ReadyPlanet.com
dot
dot dot
dot
เกี่ยวกับเรา Horauranian.com
dot
bulletรำลึกถึง อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์
bulletเจตนารมณ์
bulletติดต่อเรา
bulletโหราพยากรณ์
dot
บทความ
dot
bulletเกร็ดโหรน่ารู้
bulletเจาะลึกโหรา
bulletโหราศาสตร์บ้านเมือง
bulletBlog อ.วิโรจน์
bulletแนะนำตำรา
bulletไพ่ยิปซี จักรราศี (Celestial Tarot)
bulletกระดานถามตอบ
bulletคลังบทความดวงเมืองเศรษฐกิจ 2550-2552
bulletคลังกระทู้โหราศาสตร์ที่น่าสนใจ
dot
บทความน่าสนใจ
dot
bulletประเทศไทยหลังคดียึดทรัพย์ 2553
bulletReturn of Great Depression?
bulletChange! ผู้นำยุคใหม่ของโลก
bulletเรือนชะตาจันทร์ 28 เรือน
bulletโหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์
bulletเลือกฤกษ์มงคลด้วยตนเอง
bullet6 ขั้นตอนเพื่อการดูหมออย่างคุ้มค่า
bulletชนะใจคนรัก 12 ราศี
dot
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
dot
bulletเพจ โหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดย อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย
bulletCelestial Strategist Blog
bulletBlog โหราเศรษฐกิจ
bulletเว็บไซต์ที่น่าสนใจ




ใครคือ ด็อกเตอร์ดี ในภาพยนตร์เรื่อง Elizabeth: The Golden Age article

โดย Pallas
กุมภาพันธ์ 2550

          วันก่อน ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Elizabeth: the Golden Age ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (ค.ศ. 1533-1603) เป็นภาคต่อจากภาพยนตร์เรื่อง Elizabeth ที่ออกฉายเมื่อหลายปีก่อนและกวาดรางวัลไปมากมาย ภาคแรกนั้นจะเน้นเหตุการณ์ช่วงที่พระองค์กำลังขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ขณะทรงมีพระชนมายุ 26 ปี ทรงเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทั้งเรื่องศาสนา การเมืองภายในประเทศ รวมถึงการแทรกแซงจากต่างประเทศ เรื่องราวจบลงเมื่อถึงตอนที่พระองค์ดูเหมือนจะสถาปนาอำนาจอย่างมั่นคง สำหรับภาคใหม่นี้เป็นเหตุการณ์ภายหลังจากที่ทรงครองราชย์มาเป็นเวลา 28-29 ปี ว่ากันว่าเป็นยุคทอง (Golden Age) ยุคหนึ่งของอังกฤษเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะสงบสุขนั้น อังกฤษก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจากมหาอำนาจทางทะเลในยุคนั้นอย่างสเปน ท่ามกลางภาวะตึงเครียดดังกล่าว พระราชินีได้ปรึกษาขอความเห็นจากขุนนางและที่ปรึกษาทั้งหลาย เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในบรรดาที่ปรึกษาที่พระราชินีทรงสอบถามนั้น มีอยู่คนหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจและนำมาเล่าสู่กันฟังในเว็บไซต์ Horauranian นี้ เพราะตัวละครนั้นคือ ด็อกเตอร์ดี (Dr. Dee) โหรประจำพระองค์ของพระราชินี ซึ่งเป็นคนๆเดียวกับนักโหราศาสตร์ที่ผมเขียนถึงในบทความ “วิวัฒนาการของโหราศาสตร์” ว่า

“โหราศาสตร์ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance Period)
..ในยุคนี้ โหราศาสตร์ได้พัฒนาไปสู่ความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และเป็นที่แพร่หลายในหมู่กษัตริย์และผู้นำทางศาสนา จอห์น ดี (John Dee) ได้วางฤกษ์วันพระราชพิธีราชาภิเษกของพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ โดยวางให้อาทิตย์ ศุกร์ และพฤหัส ทำมุมดีต่อดาวกำเนิดของพระองค์ ส่งผลให้พระราชินีทรงครองราชย์ยาวนานถึง 44 ปี..”

