์ทำให้มันเป็นไปดังนั้น ฉันบอกเธอเรื่องนี้แล้วเมื่อปลายปีก่อน โวลเดอมอร์เจาะจงเลือกว่าเธอคือคนที่จะเป็นอันตรายต่อเขามากที่สุด และเมื่อทำเช่นนั้น เขาทำให้เธอกลายเป็นคนที่อันตรายต่อเขามากที่สุด!” จากนั้นดับเบิลดอร์พยายามที่จะสอนให้แฮร์รี่ตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกที่จะทำ มากกว่า การปล่อยให้เป็นไปตามคำพยากรณ์อย่างเดียว “แน่นอน เธอต้องทำ! แต่ไม่ใช่เพราะคำพยากรณ์! เพราะเธอ ตัวเธอเองนั่นละ จะไม่มีวันหยุดจนกว่าเธอจะได้พยายามทำ! ..” “..เธอเป็นอิสระที่จะเลือกทางของเธอเอง อิสระที่จะหันหลังให้คำพยากรณ์นั่นได้! ..” ตอนท้ายของบท แฮร์รี่ก็เข้าใจว่า มันมีความแตกต่างกันระหว่างการถูกลากตัวเข้าไปในสังเวียนเพื่อเผชิญหน้าการต่อสู้ที่ถึงตาย กับการเดินเข้าไปในสังเวียนด้วยหัวที่เชิดสูง บางคนอาจจะพูดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยนักที่ได้เลือกระหว่างทางทั้งสองนี้ แต่ดับเบิลดอร์และแฮร์รี่ต่างก็รู้ว่า นั่นคือความแตกต่างทั้งมวลในโลกนี้

          ในนวนิยายเรื่องนี้ หลายๆตอนมักทำให้คนอ่านรู้สึกว่าวิชาพยากรณ์ศาสตร์เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่น่าเชื่อ จากบุคลิกที่น่าขบขันของศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์ อย่างไรก็ดี เจเค โรว์ลิ่งกลับเขียนให้เป็นไปว่า คำพยากรณ์สำคัญหลายๆครั้งของทรีลอว์นีย์กลับมีความแม่นยำอย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับผมแล้ว ผมว่าประเด็นที่เจเคพยายามจะสื่อให้คนอ่านรับรู้ก็คือ ไม่ว่าคำพยากรณ์จะเป็นอย่างไร มนุษย์นั่นเองที่เป็นผู้ตัดสินใจเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ ไม่ใช่คำพยากรณ์ ความแตกต่างระหว่างการเลือกที่จะทำ กับการทำตามคำพยากรณ์ที่คนอื่นบอก สร้างผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างมาก แน่นอนการเลือกเองของมนุษย์ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า ประเด็นนี้เองที่ผมรู้สึกว่าคือหัวใจของนวนิยายเด็กเรื่องนี้

เชิงอรรถ
1. ชื่อของศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์ ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ UK Edition สะกดว่า Sybill แตกต่างกับฉบับ US Edition ซึ่งสะกดว่า Sibyll
2. สำหรับผมแล้ว จะผูกพันกับเทพีองค์นี้เป็นพิเศษเพราะคำว่า Pallas ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของเทพีมิเนอร์ว่าเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง
1. เจ เค โรว์ลิ่ง, แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่ม 1-7, Bloomsbury & นานมีบุ๊คส์.
2. มาลัย (จุฑารัตน์), ตำนานกรีก-โรมัน ฉบับสมบูรณ์, สำนักพิมพ์พิมพ์คำ, 2548.
3. 
http://www.hp-lexicon.org
4. 
http://en.wikipedia.org




เกร็ดโหรน่ารู้

รัก 7 ปี ดี 7 หน
ลงทุนให้รวยด้วยธาตุสี่
ต้อนรับวันศารทวิษุวัต 22 ก.ย.55 article
ปฏิทิน 24 ฤดูกาลของจีนกับจักรราศีตะวันตก
โหราศาสตร์ใน The Lost Symbol ตอน 1
มารู้จักวันพาย (Pi Day) กันเถอะ article
แวดวงโหราโลก ฉบับที่ 1/2551 article
ใครคือ ด็อกเตอร์ดี ในภาพยนตร์เรื่อง Elizabeth: The Golden Age article
แวดวงโหราโลก ฉบับที่ 1/2550 article
โหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอน 1 article
โหราศาสตร์กับเพลงคลาสสิค article
อัญมณีกับสิบสองราศี article
เลือกซื้อของขวัญให้ถูกใจแต่ละราศี article
ธาตุทั้งสี่กับการบริหารจัดการ article
ชนะใจคนรัก 12 ราศี article
6 ขั้นตอนเพื่อการ ดูดวง อย่างคุ้มค่า article
จักรราศี กับ พฤติกรรมการช้อปปิ้ง article



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
eXTReMe Tracker