          ด็อกเตอร์ดี มีชื่อเต็มว่า John Dee เกิดเมื่อ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1527 เกิดในตระกูลขุนนางเก่าเชื้อสายเวลส์ ทำให้ท่านได้รับการศึกษาอย่างดี โดยเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิคเชล์มฟอร์ด (Chelmsford Catholic School) จากนั้นเมื่ออายุ 15 ปีได้เข้าศึกษาต่อด้านคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ที่วิทยาลัยเซนต์จอห์น (St. John’s College) ในเคมบริดจ์ จนได้รับปริญญาตรีเมื่อปี 1545 และปริญญาโทเมื่อปี 1548 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชของกรุงศรีอยุธยา ยุคนั้นในยุโรปมีการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ทำให้การสั่งสมและกระจายความรู้ของชาวยุโรปก้าวไกลไปกว่าบ้านเรามาก) หลังจากจบการศึกษา จอห์น ดี ได้ท่องเที่ยวไปในยุโรป พบปะกับนักปราชญ์ในประเทศต่างๆ ทั้งนักคณิตศาสตร์และนักวาดแผนที่ (Cartographer) ไม่ว่าจะเป็น Pedro Nuñez, Gemma Frisius, Abraham Ortelius และ Gerardus Mercator ต่อมา จอห์น ดี ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาคณิตศาสตร์ (เรขาคณิตยูคลิด) ในมหาวิทยาลัยปารีสเมื่อปี 1551 และตำแหน่งเดียวกันในมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดในปี 1554 ว่ากันว่ายุคนั้นเขาเป็นศาสตราจารย์ระดับซุปเปอร์สตาร์ที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักศึกษามาฟังการบรรยายของเขาได้มาก เพราะว่าเป็นศาสตราจารย์อัจฉริยะที่หนุ่มมาก อายุเพียง 24 ปีเท่านั้น (จะบอกว่าเป็นคนหน้าตาดี ผมก็ไม่แน่ใจ โดยเฉพาะเมื่อดูจากในภาพยนตร์) 

          เมื่อกลับมายังประเทศอังกฤษ จอห์น ดีได้ทำงานในราชสำนัก โดยสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้กับข้าราชสำนักและนักเดินเรือทั้งหลาย (รวมไปถึง Sir Walter Raleigh ตัวเอกในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่นำแสดงโดย ไคลฟ์ โอเวน ด้วย) นอกจากนี้เขายังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและนักโหราศาสตร์ให้กับพระราชินีแมรี่ที่ 1 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม หน้าที่อย่างหลังกลับทำให้เขาถูกจับกุมและติดคุกในปี 1555 ในข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อพระราชินีแมรี่ที่ 1 จากการผูกดวงชะตาของพระราชินีและเจ้าหญิงอลิซาเบธ แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

          ในปี 1558 (ขณะนั้น จอห์น ดี อายุเพียง 31 ปีเท่านั้น) พระราชินีอลิซาเบธได้ขึ้นครองราชย์ จอห์น ดีได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญคือ การวางฤกษ์พระราชพิธีราชาภิเษกของพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 โดยจอห์น ดีได้วางฤกษ์เป็นวันที่ 15 มกราคม 1559 ว่ากันว่าดวงฤกษ์พระราชพิธีนี้เป็นฤกษ์ชั้นยอดเพราะพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 44 ปีนำพาประเทศอังกฤษเข้าสู่ความเป็นมหาอำนาจทางทะเลในยุคนั้น

          ระหว่างนั้น จอห์น ดีได้รับใช้พระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ในฐานะที่ปรึกษาทางโหราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ จนกลางทศวรรษ 1560 จอห์น ดีได้สร้างห้องทดลองและห้องสมุดเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ ที่บ้านของเขา Mortlake ซึ่งใกล้กับลอนดอน ที่นั่นมีตำรากว่า 4,000 เล่ม และเปิดให้นักศึกษาและนักปราชญ์ทั้งหลายเข้ามาอ่านได้อย่างเต็มที่ ถือว่าเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อแวดวงวิชาการของประเทศอังกฤษในขณะนั้น

          ในยุคนี้เอง จอห์น ดีมีบทบาทในการวางรากฐานของการเดินทางทางทะเลของอังกฤษ โดยเป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ, การจัดทำแผนที่ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการเดินเรือ ในปี 1577 จอห์น ดีได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “General and Rare Memorials pertayning to the Perfect Arte of Navigation” ซึ่งเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของเขาที่มุ่งหวังให้ราชวงศ์ทิวดอร์แห่งอังกฤษได้แผ่ขยายแสนยานุภาพทางทะเล เพื่อสร้างโลกใหม่ อันครอบคลุมไปถึงดินแดนในทวีปอเมริกาด้วย ด้วยผลงานชิ้นนี้และความพยายามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในเวลาต่อมาของจอห์น ดี ทำให้ถือกันว่า เขาคือผู้ริเริ่มการใช้คำว่า อาณาจักรบริติช (British Empire) เป็นคนแรก

          ในปี 1582 สำนักวาติกันซึ่งเป็นศูนย์กลางศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก นำโดยพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 13 (Pope Gregory XIII) ได้ประกาศเปลี่ยนระบบปฏิทินจากระบบจูเลียน เป็นระบบเกรกอเรียน เพื่อทำให้ระบบปฏิทินสอดคล้องกับฤดูกาลมากขึ้น (เพื่อให้วันที่ 21 มีนาคมตรงกับวันวสันตวิษุวัตหรือวันที่ดวงอาทิตย์โคจรตัดกับเส้นศูนย์สูตรฟ้า) จอห์น ดี ซึ่งเป็นนักปราชญ์ได้เล็งเห็นข้อดีของระบบปฏิทินดังกล่าว จึงได้สนับสนุนให้อังกฤษเปลี่ยนแปลงระบบปฏิทินมาเป็นปฏิทินเกรโกเรียน (Gregorian calendar) แต่ด้วยความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างนิกายอังกลิกัน (Anglican Church) กับวาติกันหรือนิกายโรมันคาทอลิกในขณะนั้น ทำให้อังกฤษปฏิเสธนวัตกรรมที่มาจากพระสันตปาปาอย่างสิ้นเชิง กว่าอังกฤษจะเปลี่ยนระบบปฏิทินมาเป็นระบบเกรโกเรียนเช่นทุกวันนี้ก็ต้องรอถึง ค.ศ. 1752 หรืออีก 170 ปีเลยทีเดียว

          ความเป็นนักปราชญ์ของจอห์น ดี ไม่ได้จำเพาะเจาะจงอยู่เพียงแค่คณิตศาสตร์, การเดินเรือ, การทำแผนที่ และโหราศาสตร์เพียงเท่านั้น จอห์น ดียังได้ศึกษาค้นคว้าปรัชญาของธรรมชาติเพื่อไขปริศนาความลับแห่งจักรวาลเช่นเดียวกับนักปราชญ์แต่โบราณ ทำให้ผลงานต่อมาของเขาจึงได้รับอิทธิพลของปรัชญาสำนักเฮอร์เมติค (Hermeticism) อย่างชัดเจน

          สำนักเฮอร์เมติคเป็นสำนักปรัชญาที่มีรากฐานแนวคิดจากท่านเฮอร์เมส ทริสเมจิตุส โหราจารย์ชาวอียิปต์ (อ่านรายละเอียดได้ในบทความเรื่อง “จารึกมรกต: ที่มาของ ปรัชญามูลฐาน แห่ง โหราศาสตร์”) โดยปรัชญาสำคัญของสำนักนี้ก็คือ “As Above, So Below” หรือ “สิ่งที่อยู่เบื้องล่างย่อมเหมือนสิ่งที่อยู่เบื้องบน” นั่นเอง องค์ความรู้ที่เป็นรากฐานของสำนักนี้ประกอบด้วย 3 สาขา ได้แก่ การเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemy), โหราศาสตร์ (Astrology) และเวทมนตร์ (Theurgy) เป้าหมายของสำนักนี้คือการเข้าใจความจริงแท้ของธรรมชาติ

          เชื่อกันว่า จอห์น ดี เป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มโรซิคลูเซียน (Rosicrucian) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปรัชญาสำนักเฮอร์เมติคเป็นรากฐาน และมีความต่อเนื่องของขบวนการจนถึงยุคปัจจุบัน ผมเองได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โรซิคลูเซียนในเมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกุมภาพันธ์ 2550 และได้เขียนไว้ในกระทู้เรื่อง “จารึกดวงดาวสมัยบาบิโลน”

          หลังจากพยายามที่จะเข้าใจความจริงแท้ของธรรมชาติโดยอาศัยศาสตร์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์, โหราศาสตร์ หรือศาสตร์อื่นๆ แต่จอห์น ดีก็ยังไม่ประสบความสำเร็จดังที่เขาคาดหวัง ทำให้จอห์น ดีในวัยกว่า 60 ปี จึงได้หันมาทดลองใช้แนวทางพลังเหนือธรรมชาติในการหาคำตอบที่เขาต้องการ ซึ่งได้แก่การติดต่อกับเทพเจ้า โดยเริ่มจากการติดต่อผ่านลูกแก้ว (Crystal) และต่อมาเขาได้พบกับ เอ็ดเวิร์ด เคลลี (Edward Kelley) ร่างทรงจอมปลอม ซึ่งล่อลวงจอห์น ดี จนเกิดความประทับใจในความสามารถในการติดต่อกับเทพเจ้าของเขา ทั้งสองคนได้ร่วมงานกันและออกตระเวณไปทั่วทวีปยุโรประหว่างปี 1583-1589 เคลลีผู้นี้เองที่อ้างว่าได้ครอบครองศิลาอาถรรพ์ (Philosopher’s Stone) ที่ว่ากันว่าสามาถเสกตะกั่วให้เป็นทองคำได้ และยังเชื่อกันอีกว่าทำให้ผู้ครอบครองเป็นอมตะ อันเป็นที่มาของเรื่องราวในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ นวนิยายเด็กชื่อดังนั่นเอง

          ความสัมพันธ์ระหว่างเคลลีกับจอห์น ดี ก็สิ้นสุดลงเมื่อเคลลีอ้างว่า เทพยูเรียล (Uriel Angel) ได้สั่งให้เขาทั้งสองแบ่งปันภรรยาคนเดียวกัน (จอห์น ดีได้แต่งงานกับภรรยาคนที่สองในปี 1578 หลังจากที่ภรรยาคนแรกของเขาเสียชีวิตลง โดยภรรยาคนที่สองนี้มีอายุเพียง 23 ปีขณะที่แต่งงานกับจอห์น ดี) เมื่อจอห์น ดี ย้ายครอบครัวกลับมาสู่ประเทศอังกฤษ ในปี 1589 เขาก็พบว่า บ้านของเขาที่ Mortlake ได้ถูกฝูงชนที่เกรงกลัวต่อเรื่องราวการเรียกวิญญาณจากความตายของเขา เข้ามาทำลายและลักขโมยของไปจำนวนมาก ทำให้จอห์น ดี ตกอยู่ในฐานะยากจน อย่างไรก็ตาม พระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ยังคงเมตตาเขาและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารของวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (Warden of Manchester College) ในปี 1596 ทำให้เขามีรายได้พอเลี้ยงตัวอยู่บ้าง ต่อมา ในปี 1605 เขาก็ได้ย้ายจากเมืองแมนเชสเตอร์กลับมาพำนักที่บ้าน Mortlake ของเขาอีกครั้ง และเสียชีวิตราวปี 1608 ด้วยความว้าเหว่และยากจน

          ในภาพยนตร์เรื่อง Elizabeth: The Golden Age นั้นอยู่ในช่วงที่สเปนได้ส่งกองทัพเรือที่ว่ากันว่าทรงแสนยานุภาพที่สุดในโลกมารุกรานอังกฤษ พระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ต้องเผชิญกับศึกครั้งใหญ่หลวงที่สุดในชีวิตของพระองค์ ตามประวัติศาสตร์แล้ว เหตุการณ์สมรภูมิครั้งนั้นเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 1588 ถ้าเหตุการณ์เป็นไปตามภาพยนตร์แล้ว แสดงว่า จอห์น ดีจะต้องกลับมาจากยุโรปในปี 1588 ซึ่งขัดแย้งกับประวัติของจอห์น ดีที่ผมค้นคว้ามา อย่างไรก็ตาม มีตำนานบางตำนานเชื่อกันว่า จอห์น ดีเป็นผู้เสกเวทมนตร์สร้างสภาพอากาศที่เลวร้ายทำให้กองทัพเรืออังกฤษสามารถทำลายกองทัพเรือสเปนครั้งนั้นลงได้ ซึ่งออกจะดูเป็นผู้วิเศษเกินไป

          แม้ว่าบั้นปลายชีวิตของจอห์น ดีจะดูหดหู่ไปบ้างจากการที่เขาลุ่มหลงในการค้นคว้าความจริงของธรรมชาติจนตกเป็นเหยื่อของนักต้มตุ๋น อย่างไรก็ดี บุคลิกของจอห์น ดี ที่สร้างความประทับใจให้กับนักประพันธ์ในแง่ที่เป็นบุคลิกของผู้ทรงภูมิความรู้และผู้วิเศษ ทำให้เชกสเปียร์ได้นำบุคลิกของเขามาใส่ไว้ในตัวละครชื่อ Prospero ในเรื่อง The Tempest ในปี 1611 ตามมาด้วยวรรณกรรมไม่น้อยกว่า 15 เรื่อง และยังเชื่อกันอีกว่า รูปลักษณ์ภายนอกของศาสตราจารย์อัลบัส ดับเบิลดอร์ ในนวนิยายเด็กเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็มาจากลักษณะของจอห์น ดีเช่นกัน

          การศึกษาประวัติของนักโหราศาสตร์อย่าง จอห์น ดี ทำให้ผมได้ข้อคิดอยู่หลายประการ ประการแรก นักโหราศาสตร์ที่ดีจะต้องมีความรู้ในศาสตร์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานของโหราศาสตร์ มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจถึงแก่นของโหราศาสตร์เลย ประการต่อมา การลุ่มหลงต่อศาสตร์เร้นลับในบั้นปลายชีวิตของจอห์น ดี ก็เป็นข้อเตือนใจให้คนเราอย่าตกอยู่ในอำนาจการครอบงำจากเรื่องราวเร้นลับเหนือธรรมชาติจนเป็นเหยื่อของคนเลว ผมคิดว่าเราต้องยึดคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้คนเราต้องมีปัญญากำกับศรัทธาเสมอ ศรัทธาเป็นเหมือนกำลังที่จะผลักดันให้เรามุ่งหน้าไปสู่เป้าหมาย ส่วนปัญญาก็เหมือนหางเสือที่คอยนำทางให้ไปสู่จุดหมาย โดยไม่หลงทิศทางไปเสียก่อน ศรัทธาที่ปราศจากปัญญาก็จะพาหลงทิศหลงทางจนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ อย่างไรก็ตาม ปัญญาที่ขาดศรัทธาย่อมไม่มีกำลังจะมุ่งหน้าไปสู่จุดหมาย และประการสุดท้าย คำพยากรณ์ของนักโหราศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นคำพยากรณ์ที่บอกผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่ควรจะบอกแนวทางการแก้ปัญหาหรือการดำเนินชีวิตต่อไปมากกว่า เพราะชีวิตคนเราไม่ได้ถูกลิขิตไว้อย่างแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่คนเรายังสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ภายใต้กรอบกว้างๆ ด้วยการกระทำในปัจจุบันของเรา หรือที่ผมใช้คำว่า “กรรมลิขิต” นั่นเอง เหมือนกับในภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อพระราชินีอลิซาเบธได้ฟังคำพยากรณ์จากจอห์น ดี ว่า “วันแห่งความยุ่งยากกำลังคืบคลานเข้ามา ความรุ่งเรืองของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่กำลังเริ่มขึ้น ทำให้อีกอาณาจักรจะล่มสลาย” พระองค์ทรงถามจอห์น ดี ว่า “คุณจะทำอย่างไรเมื่อคุณกำลังเผชิญหน้ากับความตาย” จอห์น ดีตอบว่า “คนบางคนตัวสั่นงันงกด้วยความหวาดกลัว แต่บางคนจะกางปีกเผชิญหน้าลอยขึ้นกลางฟ้าเช่นเดียวกับพญาอินทรี” คำถามของผมก็คือ ท่านจะเลือกเส้นทางใด?

หมายเหตุสำหรับนักโหราศาสตร์
การวิเคราะห์ฤกษ์พระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 1
 
 
          เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับนักโหราศาสตร์ที่สนใจศึกษาดวงฤกษ์ที่จอห์น ดีได้วางไว้ ผมขอนำข้อมูลดวงชะตากำเนิดของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 และดวงฤกษ์พระราชพิธีราชาภิเษกมาลงประกอบบทความนี้ด้วย โดยภาพดวงชะตานั้นเป็นการใช้เรือนชะตาแบบ Regiomontanus ซึ่งเป็นเรือนชะตาที่ได้รับความนิยมในยุคนั้น ซึ่งแตกต่างจากเรือนชะตาเมอริเดียนหรือเรือนชะตาแบบเรือนเท่าที่นักโหราศาสตร์ยูเรเนียนนิยมใช้กัน โดยรูปดวงชะตาแบบนี้จะแสดงลัคนาและเมอริเดียนของดวงกำเนิด (ดวงวงใน) อยู่ที่เส้นแบ่งเรือนที่ 1 และเรือนที่ 10 ตามลำดับ (ลัคนากำเนิด 29 ธนู 24 และเมอริเดียนกำเนิด 4 พิจิก 44) นอกจากนี้การพิจารณาว่า จอห์น ดี วางฤกษ์ด้วยวิธีใดนั้น ต้องระลึกไว้ก่อนว่า ในยุคนั้น ดาวมฤตยู เนปจูน และพลูโต ตลอดจนดาวทิพย์ ยังไม่ได้รับการค้นพบ จึงไม่น่าจะอยู่ในข้อพิจารณาของจอห์น ดี นอกจากนี้ มุมสัมพันธ์และระยะวังกะที่ผมใช้ในการสร้าง Aspectarian Grid นั้น มาจากคำแนะนำของ Robert Hand ซึ่งมีพื้นฐานจากโหราศาสตร์คลาสสิคและให้ระยะวังกะกว้างกว่าสำนักยูเรเนียนในไทย แต่แคบกว่าที่นักโหราศาสตร์คลาสสิคใช้กัน

          ในการวางฤกษ์ นักโหราศาสตร์มีข้อจำกัดอยู่มากมาย หลักการใหญ่ที่ผมเชื่อว่า ดร.ดี ใช้ก็คือ เริ่มจากการเลือกวันพระราชพิธีที่ส่งผลดีต่อดวงกำเนิดของพระราชินี นั่นคือ การเลือกอาทิตย์จร จากตารางแสดงความสัมพันธ์ของปัจจัยระหว่างดวงกำเนิดและดวงฤกษ์พระราชพิธีราชาภิเษกของพระองค์ จะเห็นว่า อาทิตย์จรในวันพิธีทำมุมตรีโกณ (120 องศา) กับศุกร์กำเนิด, 45 องศากับพฤหัสกำเนิด และมุมฉาก (90 องศา) กับเมอริเดียนกำเนิด ซึ่งก็หมายถึง วันที่มีความสุข ประสบความสำเร็จ ของประมุขประเทศ ตรงนี้มีข้อสังเกตอยู่ว่า การให้อาทิตย์จรทำมุมฉากหรือมุม 45 องศากับปัจจัยกำเนิดนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกสำหรับยุคสมัยนั้นที่ถือว่ามุมทั้งสองเป็นมุมให้โทษ แต่ถ้ามองในมุมของสำนักยูเรเนียนก็จะถือว่าเป็นมุมที่ให้ผลแรง และให้คุณเพราะความหมายของปัจจัยที่สัมพันธ์กันเป็นเรื่องที่ดีกับฤกษ์

          จากการกำหนดวันฤกษ์ตามนั้น เมื่อพิจารณาดาวศุภเคราะห์ก็จะพบว่า ศุกร์จรทำมุมตรีโกณถึงอาทิตย์กำเนิด และเล็งกับเสาร์กำเนิด ดาวเจ้าเรือนที่ 1 ของพระองค์ ขณะเดียวกัน พฤหัสจร ทำมุมโยค (60 องศา) ถึงพฤหัสกำเนิด ตรีโกณถึงพุธกำเนิด และ 135 องศากับศุกร์กำเนิด (ผมคิดว่า พฤหัสจรคงไม่ได้เป็นประเด็นหลักในการวางฤกษ์ เพราะเป็นดาวโคจรช้า แต่คงเป็นเรื่องของโชคชะตาพระราชินีเองมากกว่าที่ทำให้ได้รับผลดีจากปัจจัยบนฟ้าในวันที่พระองค์ขึ้นครองราชย์)

          หลังจากกำหนดวันฤกษ์แล้ว ขั้นต่อไป นักโหราศาสตร์ก็จะระบุตำแหน่งจันทร์จรซึ่งให้ความหมายระดับชั่วโมง จันทร์จรในฤกษ์นี้ ทำมุมตรีโกณกับพฤหัสกำเนิด ซึ่งหมายถึงชั่วโมงที่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะทำมุมฉากอยู่กับเสาร์กำเนิด (ระยะวังกะเกือบ 4 องศา) แต่เสาร์กำเนิดก็เป็นดาวเจ้าเรือนที่ 1 ของดาวกำเนิด (ลัคนาเดิมอยู่ 29 ธนู 24 ซึ่งสามารถปัดไปอยู่ราศีมกรได้) จึงไม่น่าจะส่งผลร้ายอะไรมากนัก

          เพื่อให้ฤกษ์นี้เหมาะสมกับระดับพระมหากษัตริย์ เวลาฤกษ์จึงวางไว้ตอนเที่ยงตรง ซึ่งจะทำให้เมอริเดียนขณะนั้นกุมอยู่กับอาทิตย์จร ในทางกลับกัน ก็แปลว่า อาทิตย์อยู่เรือนที่ 10 ของดวงฤกษ์ ซึ่งหมายถึงกษัตริย์ที่อยู่ ณ จุดจอมฟ้าหรือสถานะสูงสุดนั่นเอง

          เมื่อพิจารณาเฉพาะดวงฤกษ์ ก็พบว่าลัคนาอยู่ 5 มิถุน 03 ดาวเจ้าเรือนที่ 1 ก็คือดาวพุธสถิตในเรือนที่ 10 ร่วมกับอาทิตย์ (ดาวแห่งกษัตริย์) และพฤหัส (ประธานดาวศุภเคราะห์) ส่วนจันทร์ แม้จะอยู่เรือนที่ 12 แต่ก็ทำมุมโยคกับพฤหัสเช่นกัน

          อย่างไรก็ตาม หากเราเพิ่มดาวมฤตยูเข้าไป ก็พบว่า อังคารจรกุมอยู่กับมฤตยูจรพอดี และเล็งกับเสาร์จร เมื่อมาดูความสัมพันธ์กับดวงกำเนิดก็จะพบว่า เท่ากับ ลัคนากำเนิดพอดี เขียนเป็นสมการดาวได้ว่า Ma (t) /Sa (t) = Ur (t) = As (r) สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพระองค์นั่นคือ พระราชินีแมรี ที่ 1 ผู้เป็นพี่สาวต่างมารดาของพระนางถึงแก่กรรมอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้พระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ได้ขึ้นครองราชย์ต่อนั่นเอง 

          การศึกษาดวงชะตาทั้งสองดวงยังสามารถลงลึกได้อีกมาก นักโหราศาสตร์ท่านใดสนใจ ก็สามารถวิเคราะห์เจาะลึกเพิ่มเติมได้อีก และหากต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ ขอเชิญแสดงความเห็นได้ในเว็บบอร์ด เชื่อว่ามีนักโหราศาสตร์อีกหลายท่านที่อยากจะร่วมแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความรู้เพิ่มเติมเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง
1. 
http://en.wikipedia.org/wiki/Main_Page
2. http://www.tudorplace.com.ar
3. 
http://www.johndee.org  
4. Pallas, “วิวัฒนาการของโหราศาสตร์”,
www.horauranian.com, 2550.
5. Pallas, “จารึกดวงดาวสมัยบาบิโลน”,
www.horauranian.com, 2550.




เกร็ดโหรน่ารู้

รัก 7 ปี ดี 7 หน
ลงทุนให้รวยด้วยธาตุสี่
ต้อนรับวันศารทวิษุวัต 22 ก.ย.55 article
ปฏิทิน 24 ฤดูกาลของจีนกับจักรราศีตะวันตก
โหราศาสตร์ใน The Lost Symbol ตอน 1
มารู้จักวันพาย (Pi Day) กันเถอะ article
แวดวงโหราโลก ฉบับที่ 1/2551 article
โหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอน 2 article
แวดวงโหราโลก ฉบับที่ 1/2550 article
โหราศาสตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอน 1 article
โหราศาสตร์กับเพลงคลาสสิค article
อัญมณีกับสิบสองราศี article
เลือกซื้อของขวัญให้ถูกใจแต่ละราศี article
ธาตุทั้งสี่กับการบริหารจัดการ article
ชนะใจคนรัก 12 ราศี article
6 ขั้นตอนเพื่อการ ดูดวง อย่างคุ้มค่า article
จักรราศี กับ พฤติกรรมการช้อปปิ้ง article



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
eXTReMe Tracker